Digital Twin: พลิกโฉมจัดการภัยพิบัติยุคใหม่

การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่แต่ละครั้ง ประชาชนจำนวนมากก็มักจะรอจนน้ำมาถึงระดับหนึ่งแล้วจึงอพยพซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์และทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในประเทศที่ก้าวหน้าในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ได้นำเทคโนโลยี Digital Twin หรือ ฝาแฝดดิจิทัล มาใช้ร่วมในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ

Digital Twins เป็นเทคโนโลยีที่จำลองสภาพแวดล้อมและระบบทางกายภาพในโลกจริงให้ไปอยู่ในรูปแบบ “โลกดิจิทัล” แบบจำลองของวัตถุ ระบบ หรือโครงสร้างต่าง ๆ จะสะท้อนการทำงานและการเปลี่ยนแปลงในโลกจริง

การใช้ Digital Twin ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล และทดลองวิธีแก้ไขปัญหาในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงในดิจิทัลได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายต่อวัตถุหรือสถานการณ์จริง

Digital Twins นำมาใช้ในการจัดการภัยพิบัติ จึงช่วยจำลองสถานการณ์ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ในพื้นที่เสี่ยง ช่วยคำนวณผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน และวางแผนอพยพประชาชนได้อย่างแม่นยำ

ในญี่ปุ่นนำ Digital Twin มาใช้จัดการภัยพิบัติโดยสร้างแบบจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญสามารถทดสอบแนวทางการตอบสนองในสภาพแวดล้อมปลอดภัยหรือโลกดิจิทัลก่อน และปรับปรุงแผนการรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริงต่อไป

ตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดการแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น Digital Twins ช่วยจำลองการสั่นไหวของอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากจะช่วยปรับปรุงการออกแบบอาคารให้ทนทานแล้ว ยังช่วยให้เมืองและชุมชนเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หรือ การจัดการน้ำท่วม Digital Twins ช่วยให้ภาครัฐสามารถจำลองปริมาณน้ำฝนขนาดต่างๆ และการไหลของน้ำในระบบแม่น้ำเพื่อคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อให้สามารถวางแผนอพยพประชาชนและวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในข้อดีที่สำคัญของ Digital Twins คือความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์จากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลและจำลองเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง

การใช้เซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (IoT) ในการตรวจสอบสภาพอากาศ การเคลื่อนไหวของแผ่นดิน และข้อมูลอื่น ๆ ช่วยให้ Digital Twins สามารถสร้างแบบจำลองพื้นที่ที่แม่นยำขึ้นและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ แบบจำลองยังสามารถเรียนรู้และปรับปรุงข้อมูลจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

เช่น การจำลองแผ่นดินไหวสามารถปรับปรุงจากข้อมูลของแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์ผลกระทบในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้อย่างแม่นยำ

ญี่ปุ่นยังนำ Digital Twin มาใช้ในการวางแผนสร้างเมืองที่ทนทานต่อภัยพิบัติ โดยใช้ข้อมูลจาก Digital Twin ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน และระบบน้ำที่สามารถทนทานต่อภัยพิบัติได้

นอกจากนี้การใช้ Digital Twin ยังช่วยในการวางแผนการอพยพประชาชน โดยจำลองเส้นทางการอพยพที่ปลอดภัยและรวดเร็วที่สุดในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น

หนึ่งในเหตุการณ์ดินถล่มครั้งใหญ่ซึ่ง Digital Twin มีบทบาทสำคัญคือ เหตุดินสไลด์ที่เมืองอาตามิ (Atami) ในเดือน ก.ค.2564 เหตุการณ์นี้เกิดจากฝนตกหนักในช่วงฤดูพายุ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของดินบนเนินเขาที่อยู่เหนือเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดดินสไลด์ขนาดใหญ่ไหลลงมาทำลายบ้านเรือนและคร่าชีวิตประชาชนไปหลายคน

Digital Twin นำมาใช้เพื่อจำลองและวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของดินและหินจากเนินเขา ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดดินสไลด์เพิ่มเติมหลังจากเหตุการณ์แรก

และวางแผนในการอพยพประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทันท่วงที การจำลองดังกล่าวช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และยังช่วยวางแผนป้องกันการเกิดดินสไลด์ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน (ผู้ที่สนใจสามารถดูสารคดีการใช้ Digital Twins ในการจัดการเรื่องดินถล่มที่อาตามิได้ในเว็บไซต์ของ NHK World)

Digital Twin สามารถนำมาใช้ในการจัดการกับภัยพิบัติได้ทุกประเภท เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถจำลองสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในหลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ดินถล่ม น้ำท่วม ไฟป่า

หรือภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมหรือการรั่วไหลของสารเคมี รวมถึงการจำลองสถานการณ์ที่ซับซ้อน เช่น การแพร่ระบาดของโรคและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

ประเทศไทยควรนำ Digital Twin มาใช้ในการจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อย เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม และไฟป่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยจำลองสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนป้องกันและจัดการการอพยพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ Digital Twin ยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยพิบัติ เช่น ถนน เขื่อน และระบบระบายน้ำ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของเมืองและชุมชนในระยะยาว 

เทคโนโลยีนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประเทศไทยควรพิจารณาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

คาดชาวจอร์เจียใช้สิทธิล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์

กาเบรียล สเตอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ แบรด ราฟเฟน สเปอร์เกอร์ เลขานุการรัฐจอร์เจียกล...

ผู้พิพากษารัฐจอร์เจียสั่งระงับกฎให้นับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งด้วยมือ

เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โรเบิร์ต แม็คเบอร์นี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาล ฟุลตัน เคาน์ตี...

ทรัมป์ได้เงิน ‘คริปโท’บริจาค มูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์

ตามเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งรัฐบาลกลางในวันอังคาร (15 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า...

‘อีลอน มัสก์’ นำทัพเศรษฐีทุ่มเงินช่วยทรัมป์

CNN รายงานข่าวว่า รายงานใหม่ที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับ ดูแลของรัฐบาลกลางเมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) ตามเวล...