‘สวิส’ แข่งหาไอเดียกู้ ‘อาวุธใต้ทะเลสาบ’ แบบปลอดภัย ชิงเงิน 2 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวที่เพลิดเพลินกับทัศนียภาพอันสวยงามของ “ทะเลสาบ” ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าภายใต้ผืนน้ำที่สวยงามนี้ จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งกระสุน ชนวนระเบิด ระเบิด TNT และอื่น ๆ น้ำหนักรวมกันหลายพันตัน เพราะในอดีตกองทัพสวิสใช้ทะเลสาบเป็นแหล่งทิ้งพวกมัน โดยเชื่อว่าสามารถกำจัดทิ้งได้อย่างปลอดภัย แต่ตอนนี้พวกเขากำลังจะหาวิธีจัดการกับอาวุธเหล่านี้อย่างปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สำนักงานกลางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Armasuisse ประกวดหาไอเดียกู้ “อาวุธยุทโธปกรณ์” ที่อยู่ใต้ทะเลสาบกลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย 3 แนวคิดที่ดีที่สุด จะได้รับรางวัล 50,000 ฟรังก์สวิส หรือเกือบ 2 ล้านบาท

แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปใช้โดยตรงในปฏิบัติการกอบกู้ แต่จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้น โดยการนำกระสุนขึ้นมาจากทะเลสาบก็ต่อเมื่อพวกมันเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ระหว่างปี 2461-2507 กองทัพได้ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิดที่มีปัญหา ผลิตมาเกิน หรือล้าสมัยไปแล้ว รวมน้ำหนักกว่า 12,000 ตัน ลงในทะเลสาบหลายแห่งของสวิส ไม่ว่าจะเป็น ทะเลสาบทูน ทะเลสาบเบรียนซ์ และทะเลสาบลูเซิร์น ที่ระดับความลึก 150-220 เมตร แต่อาวุธในทะเลสาบเนอชาแตลนั้นอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำเพียง 6-7 เมตรเท่านั้น

ขณะที่ทะเลสาบเนอชาแตลยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ประมาณ 4,500 ตันอยู่ใต้น้ำ เพราะเป็นสถานที่ฝึกซ้อมทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสวิสเป็นเวลาหลายปี

ระเบิด กระสุน และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ถูกทิ้งในทะเลสาบทูน

ด้วยปริมาณกระสุนจำนวนมาก และถูกทิ้งมานานแล้วอาจทำให้การกอบกู้อาวุธเหล่านี้ขึ้นมาอาจจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้ Armasuisse ต้องการวิธีแก้ปัญหานี้ จึงได้จัดการระดมความคิดจากประชาชนขึ้นมา โดยเปิดกว้างให้ทุกความคิดและไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนผู้สมัคร ซึ่งสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์ และสามารถเสนอไอเดียได้ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2568

แนวคิดที่ส่งเข้ามา จะถูกประเมินและพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และบุคลากรจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประกาศผลในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งแนวคิดที่ได้รับคัดเลือก Armasuisse จะนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม 

ทะเลสาบเบรียนซ์ หนึ่งในทะเลสาบที่มีการทิ้งอาวุธ

 

อาวุธอยู่ใต้ทะเลสาบนานเกินไป

จากการประเมินในปี 2548 เผยให้เห็นว่า ขณะนี้มีตะกอนละเอียดหนาถึง 2 เมตรปกคลุมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกทิ้งใต้บาดาลอยู่ และการจะกู้พวกมันขึ้นมา อาจทำให้เกิดโคลนจำนวนมาก นับว่าเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนของทะเลสาบ 

ตะกอนและโคลนเหล่านี้อาจทำให้ออกซิเจนที่ไม่ค่อยมีอยู่แล้วในระดับน้ำลึกขนาดนี้หมดไป ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่อาวุธจะระเบิด ทัศนวิสัยใต้น้ำที่ไม่ดี ความลึกและกระแสน้ำ 

อีกทั้งอาวุธยังมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 4 มิลลิเมตร ไปจนถึง 20 เซนติเมตร และหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม เนื่องจากกระสุนส่วนใหญ่ทำจากเหล็กและมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก ขณะที่ตัวจุดชนวนบางตัว ทำจากทองแดง ทองเหลือง หรืออะลูมิเนียมที่ไม่ใช่แม่เหล็ก 

อาวุธที่ถูกทิ้งมานับร้อยปี จนมีโคลนและตะกอนปกคลุม

มาร์กอส บูเซอร์ นักธรณีวิทยาชาวสวิส ได้เขียนรายงานการวิจัยเมื่อสิบปีที่แล้ว เพื่อเตือนรัฐบาลถึงอันตรายของการทิ้งอาวุธในทะเลสาบ โดยบูเซอร์ระบุว่ามันจะทำให้เกิดความเสี่ยง 2 ประการ เขากล่าว ประการแรก แม้ว่าพวกมันจะอยู่ใต้น้ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิด เพราะในหลายกรณีกองทัพไม่ได้ถอดฟิวส์ออกก่อนทิ้งอาวุธ

นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของน้ำและดิน มีโอกาสที่ TNT จะสร้างมลพิษให้กับน้ำในทะเลสาบและตะกอนได้

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การกอบกู้ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก และคาดว่าจะต้องใช้เงินในการกู้อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้หลายพันล้านฟรังก์สวิส โดยบูเซอร์แนะนำให้รัฐบาลขอคำแนะนำจากสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ หรือเดนมาร์ก ที่เคยจัดการกับซากเรือในช่วงสงคราม ที่มีอาวุธและระเบิดอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยกว่าได้

อาวุธที่อยู่ใต้ทะเลสาบ

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพสวิสประมาทเลินเล่อกับอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยกองทัพเปิดเผยว่า ในปี 2566 พลเรือนพบอาวุธที่ยังไม่ถูกใช้งานและระเบิดในเขตชนบทเพิ่มขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับปี 2565 หรือแม้แต่บนธารน้ำแข็ง ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยังเผยให้เห็นกระสุนจริงและกระสุนจริงที่เหลือจากการฝึกบนภูเขาสูงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน

ในปี 2490 เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่หมู่บ้านมิธอลซ์ บนเทือกเขาแอลป์ เมื่ออาวุธกว่า 3,000 ตันที่กองทัพเก็บไว้บนภูเขาใกล้หมู่บ้านเกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดทำให้บ้านทั้งหมดราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย ผู้คนในเมืองซูริก ที่อยู่ห่างออกไป 160 กิโลเมตร สามารถได้ยินเสียงระเบิด 

ต่อมาในปี 2563 กองทัพเปิดเผยว่ามีระเบิดราว 3,500 ตัน ถูกฝังไว้ในภูเขา และจำเป็นต้องกู้ออกมาให้หมด ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ภายในปี 2573 เพื่อให้กองทัพสามารถเคลื่อนย้ายหรือฝังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหลืออยู่อย่างปลอดภัย โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 ปีถึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งชาวบ้านจะได้รับเงินชดเชยและการจัดหาที่อยู่ใหม่


ที่มา: BBC, Business Insider, Swiss Info

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...