The EU Green Deal: โอกาสหรือความเสี่ยงของธุรกิจไทย? – (1)

เพื่อมุ่งให้สังคมเจริญเติบโตและทันสมัย ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่ EU ใช้คำว่า “Climate Neutrality” ภายในปี 2050 รวมถึงมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยของปีฐาน (ค.ศ.1990) จึงเป็นที่มาของชุดมาตรการที่ชื่อ "Fit for 55 Package"

EU ได้มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ EU Green Deal เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั้งกับประเทศสมาชิก EU และอาจมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศนอก EU ซึ่งมีกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับ EU หรืออยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) ของธุรกิจใน EU ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ อาทิ บริษัท A ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปบางประเภทและมีการวางขายในตลาด EU บริษัท B ส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน เพื่อนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ บริษัท C สัญชาติไทยที่ดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการใน EU หรือสาขาของบริษัทแม่สัญชาติ EU ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเบื้องต้นมีตัวอย่างของกฎระเบียบ EU ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังรูป

กฎระเบียบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน คือ EUDR หรือ EU Deforestation Regulation ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อห้ามการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า (Deforestation) สู่ตลาด EU และเพื่อลดการบริโภคสินค้าจากห่วงโซ่อุปทานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรมให้มากที่สุด ทั้งนี้ EUDR มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2023 ซึ่งมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 18 เดือน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2024 มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรที่เข้าข่าย 7 รายการ ได้แก่ ยางพารา กาแฟ โกโก้ ไม้ ปาล์มน้ำมัน โค ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามที่ EU กำหนด ดังนั้นผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวในตลาด EU มีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) อย่างเข้มงวด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลไปถึงแหล่งผลิตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปี 2023 ไทยมีสินค้าภายใต้ EUDR ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยัง EU ควรพิจารณาและดำเนินการตามที่ EU กำหนดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎระเบียบนี้จะควบคุมการวางตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุป การดำเนินงานตามกฎหมายและกฎระเบียบของ EU เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่งความท้าทายที่เห็นชัดเจน คือ การมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับผิดชอบ การเก็บรวบรวมข้อมูล การรายงานข้อมูล การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านความยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจ (corporate sustainability due diligence) เป็นต้น แต่อาจมองเป็นโอกาสได้เช่นกัน เมื่อนำต้นทุนของการปฏิบัติตามมาเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและผลกระทบต่าง ๆ จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ EU หรือที่เรียกว่า "Cost of non-compliance"

นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อธุรกิจไทยที่เข้าข่ายอาจมีมากกว่าที่คิด อาทิ ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและอาจส่งผลเสียต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน การถูกตัดออกจากการเป็นคู่ค้าสำคัญที่ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่อยู่ในยุโรปหรือทวีปอื่น ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของ EU จึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยละเอียด วางแผนเพื่อรับมือ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวหรือปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...