การแทรกแซงค่าเงินบาท | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงรู้สึกว่า ได้รับผลกระทบในเชิงลบ และผู้ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวจึงเรียกร้องให้จัดการกับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างทันท่วงที

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกแถลงการณ์ อธิบายการแข็งค่าของเงินบาท และในวรรคสุดท้ายระบุว่า “ทั้งนี้ ธปท.ติดตามสถานการณ์ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหว “ผันผวนมากผิดปกติ” เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง”

คงมีคำถามว่าการ “เข้าดูแล” แปลว่าอะไร และความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ “ผันผวนมากผิดปกติ” นั้น นิยามในภาคปฏิบัติมีความหมายว่าอะไร

เช่นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ามาแล้วประมาณ 10% แต่ ธปท.แถลงว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 3.8% วัดจากต้นปี ดังนั้น ธปท.จึงอาจมองว่า การที่เงินบาท “ผันผวน” (แข็งค่า) เพียง 3.8% นั้นไม่ได้ “มากผิดปกติ” เป็นต้น

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงไม่ระบุให้ชัดเจนว่า ธปท.จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อทำให้เงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมตามที่ผู้ส่งออกเรียกร้อง เช่น ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากลับไปที่ 36.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คือเฉลี่ยค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

คำตอบคือ การเข้าไปควบคุมค่าเงินบาทเอาไว้ที่อัตราแลกเปลี่ยนระดับใดระดับหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย

ในเบื้องต้น เราสามารถเข้าใจใด้ว่า ในการเข้าไปแทรกแซงทำให้เงินบาทอ่อนค่านั้น ธปท.จะต้องพิมพ์เงินบาทออกมาใหม่ แล้วนำไปแลกเงินดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา การกระทำดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินบาท และลดปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบการเงิน

ซึ่งตามหลักการนั้น สินค้า (หรือเงินตรา) อะไรก็ตามที่ปริมาณในตลาดลดลง (มีความขาดแคลนมากขึ้น) ราคาก็จะต้องเพิ่มขึ้น และอะไรก็ตามที่ปริมาณในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาก็จะต้องลดลง

ดังนั้น เมื่อ ธปท.เพิ่มปริมาณบาทและลดปริมาณดอลลาร์ เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงและเงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้น

การปฏิบัติการดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์และมีประสิทธิผลในการทำให้เงินบาทอ่อนค่า นอกจากนั้น การพิมพ์เงินบาทออกมามากขึ้น ก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากนัก และการมีทุนสำรองระหว่างประเทศ (เงินดอลลาร์) เพิ่มขึ้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีข้อเสียหายอะไร เพราะ ธปท.ก็มักจะนำเอาการมีทุนสำรองเป็นจำนวนมาก มาอ้างว่าเป็นจุดแข็งของระบบการเงินและเศรษฐกิจของไทย

แต่ความจริงทั้งหมดมีมากกว่านั้นมาก ข้อสรุปคือ การแทรกแซงค่าเงินบาทดังที่กล่าวข้างต้นนั้น มักจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คืออาจกระทบอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวนั้น เงินบาทคงจะแข็งค่าต่อไปได้อีก หากจุดยืนของนโยบายการเงินยังจะคงสถานะเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? การพิมพ์เงินบาทเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าดังที่กล่าวข้างต้นนั้น จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกที่กล่าวไปแล้ว ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ กับอีกส่วนหนึ่งคือ การที่ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น

ซึ่งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนี้ จะกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดต้องลดลง (“ราคา” ของเงินต้องลดลง เพราะปริมาณเพิ่มขึ้น) แต่ดอกเบี้ยจะลดลงไม่ได้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ตายตัวที่ 2.5% ต่อปี

แปลว่า เมื่อปริมาณเงินบาทในระบบที่เพิ่มขึ้น เริ่มกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดต้องลดลง ธปท.ก็จะต้องลดปริมาณเงินในระบบลง เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยปรับลดลงต่ำกว่า 2.5% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.กำหนดเอาไว้

กลไกที่จะลดปริมาณเงินบาทในระบบคือ ธปท.จะขายพันธบัตร ธปท. เข้ามาในระบบเพื่อดูดซับปริมาณเงินบาทส่วนเกินออกมาจากระบบ เพียงพอที่จะทำให้สามารถตรึงดอกเบี้ยเอาใว้ที่ 2.5%.

เราจะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวคือ การทำให้ปริมาณเงินบาทในระบบลดลงเหลือเท่ากับปริมาณก่อนการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท (โดยประมาณ) ประเด็นคือ ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้การแทรกแซงเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าไม่ประสบผลสำเร็จคือ ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่สูง

เพราะจะทำให้ธปท.ไม่สามารถเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบใด้อย่างถาวร เพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างถาวรได้ ในทางตรงกันข้าม การขายพันธบัตรดังกล่าว ซึ่งจะลดปริมาณเงินบาทในระบบ ก็จะค่อยๆ ทำให้เงินบาทกลับไปแข็งค่าขึ้นเช่นเดิม

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือ งบดุลของ ธปท.ที่จะมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นและจะมีหนี้สินที่เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากแทรกแซงบ่อยๆ ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้น และหนี้สินที่เป็นเงินบาทของ ธปท.ก็จะเพิ่มขึ้นพร้อมกันไปด้วย

ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก เพราะสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ก็จะทำให้ ธปท.ประสบกับการขาดทุนทางบัญชี จากการเข้าไปแทรกแซงดังกล่าว เพราะ ธปท.จะซื้อสินทรัพย์ที่เสื่อมค่า (เงินดอลลาร์) พร้อมกับการเป็นหนี้ในสกุลเงิน (บาท) ที่แข็งค่าขึ้น

สิ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วงใน 2 ปีข้างหน้าคือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ มีแนวโน้มว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา 0.50% นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีกประมาณ 0.5% ในปีนี้ อีก 1.0% ในปีหน้า และอีก 1.0% ในปี 2026

แปลว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินดอลลาร์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อลดดอกเบี้ย อันจะทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไม ธปท.จึงไม่ได้ออกมาพูดให้ชัดเจนว่าการ “เข้าดูแล” ค่าเงินบาทนั้น มีรายละเอียดและเป้าหมายอะไรบ้าง.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'อิสราเอล' ปฏิเสธ รถถังโจมตีฐานทัพ UN ในเลบานอน ชี้ 'แค่ขนทหารบาดเจ็บ'

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในเลบานอน (United Nations Interim Force in Lebanon: UNIFIL) รายง...

เปิดสมรรถนะจีน ‘ไม่ใช่แค่ซ้อมแต่พร้อมรบ’

ร้อยเอกหลี่ซี่ โฆษกกองบัญชาการภาคตะวันออก กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) เผยว่า การซ้อมรบ Joint Sw...

‘สหรัฐ’ เตรียมส่งทหารไป 'อิสราเอล' พร้อมระบบสกัดกั้นขีปนาวุธขั้นสูง

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เผยเมื่อวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ว่า การส่งทหารไปอิสราเอล พร้อมกับระบบต่อต้าน...

วันเดียวจบ! จีนซ้อมรบเตือนไต้หวันห้ามแบ่งแยกดินแดน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน รัฐบาลปักกิ่งประกาศเมื่อราว 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น 13 ชั่วโมงหลังเริ่มซ้อมรบ...