สัมภาษณ์ นฤบดี เวชกรรม ผู้กำกับหนัง “14 อีกครั้ง” ปัดฝุ่นความทรงจำยุค Y2K

คุณยังจำตัวเองตอนที่อายุ 14 ได้ไหม... วัยแห่งความกล้า ซ่า และบ้าบิ่น ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เรื่องที่ทำให้เสียน้ำตาอาจมาในช่วงเวลาที่ทะเลาะกับเพื่อนสนิท เถียงกับพ่อแม่ หรือแม้แต่ประสบการณ์อกหักครั้งแรก แต่หลายปีผ่านไปความสดใสของวัย 14 ก็อาจถูกแทนที่ด้วยรอยยิ้มบางๆ เราปกปิดความเป็นเด็กด้วยมาดผู้ใหญ่นิ่งขรึม ที่ต้องแบกความรับผิดชอบไว้หลายอย่าง น้ำตาที่เคยอนุญาตให้หลายคนเห็นง่ายๆ ในช่วงวัยรุ่น ก็อาจมีแค่ตัวเราคนเดียวที่ได้รับสิทธิ์นั้น พร้อมๆ กับการพบว่าแก๊งเพื่อนสนิทในอดีตไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต

14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” เป็นชื่อภาพยนตร์ไทยแนวคอมเมดี้ ผลงานเรื่องใหม่ล่าสุดของผู้กำกับ เป้-นฤบดี เวชกรรม ที่เคยฝากความประทับใจไว้ใน LOW SEASON สุขสันต์วันโสด และหนังตลกเรียกเสียงฮาในจักรวาลของสาระแน ซึ่งจะชวนทุกคนกลับมาปัดฝุ่นทุกความทรงจำที่คิดถึง ย้อนวัยรำลึกถึงชีวิตวัย 14 กันอีกครั้ง ท่ามกลางฉากหลังบรรยากาศช่วงปี 2003 (พ.ศ. 2546) หรือที่เราเรียกกันว่ายุค Y2K

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ เป้-นฤบดี เวชกรรม ผู้กำกับหนังไทยอารมณ์ดี “14 อีกครั้ง” ที่จะพาทุกคนไปเปิดลิ้นชักความทรงจำผ่านเรื่องราวของตัวละคร “กิ๊บ” (ณัฎฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) และ “ต้อ” (ณัฎฐ์ กิจจริต) อดีตสองเพื่อนซี้ กับเรื่องราวความรักครั้งแรกที่อัดแน่นเต็มหัวใจ

...

สัมภาษณ์ เป้-นฤบดี เวชกรรม ผู้กำกับหนัง “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand”

ย้อนกลับไปเล่าถึงที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้ มาจากเพลง “14 อีกครั้ง” ของเสก โลโซ จริงหรือเปล่า

เรียกว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจละกัน ตอนนั้นลูกชายผมอายุ 14 ปีพอดี เป็นวัยกำลังแรงเลย เราก็แอบคิดในใจทำไมเด็กอายุ 14 มันแสบ มันซ่าจังวะ ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง พุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่พอผมลองย้อนกลับไปมองตัวเองตอนอายุ 14 บ้าง จริงๆ ก็ไม่ต่างกันมาก (หัวเราะ) เลยเริ่มมีไอเดียว่าอยากจะทำหนังสักเรื่องที่เล่าเรื่องราวของช่วงอายุนี้ เพราะปกติเวลาทำหนังผมก็มักจะเริ่มจากสิ่งที่เรารู้สึกก่อนเสมอ

จนกระทั่งวันหนึ่งผมขับรถไปรับลูกชายอายุ 14 ที่โรงเรียน ตอนที่รถจอดติดไฟแดงอยู่ จู่ๆ ก็มีคนเดินมาเอามือแปะกระจกรถ แล้วยิ้มให้ลูกชายผม ไอ้เราก็ตกใจเขาทำอะไรวะ หรือเราจอดรถทับทางม้าลายหรือเปล่า แต่พอผมสังเกตหน้าชัดๆ เขาคือ 'เสก โลโซ' แล้วเขาก็เดินอ้อมรถไป วันนั้นเหมือนเป็นสัญญาณบางอย่างที่คำว่า “14 อีกครั้ง” ที่เป็นชื่อเพลงของเสก โลโซ มันเข้ามาในหัวเรา 

ผมบอกลูกว่าเปิดเพลง 14 อีกครั้งฟังเลยลูก เธอทำให้ฉันรู้สึกเหมือนตอน 14... หลังจากนั้นผมก็ตั้งใจว่าจะทำหนังเรื่องใหม่เลย บอกทีมเขียนบทให้เตรียมรีเสิร์ชหาข้อมูลเลย

คุณมีประสบการณ์อะไรที่ทำให้คิดถึงความทรงจำสมัยอายุ 14 ปี

พอพูดถึงอายุ 14 มันเป็นความคิดถึงเสียมากกว่า ตอนนั้นแม่ก็น่าจะเหนื่อยใจกับเราอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) ผมก็ไม่ต่างจากลูกชายตอนนี้หรอก เราก็แสบอยู่ ทำอะไรก็พุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่คิดอะไรมาก บางอย่างที่เราทำก็เป็นความกล้าที่ตัวเราในปัจจุบันมองย้อนไปแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเราจะกล้าทำ 

ทีมรีเสิร์ชข้อมูลก็บอกว่าช่วงอายุ 14 เป็นวัยที่อยากจะแสดงตัวตน อยากได้รับการยอมรับ ฉันก็ทำอะไรได้เหมือนผู้ใหญ่นะเว้ย พลังของเด็กอายุ 14 มันล้นเหลือมาก แต่ที่น่าแปลกใจคือทำไมพอเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เรากลับเป็นคนที่กลัวและกังวลกับอะไรหลายอย่าง หนังเรื่องนี้เลยอยากจะพาทุกคนไปปัดฝุ่นความทรงจำว่า เฮ้ย! เราลืมความกล้าในสมัยนั้นไปหมดหรือยัง เชื่อว่า “14 อีกครั้ง” อาจมีบางเรื่องที่ไปสะกิดใจหลายๆ คนให้กลับไปย้อนคิดถึงตัวเอง แล้วใช้ชีวิตต่อไปด้วยพลังบวกที่ได้รับ

...

ตอนที่อายุ 14 ความกลัวที่สุดของคุณคืออะไร

อายุ 14 เราทำอะไรแบบไม่ค่อยคิดนะ ซึ่งก็อาจจะขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของแต่ละครอบครัว แต่ผมเชื่อว่าลึกๆ ข้างในเด็ก 14 ทุกคนอยากจะพุ่งไปข้างหน้าหมดอยู่แล้ว ความกลัวมากที่สุดในวัยนั้นก็มีแค่กลัวแม่ด่า กลัวสอบตก กลัวครูตี แต่ก็ไม่ได้กลัวแบบถึงที่สุด ส่วนใหญ่เราจะกลัวอาย กลัวเพื่อนล้อมากกว่า เพราะเด็กวัยรุ่นต้องการได้รับการยอมรับสูง

ทำไม “14 อีกครั้ง” ถึงเลือกฉากหลังเป็นจังหวัดจันทบุรี

หนังเรื่องนี้ยกกองไปถ่ายทำกันที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพราะเป็นบ้านเกิดของผม คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศที่เราเติบโตขึ้นมาในวัยเด็ก โดยเฉพาะที่อำเภอขลุง ต่อให้ผ่านไป 50 กว่าปีแต่ก็ไม่เปลี่ยนเลย กลับไปก็ยังเจอคนที่เรารู้จัก เป็นเมืองที่บรรยากาศทั้งหมดเหมือนถูกแช่แข็งไว้ ซึ่งทำให้เราคิดถึงความทรงจำเดิมๆ ได้

แสดงว่าหนังเรื่องนี้ก็เป็นกึ่งๆ ไดอารี่ส่วนตัวของคุณที่มีต่อบ้านเกิด

อาจไม่ใช่ของผมแค่คนเดียว เพราะถ้าเป็นไดอารี่ส่วนตัวอาจต้องย้อนกลับไปนานหลายปี (หัวเราะ) แต่เราใช้วิธีจูนความรู้สึก 14 อีกครั้งของหลายๆ คนที่มีร่วมกัน เลือกเล่าในพื้นที่บ้านเกิดของเรา โดยจำลองเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ราวปี พ.ศ. 2546 หรือช่วงปี ค.ศ. 2003 ที่คนยุคนั้นจดจำร่วมกันได้ เรียกว่าเป็นบันทึกความทรงจำที่เชื่อมโยงกับเวลาและพื้นที่

มีความเป็นแอนะล็อก (Analog) อะไรบ้างที่เราจะได้เห็นในหนังเรื่องนี้

วัยรุ่นสมัยนั้นจะทำอะไรก็ต้องแก๊ง มีชื่อแก๊ง และก็มีความชอบหลายอย่างที่เราอินกับมัน เช่น แฟชั่น หนังสือการ์ตูน ร้านเช่าหนังสือ สเก็ตบอร์ด มีความแอนะล็อกหลายอย่างที่อาจช่วยทำให้ความทรงจำตอนนั้นของหลายๆ คนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อีกอย่างคือยุคนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งก็ถือว่ามีเสน่ห์ไปอีกแบบ เราจะจำเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนได้หมด อยากเจอเพื่อน ก็ต้องออกไปหา มือถือก็มีแค่เกมงู ถ้าอยู่ไกลจะติดต่อก็ต้องแชตผ่าน MSN 

...

รู้สึกอย่างไรที่กระแส Y2K กลับมาฮิตในปีนี้ที่หนังเข้าฉายพอดี

ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าเทรนด์ Y2K จะกลับมาเลย เพราะเราทำหนังไปก่อนหน้านี้ แต่จู่ๆ เทรนด์นี้ก็กลับมาพอดี ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของจังหวะช่วงเวลาบางอย่างที่คนเราคิดถึง ยิ่งโลกหมุนไปเร็วเท่าไร เราอาจยังรู้สึกว่ายังมีความหลังอีกเยอะที่เรายังคงคิดถึงอยู่ อย่าเพิ่งไปไวขนาดนั้นสิ ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนคิดถึงอดีตกันเยอะ แสดงว่าช่วงปี 2000 มันเต็มไปด้วยเสน่ห์ หรืออาจเพราะทุกอย่างในปัจจุบันมันเดินหน้าเร็วเกินไป จนมีจังหวะที่เรารู้สึกอยากก้าวเดินให้ช้าๆ ลงบ้าง

หนังจะทำงานกับการรับรู้ของคนดูที่ไม่ได้เติบโตมาในยุคนั้นได้อย่างไร

ผมเชื่อว่าความรู้สึกข้างในของเด็กอายุ 14 ในปัจจุบัน กับเด็กอายุ 14 ในอดีตก็ไม่น่าจะต่างกันสักเท่าไร สิ่งเร้าข้างนอกอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่อยู่ข้างในก็พลุ่งพล่านไม่ต่างกัน สิ่งที่พวกเขาอยากทำในตอนนี้ มันก็ตรงกับยุคที่เราเคยเป็นเหมือนกัน

ผมเลือกที่จะนำความรู้สึกข้างในมาเล่ามากกว่า อยากให้ทุกคนลองดึงพลังงานดีๆ ในยุคนั้น มาบอกกับตัวเองในยุคนี้บ้าง ถ้าตอนนี้คุณมีเรื่องที่กลัวหรือกังวลอยู่ ลองย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองสมัย 14 ปีสิ ทำไมคุณกล้าวะ เราโฟกัสกับสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ไม่ได้ย้อนอดีตไปเพื่อเล่นกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในยุคนั้น เพลง โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เกม ฯลฯ เป็นแค่องค์ประกอบที่ช่วยสร้างภาพจำให้ชัดเจนเท่านั้น

...

ลูกชายวัย 14 ของคุณ ให้แรงบันดาลใจอะไรกับการสร้างหนังเรื่องนี้ไหม

เขาเป็นที่ปรึกษาให้ผม เราคุยกันด้วยความรู้สึกเวลาที่ตัดสินใจอะไรไม่ได้ โดยไม่เอาองค์ประกอบอื่นเข้ามา จุดไหนที่ผมยังไม่แน่ใจ ก็จะถามเขาว่าตรงนี้ลูกคิดว่ายังไง

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้ทำงานกับกลุ่มนักแสดงเด็กวัยรุ่น

น่ารักดีครับ ยิ่งแก๊งน้องๆ มีอายุใกล้เคียงกัน 13-15 ปี บางครั้งก็ทำให้เราคิดเหมือนกันนะว่าเราเองก็เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมา ข้างในเราก็เคยรู้สึกแบบเดียวกับเขา พออยู่กับเด็กๆ นาน หนังถ่ายทำเสร็จ เราก็คิดถึง เหงาที่ไม่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่นเหมือนเดิม แต่ทุกวันนี้เราก็ยังส่งข้อความหากัน รวมตัวกันไปเที่ยว พวกเขาก็กลายมาเป็นเพื่อนกันจริงๆ ไปแล้ว

ถือเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ 'โมเน่ต์ BNK48' ด้วย

ใช่ครับ น้องโมเน่ต์น่ารักมากๆ เขารับบทเป็นตัวละครที่ชื่อ 'ซาร่า' อยู่กับแม่ที่เปิดร้านเสริมสวย มีความโดดเด่นด้านแฟชั่น ผมซอยสั้นๆ แฟชั่นผิดระเบียบที่เด็กผู้หญิงชอบแอบทำกัน ตอนที่ผมเจอโมเน่ต์ครั้งแรกก็ให้เขาเล่าว่าตัวเองเป็นคนยังไง โดยที่ยังไม่บอกคาแรกเตอร์ของตัวละครที่เขาจะต้องเล่น

ผมเลยถามโมเน่ต์ว่า "อะไรคือสิ่งที่โมเน่ต์ชอบมากที่สุด" น้องตอบว่า "หนูเป็นคนที่อยากรู้เรื่องคนอื่น ถ้าไม่ได้รู้ หนูนอนไม่หลับ" นี่แหละใช่เลย ตัวละครที่เรากำลังตามหา (หัวเราะ) 

ในส่วนของนักแสดงนำหลัก ทำไมถึงเลือก 'ณัฎฐ์' และ 'ณิชา' มารับบทนี้

ผมได้พูดคุยกับณิชา (ณัฎฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) ว่าตอนเขาอายุ 14 ปี มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ผมรู้สึกว่าตัวละคร 'กิ๊บ' ในหนังมีความใกล้เคียงกับณิชา แล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเขา ส่วนณัฎฐ์ (ณัฎฐ์ กิจจริต) ที่มารับบท 'ต้อ' ก็เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าเขามีความเชื่อมโยงกับจันทบุรี เพราะคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนจันทบุรี

ณัฎฐ์บอกว่าเขาเล่นบทดราม่าที่ค่อนข้างหนักๆ มาเยอะ อยากจะผ่อนคลายบ้าง พอมาเจอบท 'ต้อ' ในเรื่องนี้ ก็ถือว่าตอบโจทย์เขามาก เพราะตัวละครต้อเป็นคนชิลมากๆ ซึ่งณัฎฐ์ได้ลงพื้นที่รีเสิร์ชด้วยตัวเองด้วย แล้วเขาก็บอกว่ารู้สึกจริงๆ ว่าคนขลุงมีแต่ความเฮฮา และมีความชิลเหมือนกับบทบาทตัวละครที่เขารับ

เป้-นฤบดี เวชกรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand”

ผลงานส่วนใหญ่ของคุณเป็นแนวคอมเมดี้แทบทั้งหมด อยากรู้ว่าคุณเติบโตมากับการดูหนังแบบไหน 

ตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยมีไอดอล ที่บ้านไม่มีทีวีดู เวลาเพื่อนๆ ดูการ์ตูนก็จะมาเล่ากัน พี่ก็ได้แต่นั่งฟัง จินตนาการตามมันเป็นยังไงวะ เราอ่านหนังสือการ์ตูนเพื่อเปิดจินตนาการ หรือไม่ก็ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ส่วนความทรงจำเกี่ยวกับหนังที่เราประทับใจที่สุดก็คือการได้ดูหนังกลางแปลง รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กต่างจังหวัด

ส่วนตอนที่ผมจากจันทบุรีมาอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว "สิ่งที่สอนเราได้ดีที่สุดก็คือหนัง" มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็เข้าโรงหนัง สำหรับบางเรื่องอาจถูกวิจารณ์ว่าไม่ดี แต่กลับมีฉากที่ผมชอบ ผมดูหมดเลย แล้วก็เชื่อมโยงว่าฉากนี้มันสอนเรายังไงได้บ้าง

ใครคือผู้กำกับภาพยนตร์ในดวงใจของคุณ

ผมชอบพี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร เพราะเขาเป็นคนที่ทำหนังออกมาได้จริงใจดี สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ มาถึงเราได้ พี่อุ๋ยเขารู้สึกจริงๆ กับหนังที่ตัวเองทำ

บางครั้งการทำหนังเราจะพูดถึงเรื่องกำไรหรือขาดทุนอย่างเดียวไม่ได้ มันเป็นอะไรที่เราต้องทำด้วยใจ ทุ่มเทด้วยแรงใจ เพราะกว่าที่หนังสักเรื่องจะผลิตเสร็จ เราใช้เวลานานหลายปี และมีทีมงานอีก 100 กว่าชีวิตที่มาอยู่กับเรา ส่วนสำคัญคือเราต้องทำด้วยความสนุกให้ได้ก่อน ซึ่งพลังงานตรงนี้แหละที่จะส่งไปถึงคนดู ให้มีความรู้สึกบางอย่างเกี่ยวกับหนังของเรา

คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของหนังแนวคอมเมดี้ที่คุณหลงใหล

ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสไตล์หนังที่ชัดเจนหรือเปล่า เพราะเวลาทำหนังเราเน้นเล่าตามข้อมูลและความรู้สึกที่มี ไม่พยายามฝืนไปใส่อะไรที่ต้องมีมุกตลกโบ๊ะบ๊ะขนาดนั้น ซึ่งหนังอาจมีช่วงที่สนุกหรือไม่สนุกบ้างเป็นธรรมดา แต่ขอแค่เรามีความรู้สึกจริงๆ กับสิ่งที่กำลังทำ

ผมอาจโตมากับสภาพแวดล้อมหรือกลุ่มเพื่อนที่เฮฮา ไม่ว่าชีวิตจะดราม่ายังไง ก็จะไม่จมไปกับมัน สมมติเพื่อนอกหัก เราก็จะพูดแซวกันว่ากูให้เวลามึง 2 วัน หลังจากนั้นถ้ายังจมอยู่ ก็จะโดนอำ เรื่องดราม่าในชีวิตมันมีอยู่ตลอดแหละ แต่เราไม่พยายามไปสะกิดมัน ถ้าจะเล่าในหนังก็จะเล่าแค่นิดเดียว ชอบไปเน้นความสนุกเฮฮามากกว่า

สุดท้ายนี้ “14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” จะเป็นตัวแทนส่งความรู้สึกแบบไหนกลับไปถึงใจคนดู

14 อีกครั้ง I Love You Two Thousand” เป็นหนังที่อยากพาคนดูย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองในวัย 14 นี่คือหัวใจหลักที่เราอยากจะเล่า อยากให้ทุกคนได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คิดถึงความทรงจำของตัวเอง กลับบ้านไปหารูปสมัย 14 มานั่งดู ตอนนั้นเราเป็นยังไงบ้าง มีเพื่อนสนิทแก๊งไหน เจอเรื่องราวอะไรบ้าง แล้วก็ค่อยๆ รื้อความทรงจำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนอาจมีทั้งช่วงเวลาที่มีพลังงานบวกและลบ แต่อยากให้ได้หยิบพลังงานที่ดีของวัยนั้นนำมาปรับใช้ใหม่กับตัวเองในปัจจุบัน 

เราลองมารื้อฟื้นความทรงจำสมัย 14 ของตัวเอง ตอนที่เรายังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีคอมเมนต์ที่ทะเลาะกันรุนแรงขนาดนี้ ช่วงเวลาที่เรามีความรู้สึกแบบไหนก็พูดและแสดงออกไปเลย ทะเลาะอะไรก็พูดให้จบตรงนั้น ไม่มีดราม่ายืดยาว ก็แค่อยากให้ทุกคนได้มาเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำร่วมกัน กำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 12 ตุลาคม 2566 ครับ

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

  • คุยกับ “จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์” ผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS กับมุมมองชีวิตที่ไม่มีคำว่าทางตัน
  • ก้องเกียรติ โขมศิริ "ขุนพันธ์ 3" ไม่ใช่แค่ศรัทธา แต่คือจิตวิญญาณคนทำหนังไทย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...