“นายกฯ อิ๊งค์” ใส่ชุดผ้าไทยของแม่ ร่วมวงประชุมอาเซียน ปลื้มไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก UNHRC

“นายกฯ แพทองธาร” มุ่งสร้างสันติทะเลจีนใต้ ใช้นามอาเซียน หนุนสันติภาพคาบสมุทรเกาหลี ชวนเกาหลีร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยก 3 ยุทธศาสตร์ร่วมมือญี่ปุ่น สวมชุดผ้าไทยของแม่ สมัยเป็นภริยานายกฯร่วมประชุม ปลื้มไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก UNHRC พร้อมทำงานร่วมแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน

วันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สปป.ลาว ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจัดเป็นวันที่ 2 เวลา 09.10 น. มีการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 ซึ่งมีนายหลี่ เฉียง นายกฯจีนเข้าร่วมโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯกล่าวถ้อยแถลงว่า ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน เป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพอีกมากที่จะพัฒนาร่วมกัน ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน โดยเน้นย้ำความร่วมมือที่ให้ความสำคัญ 3 ประการ คือการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งควรเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเรา ขึ้นอยู่กับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นสาเหตุของความกังวลร่วมกัน ซึ่งจุดยืนตามหลักการของประเทศไทยคือ การยุติข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการทูต การเจรจา สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เพื่อช่วยเมียนมาหาทางออกอย่างสันติที่นำโดยเมียนมาและเป็นของเมียนมาเอง

จากนั้นเวลา 10.15 น. น.ส.แพทองธาร ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ระหว่างผู้นำอาเซียนกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 ซึ่งมีนาย ยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดี สาธารณรัฐเกาหลีร่วมการประชุม โดยน.ส.แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศผู้ประสาน Coordinator ว่า การพัฒนาแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2569-2573) จะเป็นแนวทางความร่วมมือในอนาคต อาเซียนชื่นชมการสนับสนุนของเกาหลีใต้ต่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมุมมองของอาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิก ผ่านกลไกที่นำโดยอาเซียน ในส่วนของคาบสมุทรเกาหลี อาเซียนเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามมติ UNSC พร้อมย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ และใช้กลไกของอาเซียน อาทิ ARF ส่งเสริมบรรยากาศการเจรจาอย่างสันติ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ อาเซียนสนับสนุนความพยายามของเกาหลีใต้ในการเจรจาอย่างสันติและต่อเนื่องเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน

...

จากนั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวแถลงการณ์ของประเทศไทย โดยได้หยิบยกวิสัยทัศน์ “ABC” ในการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน กับเกาหลีใต้ นั่นก็คือ ด้าน “A” Advanced Technology การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เกาหลีใต้ในฐานะผู้นำนวัตกรรมหลายประเภท สามารถมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน “B” Balanced development คือการพัฒนาที่สมดุล สร้างอนาคตที่เท่าเทียมยั่งยืน และยืดหยุ่นมากขึ้น และ “C” Creative economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น หลายเรื่องที่ไทยได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของเกาหลีใต้ โดยขอชื่นชมการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ใน “Seminar on Thailand and Creative ASEAN” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้ว และประเทศไทยและเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นจุดสนใจหลักของงานวันอาเซียน-เกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้

ยก 3 ยุทธศาสตร์ร่วมมือญี่ปุ่น

ต่อมาเวลา 11.30 น. น.ส.แพทองธาร พร้อมผู้นำอาเซียน ร่วมประชุมกับนายชิเกรุ อิชิบะ นายกฯญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่าแสดงความยินดีต่อนายชิเกรุ อิชิบะ ในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่ง นายกฯ ญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือไว้วางใจ และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่น จะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการ คือ การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัล การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว และ การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เชื่อมั่นว่าหากมีการพัฒนาตามกรอบ 3 ประการ นี้ จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น

จ้องเรียนรู้ซอฟต์พาวเวอร์จากเกาหลี

ก่อนที่เวลา 12.30 น. น.ส.แพทองธาร จะได้ หารือทวิภาคีกับ นายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯเปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และยินดีที่มีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยตั้งเป้าสรุปการเจรจาภายในปลายปี 2568 นี้ รวมทั้งยังมีโครงการลงทุนร่วมกันหลายโครงการ เช่น โครงการของบริษัท Hyundai ที่จะลงทุนตั้งฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและสันดาปในไทย ซึ่งจะช่วยดึงดูดบริษัทรายย่อยจากเกาหลีใต้ให้มาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ส่วนอุตสาหกรรมคอนเทนต์และซอฟต์พาวเวอร์นั้น รัฐบาลไทยกำลังจัดตั้งหน่วยงาน Thailand Creative Culture Agency (THACCA) โดยหวังที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของ KOCCA ของเกาหลีใต้ ทั้งสองฝ่ายยังยินดี ในโอกาสครบรอบ 35 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้โดย ไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ในการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และได้รับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-เกาหลีใต้ พร้อมสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ต่อไป

อาเซียน +3 สำเร็จได้ด้วยความสัมพันธ์

ต่อมาเวลา 14.00 น. น.ส.แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three: APT) ครั้งที่ 27 โดยมีผู้นำประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่ง APT จะมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ และขอเน้นย้ำถึง 3 ประเด็นสำคัญในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง ประการแรก คือการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ประการที่สอง การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ และประการที่สาม คือการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดตั้ง Rapid Financing Facility ภายใต้มาตรการริเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในกลไกของ APT ความพยายามร่วมกันของ APT จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศคู่เจรจา +3 โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีที่ดีอย่างเต็มที่

โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีได้สวมใส่ชุดผ้าไทยจากโครงการแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ สมัยครั้งเป็นภริยานายกรัฐมนตรี กว่า 20 ปีที่แล้ว

ปลื้มไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก UNHRC พร้อมร่วมแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน

ด้านนายจิรายุเปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ได้รับรายงานจาก รมว.ต่างประเทศ ว่าประเทศไทยได้รับเกียรติในการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี พ.ศ. 2568-2570 (United Nations Human Rights Council: UNHRC) จากการลงคะแนนเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

โดยการเลือกตั้งวาระนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดถึง 177 คะแนน ในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก UNHRC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 68 นี้ โดยจะมีวาระ 3 ปี ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเลือก รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ได้แก่ ไทย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัส เช็ก คองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนยา หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

UN โหวตไทย เป็นคณะมนตรี UNHRC 1 ใน 18 ประเทศด้วยคะแนนสูงสุด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รั...

ชาวอเมริกันในไทยหย่อนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าคึกคัก

วันนี้ (10 ต.ค.2567) ชาวอเมริกันประมาณ 20 -30 คน ออกมาหย่อนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน้าสถานทูตสหรัฐใ...

‘อาร์โนลต์’ ขยายอาณาจักรสู่ ‘วงการฟุตบอล’ รุกซื้อหุ้นสโมสรปารีส เอฟซี

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “ตระกูลอาร์โนลต์” เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรู LVMH ระดับโลก ใกล้บรรลุข้อต...

COP29 เปิดตัวพอร์ทสั่งอาหารออนไลน์ เมนูยั่งยืน เชื่อมโยงวัฒนธรรมทั่วโลก

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2024 The COP29 Azerbaijan Operating Company บริษัทดำเนินงาน COP29 ในประเทศอาเซอ...