ไทยอยู่อันดับ 43 ของโลก ดัชนีวัดความก้าวหน้าเอไอปี 2024

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้เขียนบทความนำเสนอผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอรวมทั้งประเทศไทยด้วย

โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทยเชื่อมั่นต่อเรื่องของเอไออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะกระแสการตลาดในบ้านถูกกล่าวถึงสูงมากในทุกวงการ

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ เราเตรียมพร้อมกับการแข่งขันในระดับโลกได้แค่ไหน? เรามีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านเอไอตามความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของผู้คนมากน้อยเพียงใด?

มีคนบอกกันว่า การแข่งขันด้านเอไอเป็นการแข่งขันในโลกยุคใหม่ เสมือนในอดีตที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเคยแข่งกันไปอวกาศ แต่ด้านเอไอเปลี่ยนการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจเป็นสหรัฐอเมริกากับจีน

ทั้งนี้มีผลการวัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเอไอของแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นผลสำรวจที่จัดทำโดย Tortoise Media มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 และในปีนี้ก็ได้เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดออกมาเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จากรายงานเรื่อง Global AI Index 2024 ครอบคลุม 83 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดอันดับประเทศตามการนำนวัตกรรม การลงทุน บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งในปีนี้ก็มีการนำประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งในการจัดอันดับ

วิธีการจัดอันดับของ Global AI Index มีความละเอียดและครอบคลุม โดยใช้ข้อมูลจาก 24 แหล่ง ที่มาจากรายงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ จากฐานข้อมูลสาธารณะ จากองค์กรนานาชาติ บริษัทเอกชน รวมถึงการสำรวจโดยตรงของ Tortoise Media ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 122 รายการ

การสำรวจแบ่งการวัดออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ การประยุกต์ใช้ (Implementation) นวัตกรรม (Innovation) และการลงทุน (Investment) โดยแต่ละหมวดหลักยังแบ่งย่อยเป็น 7 หมวดย่อยที่ครอบคลุมการวัดทั้งหมด 122 ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่ ความสามารถบุคลากร โครงสร้างพื้นฐานสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ และยุทธศาสตร์ภาครัฐ

ผลการจัดอันดับล่าสุดได้เปิดเผยภาพรวมที่น่าสนใจของการแข่งขันด้าน AI ระดับโลก โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้:

สหรัฐ ยังครองผู้นำด้านเอไอของโลก ทิ้งห่างจีนซึ่งอยู่ในอันดับ 2 มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนจีนได้ 54 คะแนน ทั้งสองประเทศนี้นำหน้าประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้คะแนนในหมวดย่อยทั้ง 7 หมวด สหรัฐอเมริกาชนะจีนในทุกหมวด และครองอันดับหนึ่งของโลกเกือบทั้งหมด ยกเว้นด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่อิตาลีอยู่อันดับ 1 และด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐที่ซาอุดีอาระเบียอยู่อันดับ 1

สิงคโปร์ ยังคงอันดับ 3 แซงหน้าสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คะแนนตามห่างๆ โดยมี 34 คะแนน สิงคโปร์ทำคะแนนสูงในตัวชี้วัดเชิงเปรียบเทียบหลายด้าน เช่น จำนวนนักวิทยาศาสตร์เอไอต่อประชากรล้านคน นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการวิจัยและการลงทุนด้านเอไอ

สหราชอาณาจักร รักษาอันดับ 4 ได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่ ฝรั่งเศส ก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่อันดับ 5 เข้าสู่กลุ่มประเทศชั้นนำด้านเอไอเป็นครั้งแรก แม้สหราชอาณาจักรจะแข็งแกร่งในด้านเอไอเชิงพาณิชย์ แต่ฝรั่งเศสกลับทำผลงานได้ดีกว่าในด้านการพัฒนาแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (open-source LLM) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐและการประมวลผล

เกาหลีใต้ ยังคงอยู่อันดับ 6 โดดเด่นในการประยุกต์ใช้เอไอ ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม 10 อันดับแรกรวมถึง อิสราเอล ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 3 สำหรับการลงทุนด้านเอไอของภาคเอกชน และ แคนาดา ซึ่งมียุทธศาสตร์ภาครัฐด้านเอไอที่ครอบคลุมเป็นอันดับ 3

อินเดีย ก้าวสู่ 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก โดยโดดเด่นด้วยบุคลากรเอไอ ที่แข็งแกร่งและหลากหลายอย่างไรก็ตาม บุคลากรด้าน AI ของอินเดียส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในต่างประเทศ และความสำเร็จด้านเอไอของประเทศยังไม่ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนและความสามารถในการประมวลผลในระดับสูง

รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มงบประมาณด้านเอไอไปมาก โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภาครัฐมีการใช้จ่ายด้าน AI สูงกว่าสหรัฐฯ และจีนอย่างมีนัยสำคัญ

การลงทุนภาคเอกชนด้านเอไอโดยรวมทรงตัว แต่การลงทุนในด้าน Generative AI มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ตลาด Generative AI ยังถูกครอบงำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งของสหรัฐ

ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลกมีเพียง 9 คะแนน โดยเราเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 39 โดยนำหน้าอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับ 49 ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 58 และฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 67 แต่อย่างไรก็ตามช่วงอันดับที่ 35 ลงมาคะแนนจะห่างกันเพียงแค่ 2-3 คะแนนเท่านั้น

เมื่อพิจารณาอันดับในหมวดย่อยจะพบว่า ไทยมีอันดับที่ดีที่สุดคือ ด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐ อยู่อันดับ 16 และด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 23 ส่วนด้านอื่นๆ จะอยู่อันดับค่อนข้างต่ำ ด้านระบบนิเวศเชิงพาณิชย์อยู่อันดับ 54 ด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ด้านการวิจัย และด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ต่างก็อยู่อันดับ 63

หมวดที่ดูน่าเป็นห่วงที่สุดคือ ด้านบุคลากรที่เราอยู่อันดับ 66 และมีคะแนนเพียง 3 จาก 100 ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดต่างๆ ในหมวดย่อยนี้คะแนนประเทศไทยน้อยมาก โดยมีคะแนนด้านนักพัฒนา 5.3 ด้านบุคลากรในวิชาชีพเอไอ 4.3 และด้านนักวิทยาศาสตร์เอไอ 0.6 ซึ่งคะแนนหมวดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในด้านการแข่งขันเทคโนโลยีเอไอที่ต้องเน้นบุคลากรที่เก่งและมีจำนวนมากพอ

ดัชนีนี้เป็นโอกาสที่ดีในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของเราในด้านเอไอเพื่อวางแผนพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าผลการจัดอันดับจะเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญคือการนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาเอไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในยุคปัญญาประดิษฐ์นี้ และข้อสำคัญอย่าเพียงมุ่งเน้นสร้างภาพการตลาดว่าเราจะก้าวสู่ผู้นำเอไอโลก โดยไม่สนใจข้อมูลศักยภาพของประเทศไทยเราอย่างแท้จริง

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

หา 'เหตุผล' ทำไม 'ไทยคม' คือหนึ่งเดียวประมูล 3 วงโคจรดาวเทียม

เราอาจจะคุ้นหูกับการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 'โทรศัพท์มือถือ' ไล่ตั้งแต่ 3G 4G และล่าสุด 5G แต่จริงๆ...

ไทยอยู่อันดับ 43 ของโลก ดัชนีวัดความก้าวหน้าเอไอปี 2024

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้เขียนบทความนำเสนอผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้...

‘กูรู’ ยก ‘วายุภักษ์’ ดันหุ้นไทยพุ่ง รับ ‘ฟันด์โฟลว์’ เข้ากว่า ‘หมื่นล้าน’

แม้ว่า “ตลาดหุ้นไทย” ยังคงเผชิญกับผลกระทบจากทั้ง ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ยิ่งเฉพาะสงครามตะวันออกก...

หุ้นสหรัฐทำนิวไฮ ดาวโจนส์ปิดเหนือ 43,000 จุดครั้งแรก รับแรงซื้อหุ้นเทคฯ

ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดบวกที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ในวัน...