‘กาแฟ’ ราคาพุ่ง เซ่นพิษ ‘โลกรวน’ หลังบราซิลแล้ง-เวียดนามเจอพายุถล่ม

ราคากาแฟแต่ละแก้วอาจพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากราคาเมล็ดกาแฟแพงขึ้นประมาณ 40% ในปีนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างบราซิลและเวียดนามได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้าย

ราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งสูงในรอบ 13 ปี ที่มากกว่า 2.60 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในวันจันทร์ ขณะที่ราคากาแฟโรบัสต้าในลอนดอนพุ่งสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากราคาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากภัยแล้งรุนแรงในบราซิลและพายุไต้ฝุ่นยางิในเวียดนาม 

ตามรายงานของ Bloomberg พบว่าในปี 2024 ราคาเมล็ดกาแฟพรีเมียมพุ่งสูงขึ้นประมาณ 40% ขณะเดียวกันเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ราคาถูกกว่าก็ขาดแคลนเช่นกัน ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นมาจากความหวาดกลัวว่าจะขาดกาแฟ หลังจากต้นกาแฟในประเทศผู้ส่งออกหลักอย่าง บราซิลและเวียดนาม กำลังได้รับผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะในรัฐมีนัชเจไรช์ แหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าเกือบหนึ่งในสามของบราซิล มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติมาก ตามรายงานของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบราซิล

ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกในปี 2025-2026 โดยคาร์ลอส เมรา นักวิเคราะห์สินค้าเกษตรจาก Rabobank บริษัทบริการทางการเงินข้ามชาติ เปิดเผยกับ Bloomberg ว่าสถานการณ์ในตอนนี้ “กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย” เพราะวิกฤติในครั้งนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาด้านการขนส่ง 

การโจมตีเรือในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ทำให้เรือที่แล่นระหว่างเอเชียและยุโรปถูกบังคับให้ใช้เส้นทางที่ยาวกว่ามากผ่านแหลมกู๊ดโฮปแทนที่จะผ่านคลองสุเอซ รวมถึงปัญหาท่าเรือคับคั่งและตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทั่วโลกขาดแคลน ทำให้การขนส่งกาแฟไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทำได้ยากขึ้น

ส่วนในเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นยางิทำลายพื้นที่ปลูกกาแฟของประเทศจำนวนมาก พร้อมคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ราย ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ต่อราคากาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากในตอนนี้กาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นกาแฟที่ใช้ในการทำกาแฟสำเร็จรูปเริ่มขาดแคลนแล้ว 

 

ราคากาแฟทั่วโลกพุ่งสูง

ราคากาแฟต่อแก้วพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยผู้ค้าปลีกอย่าง JM Smucker บริษัทแม่ของ Dunkin’ และ Café Bustelo ได้ปรับขึ้นราคาถึง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากต้นทุนกาแฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน Pret A Manger ร้านอาหารสหราชอาณาจักร หยุดให้สมัครสมาชิกบริการสั่งกาแฟได้ 5 แก้วต่อวัน

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคในอิตาลีเริ่มไม่พอใจหลังจากที่ราคาเอสเพรสโซในร้านกาแฟในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ตั้งแต่ปี 2021 เนื่องจากต้องเผชิญกับต้นทุนพลังงานและราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กิจวัตรประจำวันของประชาชนหลายล้านคนเปลี่ยนไป หลายคนตัดสินใจซื้อเครื่องชงกาแฟไว้ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านกาแฟในอิตาลีไม่สามารถขึ้นราคาเอสเพรสโซได้มากนัก เพราะผู้คนคุ้นชินกับเอสเพรสโซที่ราคาถูกจากมาตรการควบคุมราคาเอสเพรสโซ เพื่อให้ทุกคนสามารถซื้อได้ และแม้ว่าการควบคุมราคาจะสิ้นสุดลงไปแล้วหลายสิบปีแล้วก็ตาม ดังนั้นร้านกาแฟจึงพยายามคงราคาเอสเพรสโซให้ถูกที่สุด แล้วไปขึ้นราคากับเมนูอื่น ๆ เช่น คาปูชิโนและขนมแทน

การปรับราคากาแฟขึ้นของหลายแบรนด์ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ นั่นคือ ผลผลิตกาแฟกำลังถูกคุกคามจากวิกฤติสภาพอากาศมากขึ้น เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยาก เริ่มทำให้ประเทศแถบพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรที่สามารถปลูกกาแฟได้กว่า 40 ประเทศ หรือที่เรียกว่า “Bean Belt” เริ่มไม่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟ

ต้นกาแฟอาจสูญพันธุ์

แบบจำลองสภาพอากาศแสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2050 พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาจหดตัวลงถึง 50% และในบราซิล พื้นที่ที่สามารถปลูกกาแฟได้อาจจะลดลงถึง 80% ซึ่งจะทำเสียตำแหน่งประเทศส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น กาแฟป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรทางพันธุกรรมที่สำคัญสำหรับเกษตรกรอาจสูญพันธุ์ภายในปี 2080 ผู้คนมากกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกพึ่งพาการปลูกกาแฟเพื่อยังชีพอาจไม่มีงานทำ

กาแฟอาราบิก้า” ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติดี แต่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โดยจะสามารถเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 18-23 องศาเซลเซียส และในระดับความระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และต้องการอุณหภูมิเฉพาะระหว่าง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นกว่าขีดจำกัดเหล่านี้ ต้นกาแฟจะประสบกับภาวะเครียดจากความร้อน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

กาแฟโรบัสต้า” ซึ่สามารถทนความร้อนได้ดีกว่า แต่ใช้น้ำในการเพราะปลูกมาก ดังนั้นภัยแล้งที่เกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น สร้างความท้าทายให้แก่เกษตรกรที่ต้องดิ้นรนหาทางรักษาปริมาณผลผลิตไว้ให้ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มการชลประทาน

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากกาแฟไม่ได้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากนัก พันธุ์กาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าคิดเป็น 99% ของผลผลิตกาแฟทั่วโลก ทำให้พืชชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงต่อแมลง โรค และวิกฤติสภาพอากาศ

นักวิจัยกำลังทำงานเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่ทนทานมากขึ้น แต่สายพันธุ์ป่าที่จำเป็นสำหรับการผสมพันธุ์ก็ตกอยู่ในอันตราย ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า สายพันธุ์กาแฟป่ามากกว่า 60% มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้ศักยภาพในการปรับปรุงพันธุกรรมมีจำกัด


ที่มา: BBC, Financial Times ,Independent

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...