‘อสังหาฯ’ ระเบิดเวลาลูกใหม่ เศรษฐกิจไทยซึมยาว

เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจเริ่มกลับมาตลาด “อสังหาริมทรัพย์ไทย” ฟื้นตัวรวดเร็วและแข็งแกร่งจนถึงปลายปี 2566 กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นที่ทำให้ธนาคารเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทั้งสำหรับโครงการใหม่และผู้ซื้อรายย่อย จนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 20-30% เป็น 40% จนถึงวันนี้ ตลาดอสังหาฯไทย ปีนี้นับว่าเข้าสู่ภาวะชะลอตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี จากยอดขาย ยอดโอน ยอดการปล่อยสินเชื่อในระบบแบงก์ต่ำสุดในรอบ 23 ปี
 
“พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์”  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า อสังหาฯไทย ปีนี้ “ไม่ดีเลย” และถึงจุดต่ำสุดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา โดยปัญหาหลักที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในขณะนี้คือ ปัญหาจากฝั่งอุปสงค์ (Demand) มากกว่าฝั่งอุปทาน (Supply) โดยประชาชนส่วนใหญ่ขาดกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกัน
 

ประการแรก รายได้ของประชาชนไม่สอดคล้องกับราคาที่อยู่อาศัย แม้แต่บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทก็ยังเกินกำลังซื้อของคนจำนวนมาก การผ่อนชำระเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ธนาคารยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น


ประการที่ 2 ปัญหา "เศรษฐกิจมหภาค"  โดยเฉพาะการชะลอตัวของ GDP ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และการส่งออกที่ไม่ดีนัก ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ที่มีข่าวว่าบางโรงงานต้องลดการทำงานล่วงเวลาหรือแม้แต่ปิดกิจการ ส่งผลให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ EEC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ผลกระทบนี้เห็นได้ชัดในพื้นที่อย่างชลบุรีและระยอง ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์ค้างขายเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกเล็กน้อยคือ อัตราการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง ทำให้ตลาดมีโอกาสดูดซับอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ได้บ้าง
 

ประการที่ 3 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Aging Society) โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กลดลง ปรากฏการณ์นี้ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนจาก "ระฆังคว่ำ" เป็นรูปทรงที่มี "หัวโตฐานเล็ก" ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน ความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Living) อาจเพิ่มสูงขึ้น


ปัจจัยที่ 4 คือ “เงินบาทแข็งค่า” โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 36 บาทต่อดอลลาร์  เหลือเพียงประมาณ 32 บาท ซึ่งคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงถึง 13-14% ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนต่างชาติ ทำให้อสังหาริมทรัพย์ในไทยมีราคาแพงขึ้น  เช่น บ้านราคา 10 ล้านบาท จะต้องใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นถึงกว่า 10% ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการตัดสินใจซื้อ หรือแม้แต่ผู้ที่ซื้อไปแล้วก็อาจขอเลื่อนการโอนออกไปจนถึงปลายปี เพราะหวังว่าสถานการณ์ค่าเงินจะดีขึ้น


“ปัญหาหลักตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ความต้องการซื้อที่ลดลง แต่เป็นเรื่องของ “กำลังซื้อ” ที่หายไป ผู้คนยังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่ขาดเงินทุนในการซื้อ และสถานการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอตัว ทั้งมีการลดการทำงานล่วงเวลาและลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ลูกค้าที่เคยมีประวัติการเงินดีกลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงในสายตาของธนาคาร ทำให้การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ยากขึ้น”


นอกเหนืองจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ แต่ “ภูเก็ต” ยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดวิลล่าระดับหรูที่มีราคาตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมียอดขายที่น่าประทับใจ นอกจากนี้ ตลาดอสังหาแถวพัทยาก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน โดยเมืองท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่ช้า แต่ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าตลาดอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

กระทบทั้งอุตสาหกรรม


อุตสาหกรรมอสังหาฯ มีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศตั้งแต่ 3-10% ภาวะชะลอตัวนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง สี อิฐ หิน ปูน ทราย ประตู หน้าต่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงการจ้าง ไปจนถึงวิศวกร ทำให้ผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถหมุนเวียนเงินทุนได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้การผลิตและการก่อสร้างชะลอตัวลงไปอีก 

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับความท้าทายทาง “การเงิน” ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการขนาดกลางที่มีมูลค่าประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เงินกู้จากธนาคารในการพัฒนา ปัญหาหลักเกิดจากการที่ลูกค้าไม่สามารถโอนบ้านได้เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อรายย่อย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มีเงินคืนเงินกู้และดอกเบี้ยเริ่มทบต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจเลือกออกหุ้นกู้ แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กนอกตลาดหลักทรัพย์ การออกหุ้นกู้เป็นไปได้ยากเนื่องจากขาดอันดับความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กจึงต้องหาทางออกอื่น เช่น การขอกู้เพิ่มจากธนาคารโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม หรือหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินอื่น

 

สินเชื่อบ้านโตต่ำสุดในรอบ 23 ปี 


สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 70% นับเป็นสถิติใหม่ที่สะท้อนถึงความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ เทียบกับเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วที่มีอัตราการปฏิเสธเพียง 30% อย่างไรก็ตาม ธนาคารของรัฐยังคงมีนโยบายที่ผ่อนคลายกว่า โดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 50-60%
สาเหตุสำคัญของการปฏิเสธสินเชื่อมาจากหลายปัจจัย รวมถึงการที่ผู้ขอสินเชื่อมีภาระหนี้สินสูง มีบัตรเครดิตหลายใบ หรือมีหนี้กับหลายสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ธนาคารยังพิจารณาถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัทที่ผู้ขอสินเชื่อทำงานอยู่ด้วย หากบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี ธนาคารอาจปฏิเสธการให้สินเชื่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในการจ้างงานระยะยาว

 อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) กำลังขยายวงกว้างไปถึงบ้านที่มีราคาเกิน 5-7 ล้านบาทด้วย
ภาวะหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคารของรัฐรายงานว่าอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 6% ซึ่งแม้จะยังเป็นตัวเลขหลักเดียว แต่ก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ หากรวมหนี้ Special Mention หรือ SM ซึ่งเป็นหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระเงิน เช่น การค้างชำระบัตรเครดิตหรือการผ่อนชำระล่าช้า อัตรารวมของ NPL และ SM อาจสูงถึง 12% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอย่างมาก
หากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และหนี้ที่มีการกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ยังคงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้อัตราหนี้เสียของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยรายงานวิจัย สินเชื่อบ้านในระบบสถาบันการเงินไทย ยังคงชะลอตัวตามภาวะอ่อนแอของตลาดที่อยู่อาศัย ในไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่าสินเชื่อบ้านเติบโตเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมในปี 2567 อาจเติบโตไม่เกิน 1.2% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 23 ปี 


บ้านล้นตลาด

พรนริศ เปรียบเทียบตลาด “อสังหาริมทรัพย์” กับ “กระถางต้นไม้” โดยมองว่าอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์เปรียบเสมือนน้ำที่รดลงในกระถางต้นไม้ หากรดน้ำมากเกินไป น้ำก็จะล้นออกจากกระถาง ในทำนองเดียวกัน หากมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจำนวนมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด


ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ทำให้เกิดการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากเกินความต้องการของตลาด  ศูนย์วิจัยต่างๆ รายงานว่ามีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา โดยในแต่ละปีมีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 140,000-150,000 ยูนิต ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากขายไม่ออก เปรียบเสมือนกระถางต้นไม้ที่ถูกให้น้ำมากเกินไปจนน้ำล้นออกมา

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินได้ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อลดปริมาณน้ำที่รดลงในกระถาง เปรียบเสมือนการชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ตลาดได้มีเวลาปรับตัว


ขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนระหว่างคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวในตลาด โดยในอดีตสัดส่วนระหว่างคอนโดและบ้านมักจะอยู่ที่ 50:50 แต่ปัจจุบันสัดส่วนนี้ได้เปลี่ยนไป โดยคอนโดมิเนียมลดลงเหลือเพียง 30% ของตลาด ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% สาเหตุหลักมาจากความยากในการขอสินเชื่อสำหรับคอนโดมิเนียม และแนวโน้มของผู้พัฒนาโครงการที่หันมาสร้างบ้านราคาสูงมากขึ้น


ตลาดบ้านราคาสูงกำลังได้รับความนิยม โดยการขายบ้านราคา 100 ล้านบาทอาจสร้างรายได้เทียบเท่ากับการขายบ้านราคา 4-5 ล้านบาทจำนวน 30-40 หลัง ผู้พัฒนาโครงการจึงหันมาเน้นสร้างบ้านราคาแพง ซึ่งมักจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายกว่าหรือมีลูกค้าที่สามารถซื้อด้วยเงินสด


อนาคต ‘อสังหาฯไทย’ ไม่เหมือนอดีต


“แนวโน้มอสังหาไม่น่าจะพุ่งปรี๊ดแบบเมื่อ 30 ปีที่พุ่งกลับมาเป็นวันนี้”


อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตน้ำท่วม แต่ก็สามารถฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2565-2566 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และบริษัทหลายแห่งทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้นตลาดก็เริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด


ในระยะยาว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนในอดีต เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ประชากรที่ลดลงและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัว การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแบบคนเดียวมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทครอบครัวขนาดใหญ่ลดลง ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยขนาดเล็กหรือคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนยังคงมีอยู่ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป


ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เป้าหมายสำคัญของตลาดอสังหาริมทรัพย์คือการรักษาสถานะให้คงที่ไปจนถึงปีหน้า โดยหวังว่าสถานการณ์จะไม่แย่ลงไปกว่านี้ สัญญาณบวกเล็กน้อยที่เห็นได้คือการเริ่มฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในระยะยาว

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม กำลังซื้อของผู้บริโภค และนโยบายของรัฐบาล
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'อิสราเอล' ปฏิเสธ รถถังโจมตีฐานทัพ UN ในเลบานอน ชี้ 'แค่ขนทหารบาดเจ็บ'

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในเลบานอน (United Nations Interim Force in Lebanon: UNIFIL) รายง...

เปิดสมรรถนะจีน ‘ไม่ใช่แค่ซ้อมแต่พร้อมรบ’

ร้อยเอกหลี่ซี่ โฆษกกองบัญชาการภาคตะวันออก กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) เผยว่า การซ้อมรบ Joint Sw...

‘สหรัฐ’ เตรียมส่งทหารไป 'อิสราเอล' พร้อมระบบสกัดกั้นขีปนาวุธขั้นสูง

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เผยเมื่อวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ว่า การส่งทหารไปอิสราเอล พร้อมกับระบบต่อต้าน...

วันเดียวจบ! จีนซ้อมรบเตือนไต้หวันห้ามแบ่งแยกดินแดน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน รัฐบาลปักกิ่งประกาศเมื่อราว 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น 13 ชั่วโมงหลังเริ่มซ้อมรบ...