เรียนรู้และต่อยอด

ช่วงเดือนนี้นับเป็นเทศกาลฉลองการจบการศึกษาของบัณฑิตใหม่จากหลายๆ สถาบันทั่วประเทศไทย เราจึงเห็นบรรยากาศแห่งการแสดงความยินดีแก่ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคน ซึ่งผมเองก็ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกท่านประสบความสุขความสำเร็จในอนาคตต่อไป

สิ่งที่อยากฝากให้คิดก็คือการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นไม่ได้หมายถึงการขึ้นสู่จุดสูงสุดของกระบวนการเรียนรู้ในชีวิต แม้ว่าทุกคนจะต้องฝ่าฟันและทุ่มเทเรียนหนังสืออย่างหนักมาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัยซึ่งกินเวลาไปถึง 16 ปีซึ่งเกือบเท่าเวลาทั้งชีวิตของเหล่าบัณฑิตใหม่

แต่ปริญญาบัตรที่ได้นั้นเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราผ่านเกณฑ์การเรียนรู้เบื้องต้นที่พอจะทำให้เราพร้อมทำงานได้ แต่ความรู้ที่เรามีนั้นเป็นข้อมูลที่อาจารย์รวบรวมจากความรู้ในอดีตเพื่อสอนให้เรานำไปใช้ในอนาคตหลังจากที่เราสำเร็จการศึกษา

เมื่อเรากระโจนเข้าสู่การทำงานในโลกของความเป็นจริงจึงพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เรียนมานั้นไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันเพราะในช่วงที่เรากำลังเรียนหนังสืออยู่นั้นโลกธุรกิจก็กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

การสำเร็จการศึกษาในวันนี้จึงเป็นเหมือนด่านแรกของความสำเร็จที่เปิดประตูให้เราเข้าไปเรียนรู้ในด่านต่อๆ ไปซึ่งมีอีกมากมายหลายด่าน ซึ่งคนที่สำเร็จการศึกษามานานหลายๆ ปีอาจจะพบว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้นแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้ใช้ได้อีกแล้ว

ปริญญาบัตรจึงไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้เรียนจบแล้วอย่างที่เคยคิด แต่ควรเป็นใบที่ยืนยันสถานะของเราว่าเป็นผู้ที่เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่กระแสเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนดูเหมือนเร่งเวลาให้เดินเร็วขึ้นจนเราแทบจะต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา

ชุดความคิดของบัณฑิตยุคปัจจุบันจึงต้องเป็นผู้ที่ตระหนักว่าตัวเรานั้นยังจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ อีกมาก และเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็ต้องคิดถ่ายทอดให้ผู้อื่นซึ่งจะยิ่งทำให้เรามีความแตกฉานในเรื่องนั้นเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ และสำคัญที่สุดคือเมื่อได้เรียนรู้แล้วต้องมองต่อไปยังอนาคตซึ่งจะเห็นว่าเรายังไม่เก่งพอ 

แต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพื่อให้ตัวเราเองมีขีดความสามารถมากพอที่จะอยู่ในโลกธุรกิจต่อไปได้

หากคงความคิดเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานไปจนถึงระยะเวลาหนึ่งที่เติบโตไปเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นหัวหน้างานได้ เราก็จะมีกลไกในการสร้างการเติบโตให้องค์กรได้โดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่แล้วถ่ายทอดให้ทีมงานได้รับรู้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นเหมือนการโค้ชให้เขาเก่งขึ้นและกลายเป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้

แต่หัวหน้าก็ต้องรู้จักเปิดโอกาสให้ลูกน้องหรือทีมงานได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับตัวเองด้วยเช่นกันเพราะโลกทุกวันนี้กลับด้านจนสิ่งใหม่ ๆ อาจเริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่ก่อนสักพักก่อนจะมาถึงคนรุ่นเก่า

หลายๆ ครั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จึงมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องใหม่ไปพร้อม ๆ กัน เช่นเดียวกับในวันนี้ที่พ่อแม่อาจต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากลูก เพราะเขาเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้มากกว่าคนรุ่นเก่าการเป็นคนรุ่นเก่าหรือเป็นคนที่มีอาวุโสมากกว่าจึงไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ผูกขาดการถ่ายทอดความรู้แต่เพียงฝ่ายเดียว

เพราะความรู้ไม่ได้ผูกอยู่กับอายุ คนที่อายุน้อยกว่าอาจเป็นผู้ที่ทรงภูมิปัญญามากกว่า การเรียนรู้จึงไม่มีข้อจำกัดใดๆ และการถ่ายทอดความรู้ก็เช่นกัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

โลกจับตามาตรการกระตุ้นของ 'จีน' วันนี้ อาจใหญ่เท่าอัดฉีด 4 ล้านล้าน ปี 2008

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างความเห็นบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่อการเตรียมแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน...

หนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้ง ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ รุกเดินสาย‘สวิงสเตต’

รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการเดินสายออกทีวี วิทยุ และพอดแคสต์ เริ่...

ผู้นำพูดเอง ฮามาสจะคืนชีพเหมือนนกฟินิกซ์ l World in Brief

ผู้นำพูดเอง ฮามาสจะคืนชีพเหมือนนกฟินิกซ์ นายคาเล็ด เมชาล ผู้นำกลุ่มฮามาสที่ลี้ภัยในต่างแดนให้สัมภาษณ...

ผิดหวัง! จีนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ไม่แรงพอ ฮั่งเส็งร่วง 10% หุ้นอสังหาฯ ดิ่ง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การแถลงข่าวของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ของรัฐบาลจีน เผย...