‘Mo-Mo-Paradise’ ลุ้นสิ้นปี แตะ ‘2 พันล้าน’ อยากไปต่างจังหวัด แต่ยังสร้างคนไม่ทัน

ในขณะที่ร้านสุกี้ชาบูเจ้าอื่นๆ แข่งขันกันด้วยราคาและของสดที่หลากหลาย “Mo-Mo-Paradise” (โม โม พาราไดซ์) กลับยืนกรานที่จะขายของคุณภาพด้วยตัวเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด 16 ปี กับอีก 30 สาขา เป็นการเดินทางที่ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง ไม่หวือหวา ไม่เร่งรีบ เพราะจนถึงขณะนี้ ร้านยังคงมีสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก กับสาขาชลบุรีอีกเพียง 1 แห่งเท่านั้น

“สุรเวช เตลาน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด และผู้ก่อตั้งร้าน “Mo-Mo-Paradise” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้เป็นช่วงโควิด-19 ที่ต้องปิดหน้าร้านไปชั่วคราว แต่เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้งลูกค้าก็ยังคงให้การตอบรับที่ดีเช่นเดิม สะท้อนจากผลประกอบการระหว่างปี 2563 ถึง 2565 ที่นอกจากจะไม่ติดลบแล้ว กำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย และหากดูตัวเลขย้อนหลังไปอีก 10 ปี “โนเบิล เรสเตอท์รองต์” ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะปี 2565 และ 2566 ที่โตทะลุ “พันล้าน” ไปเรียบร้อยแล้ว

เคล็ดลับความสำเร็จของร้านสุกี้น้ำดำต้นตำรับจากญี่ปุ่นไม่ได้มีอะไรพลิกแพลงไปมากกว่าการทำทุกวันให้ดีสม่ำเสมอ “สุรเวช” บอกว่า จุดตัดของผู้ประกอบการบางแห่ง คือมักจะตั้งต้นด้วยการหา “ของดีราคาถูก” ตนเชื่อว่า ของดีราคาถูกไม่มีอยู่จริง ของดีราคาเหมาะสมเท่านั้นจึงจะอยู่รอด

สุกี้ชาบูไม่ใช่ของกล้วยๆ ไม่จบแค่หั่นผัก-สไลด์เนื้อ

จากวันแรกที่ “สุรเวช” เดินเข้าไปขอทำสัญญาแฟรนไชส์กับร้าน “Mo-Mo-Paradise” ที่ญี่ปุ่น กระทั่ง “โนเบิล เรสเตอท์รองต์” กลายเป็นแฟรนไชส์ซีเจ้าแรกและเจ้าเดียวในขณะนั้น “สุรเวช” ให้คำมั่นกับเจ้าของร้านว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนรสชาติหรือกรรมวิธีการทำใดๆ ทั้งสิ้น และจะทำให้คนไทยชื่นชอบสุกี้น้ำดำเหมือนอย่างที่เขาประทับใจให้ได้

27 ธันวาคม 2550 ได้ฤกษ์เคาะระฆังเปิดทำการ “Mo-Mo-Paradise” สาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแห่งแรก จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปีเต็มแล้ว “สุรเวช” บอกว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเชนร้านอาหารไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คือความเสถียรเรื่องรสชาติ บางร้านพอมีหลายสาขาก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ ทำให้ลูกค้าผูกติดกับรสชาติของบางสาขา และเลือกที่ไปอุดหนุนสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น แบรนด์จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อลูกค้าได้ ต้องควบคุมมาตรฐานตั้งแต่สาขาแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “Mo-Mo-Paradise” จะมีร้านดั้งเดิมอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้มีแบบแผนมาให้มากขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่า นี่คือการขายแฟรนไชส์ครั้งแรก ระบบต่างๆ จึงเกิดจากการพัฒนาร่วมกัน โดย “สุรเวช” บอกว่า ที่ร้านมีพื้นฐานมาให้ระดับหนึ่ง ส่วนอื่นๆ ต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตนมีไปเข้าคอร์สเรียนหลักสูตรเพิ่มเติม ประกอบกับการปรึกษาจากผู้รู้ และคนในวงการธุรกิจอาหารไปพร้อมๆ กันด้วย

หัวใจสำคัญของร้านสุกี้ชาบู คือของสดคุณภาพดี มองภายนอกแล้ววัตถุดิบที่ต้องตระเตรียมอาจมีแค่การหั่นผัก สไลด์เนื้อ ปรุงน้ำซุป-น้ำจิ้มตามสูตรจากญี่ปุ่นเท่านั้น ทว่า “สุรเวช” ยืนยันถึงความโหดหินของธุรกิจ “Mo-Mo-Paradise” ว่า การหั่นเนื้อไม่ใช่แค่รับวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ แล้วหั่นเสิร์ฟได้ในทันที

-สุรเวช เตลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด และผู้ก่อตั้งร้าน Mo-Mo-Paradise-

เขาอธิบายการทำงานภายหลังร้านให้ฟังว่า กระบวนการสำคัญ คือการจัดเก็บเนื้อด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เมื่อรับเนื้อสดเข้ามาแล้วต้องแช่ด้วยอุณหภูมิหนึ่ง ก่อนจะนำมาขึ้นสไลด์ก็ต้องแช่อีกอุณหภูมิ ขึ้นสไลด์ก็ต้องเป็นอีกอุณหภูมิ สไลด์เสร็จแล้วต้องเก็บไว้ด้วยอุณหภูมิที่ต่างออกไป

โดยคัมภีร์เหล่านี้ถูกบรรจุไว้ใน “SOP” (Standard Operating Procedure) บางอย่างมีมากถึง 10 ขั้นตอน ที่มองเผินๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่า ทำเพียง 3 หรือ 5 ขั้นตอนก็ได้ แต่ “สุรเวช” ยืนยันว่า แม้ผลลัพธ์จะออกมาหน้าตาเหมือนกัน แต่เชื่อเถอะว่า รสชาติ และคุณภาพที่ได้แตกต่างกันโดยรายละเอียดเยอะมาก

ยังไปต่างจังหวัดยาก เพราะติดเรื่องสร้างคนทำงาน 

จาก 30 สาขา ของ “Mo-Mo-Paradise” อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปแล้ว 29 สาขา “สุรเดช” บอกว่า จริงๆ ตนมีแผนอยากไปต่างจังหวัดเพิ่ม ที่ผ่านมาเพิ่งมี “ชลบุรี” เป็นแห่งแรก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ส่วนในกรุงเทพฯ เอง ก็ยังมีห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่งที่ต้องการให้ร้านไปเปิดเช่นกัน

แต่ข้อจำกัดตอนนี้ คือการสร้างทีมที่แข็งแรงพอจะติดปีกได้ “สุรเดช” ยอมรับว่า การสร้างคนทำงานระดับผู้จัดการร้านใช้เวลาค่อนข้างมาก อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสานหลายแห่งก็มีเสียงเรียงกร้องให้ร้านไปเปิดอยู่เรื่อยๆ สำหรับตนแล้ว อยากไปเมื่อทีมงานพร้อมจริงๆ

โดยระบุว่า “Key Success” ของ “Mo-Mo-Paradise” คือเรื่องคน เฉพาะตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัดก็ใช้เวลาเทรนราวๆ 3 ถึง 6 เดือนแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการขึ้นสู่ผู้จัดการร้านที่ต้องใช้ความสามารถ และมาตรฐานที่รัดกุมมากจริงๆ

“สำคัญสุด คือเรื่อง Operation ร้านเราอาจจะดูเหมือนขยายไม่ยาก แต่การรักษามาตรฐานหรือคุมคุณภาพเรื่องคนยากไม่แพ้การทำอาหาร เรื่องคุมอุณหภูมิเนื้อเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง คนจะคิดว่าง่าย แต่ทุกอย่างคือดีเทล การเทรนพนักงานระดับปฏิบัติการใช้เวลาไม่นานเพราะเขาจะดูเฉพาะส่วน แต่เทรนผู้จัดการใช้เวลานาน”

จากมาตรฐานดังกล่าว ทำให้ในปีนี้ “Mo-Mo-Paradise” มีแผนเปิดเพิ่มอีกเพียง 1 แห่ง ได้แก่ สาขา “One bangkok” เขาระบุว่า ที่ผ่านมา ร้านขยายตัวเร็วพอสมควร ปีนี้และหน้าจึงต้องกลับมาเน้นเรื่องสร้างคนทำงานมากขึ้น เมื่อมีทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแรงแล้วจึงค่อยวางแผนขยายต่ออย่างจริงจังอีกครั้ง

ขยายอาณาจักรเพิ่มอีก 4 แบรนด์ ปีนี้ลุ้นแตะ “2 พันล้าน” 

ปัจจุบัน “โนเบิล เรสเตอท์รองต์” มีร้านอาหารใต้เครือทั้งหมด 5 แบรนด์ ได้แก่ Mo-Mo-Paradise, Mo-Mo-Paradise Gold, Nabezo Premium ร้านชาบูพรีเมียม, Gyukatsu Kyoto Katsugyu ร้านเนื้อชุบแป้งทอดทงคัตสึจากญี่ปุ่น และ Guljak Topokki & Chicken ไก่ทอดเกาหลีต๊อกบกกี ส่วน “ทองเนื้อเก้า” เป็นร้านหมูกระทะพรีเมียมที่สุรเดชได้มีโอกาสไปร่วมหุ้นกับรุ่นน้องคนสนิท ไม่ได้อยู่ใต้เครือโนเบิล เรสเตอท์รองต์ แต่อย่างใด

สำหรับปีที่แล้ว “โนเบิล เรสเตอท์รองต์” มีผลประกอบการ 1,750 ล้านบาท กำไรสุทธิ 219 ล้านบาท และหากดูย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่า ทั้งรายได้และกำไรสุทธิมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี “สุรเดช” เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปีนี้ก็ยังโตขึ้นแต่อาจจะไม่ได้เยอะมากเท่ากับปีก่อนๆ เพราะตลาดมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมาก ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น 

แต่ข้อสำคัญ ก็คือ “Mo-Mo-Paradise” มีฐานลูกค้าระดับ “แฟนบอย” ค่อนข้างหนาแน่น อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 รายได้เครือโนเบิล เรสเตอท์รองต์ ก็ยังโตต่อเนื่อง ตนเชื่อว่า เพราะแบรนด์สร้างฐานมาดี หลังจากคลายล็อกดาวน์กลับมาเปิดร้านก็มีลูกค้ากลับมากินต่อเนื่อง ไม่เคยหายไปไหน

ส่วนสาขาที่ขายดีที่สุด ยังตกเป็นของ “เซ็นทรัลเวิลด์” ที่มาในรูปแบบ “Mo-Mo-Paradise Gold” มีความพิเศษตรงส่วนที่เป็นรูปแบบอะลาคาร์ตด้านหน้าร้านด้วย ทั้งนี้ หากรวมร้านเชนทั้งเครือก็มีอยู่เกือบๆ 40 แห่งแล้ว ปีนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่า จะแตะสถิติใหม่ที่ “2 พันล้านบาท” ได้หรือไม่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'อิสราเอล' ปฏิเสธ รถถังโจมตีฐานทัพ UN ในเลบานอน ชี้ 'แค่ขนทหารบาดเจ็บ'

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในเลบานอน (United Nations Interim Force in Lebanon: UNIFIL) รายง...

เปิดสมรรถนะจีน ‘ไม่ใช่แค่ซ้อมแต่พร้อมรบ’

ร้อยเอกหลี่ซี่ โฆษกกองบัญชาการภาคตะวันออก กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) เผยว่า การซ้อมรบ Joint Sw...

‘สหรัฐ’ เตรียมส่งทหารไป 'อิสราเอล' พร้อมระบบสกัดกั้นขีปนาวุธขั้นสูง

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เผยเมื่อวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ว่า การส่งทหารไปอิสราเอล พร้อมกับระบบต่อต้าน...

วันเดียวจบ! จีนซ้อมรบเตือนไต้หวันห้ามแบ่งแยกดินแดน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน รัฐบาลปักกิ่งประกาศเมื่อราว 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น 13 ชั่วโมงหลังเริ่มซ้อมรบ...