‘บิ๊กเทค - โทรคม’ สะท้อนภาพ ‘AI - ดาต้าเซนเตอร์’ ตัวแปรสร้างจุดเปลี่ยนไทย

เวทีเสวนา Development & Future of AI & Data Centers in ASEAN งาน ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025 the rise of asean a renewing opportunity จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ”

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดมุมมองว่า ดาต้าเซนเตอร์ และศักยภาพการประมวลผลเปรียบเสมือนมันสมอง ประเทศที่มีความพร้อมในด้านนี้ย่อมมีศักยภาพในการแข่งขันที่มากขึ้น ยิ่งขยายยิ่งเพิ่มศักยภาพ

ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม เอไอเอสเองมีการลงทุนอย่างมากในการขยายดาต้าเซนเตอร์ เพื่อรองรับการประมวลผล พัฒนาการให้บริการลูกค้า

นอกจากนี้ มีการใช้ AI เพื่อลดต้นทุน ช่วยในการประมวลผล ลดการใช้พลังงานซึ่งทำให้การประสิทธิภาพการบริหารจัดการสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 15% ทั้งยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการกว่า 3 แสนร้านค้าทั่วประเทศ พัฒนาสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเพิ่มโอกาสการขายให้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ประโยชน์โดยตรงที่เห็นได้แล้วชัดเจน คือ ภาคการบริการ อีกทางหนึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจในหลากหลายมิติ

อย่างไรก็ดี โอกาสทางธุรกิจมีอยู่กว้างมากในหลายเซกเตอร์ และที่มองเห็นว่าจะมีส่วนสำคัญในการทรานส์ฟอร์มคือ ภาคการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำจากที่เด็กๆ แต่ละพื้นที่ได้รับโอกาสที่ไม่เท่ากัน เป็นเครื่องมือในการช่วยสอน เทคนิควิธีการใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลมีความใกล้เคียงกับเด็กในเมือง

เช่นเดียวกับภาคการผลิตเห็นประโยชน์ชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดการใช้งานคน และต่อไปปูทางไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต และกระจายสินค้าในระดับภูมิภาค

AI เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ทำให้โอกาสเข้าถึงทุกคน ส่วนการก้าวไปข้างหน้าที่สำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงวางกฎเกณฑ์ และกฎหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และดึงดูดนักลงทุน

ความพร้อม 5G หนึ่งในก้าวสำคัญ

ผู้บริหารเอไอเอสเผยว่า ด้วยความเปิดกว้างของคลาวด์ การขยายตัวของดาต้าเซนเตอร์ และ AI ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญยังมีการเก็บดาต้าสำคัญภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงเมื่อมีการประมวลผล และนำไปใช้ข้อมูลที่สอดคล้องไปกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาประเทศ และในระดับภูมิภาค

ประเมินขณะนี้ นับว่าดาต้าเซนเตอร์ในไทยยังมีอยู่น้อย จำเป็นต้องขยายให้เร็วกว่านี้ โดยเชื่อว่าถ้าทำได้จะมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ พร้อมรองรับการลงทุนที่จะเข้ามา

ส่วนของภาครัฐ ได้เห็นว่ามีการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายที่รองรับทั้งคลาวด์ AI ทว่าข้อใหญ่ใจความต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีพร้อมวางกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการลงทุน

เขากล่าวว่า การพัฒนาของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่ไทยนับว่ามีความได้เปรียบอย่างมากจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการสื่อสาร การเข้าถึงสมาร์ตโฟนที่มีมากกว่า 140% ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเปิดกว้างสำหรับโอกาสการเติบโต

โดยหนึ่งในก้าวสำคัญคือ การให้บริการ 5G ซึ่งไทยมีความพร้อมอย่างมาก ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอไอเอสเองมีการขยายโครงข่ายที่สามารถเข้าถึงแล้วในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเป็นรากฐานสำคัญ และจะยิ่งดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้นหากมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ถนนการสื่อสารที่มีความพร้อมทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อ และเกิดการพัฒนาต่อยอดในเชิงบวก

ดันไทย ‘ฮับ AI’ ระดับภูมิภาค

ด้าน ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงศักยภาพของ AI สู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ภายใต้ระบบนิเวศทางธุรกิจที่มั่นคง และน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรเหล่านี้

โดยทุกภาคส่วน จำเป็นต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในทุกมิติของ ESG ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างหลักประกันว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทั้งในประเทศไทย และนานาประเทศ

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การสร้างกรอบการคุ้มครองข้อมูลที่เข้มแข็ง ผลักดันให้เกิดการวางแผนในระดับชาติเกี่ยวกับจริยธรรมด้าน AI เพื่อสร้างหลักประกันด้านความเป็นธรรม และความโปร่งใส

เขากล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจาก AI โดยเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพในการพลิกโฉมหลากหลายภาคส่วน ทั้งด้านสาธารณสุข การผลิต และการตลาด กลุ่มทรูเองได้ริเริ่มแล้วในหลายกลยุทธ์สำคัญ อาทิ การเพิ่มหน่วยงาน Chief Customer & AI Officer ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร

อ้างอิงจากการศึกษา McKinsey & Company คาดการณ์ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยอาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจีดีพีของอาเซียนสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

ดังนั้น AI เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพธุรกิจ โดยมีโจทย์คือ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มศักยภาพการบริการ พัฒนาประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า เพิ่มโอกาส ความเท่าเทียม ภายใต้ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ มีระบบการทำงานที่สอดคล้อง ลดอคติ ขณะเดียวกันมีการผสานรวม และเชื่อมโยงเทคโนโลยีทั้งระดับโลคอล และโกลบอล

AI และดาต้าเซนเตอร์มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับบริการด้านปัญญาประดิษฐ์ และศูนย์ข้อมูล ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค

‘ทรู’ จุดประกาย ‘Responsible AI’

ชารัดมีมุมมองว่า คน ข้อมูล และเทคโนโลยี เป็นสามเสาหลักที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันมีการร่วมมือกันในอาเซียนเพื่อสร้างความร่วมมือ ทำงานร่วมกันแบบข้ามพรมแดนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือทั้งเชิงการพัฒนา และการป้องกันอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์

สำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น เสนอแนวคิด “Responsible AI” นำศักยภาพของ AI และดาต้าเซนเตอร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ และลดต้นทุน พร้อมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ โดยทรูพร้อมผลักดันแนวคิดการใช้ AI อย่างยั่งยืน คำนึงถึงความเป็นส่วนตัว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม

ที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้นำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบอัตโนมัติ และลดการใช้พลังงาน ซึ่งสอดคล้องในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

AI ได้ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้บริการ เพิ่มความเร็วในการให้บริการ ณ ศูนย์บริการถึง 35% พร้อมทั้งนำเสนอแชตบอตอัจฉริยะที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

นอกจากนี้ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน โดยสามารถลดการใช้พลังงานในหน่วยงานได้สูงสุดถึง 15% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการรักษาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากนี้ยังคงไม่อาจหยุดนิ่ง ต้องพยายามเรียนรู้ ปรับตัว เดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจด้วยดาต้า และ AI พร้อมสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างกัน

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องพัฒนาทักษะของคน

อรรณพ ศิริติกุล Director Google Cloud Thailand กล่าวว่า กูเกิลเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยราว 15 ปีแล้ว โดยได้สร้างอีโคซิสเต็มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริการกูเกิลเสิร์ช กูเกิลแมป กูเกิลคลาวด์ ซึ่งล่าสุดได้ประกาศลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท (1 พันล้านดอลลาร์) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย (Infrastructure) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในกรุงเทพฯ และชลบุรี

การที่เราผลักดันเรื่องเอไอจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพไปแข่งขันกับตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยส่งผลกับทุกอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างยูสเคสที่กูเกิลได้ร่วมมือกับบุญถาวร นำ Generetive AI ของกูเกิลคลาวด์อย่าง Vertex AI มาใช้เสริมศักยภาพของพนักงาน สร้างสัมพันธ์กับลูกค้า โดยช่วยให้พนักงานค้นหาข้อมูลทุกประเภท จากแหล่งข้อมูลแบบครบวงจรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และใช้งานง่ายกว่าที่ผ่านมา

สำหรับการลงทุน กูเกิลมอง 3 อย่าง ได้แก่ การขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มองเรื่อง Talent ที่อยู่ในประเทศไทย และมองเรื่องอีโคซิมเต็ม โดยทั้งสามอย่างนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดประโยชน์

สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องพัฒนาทักษะของคน หากมีเครื่องมือที่ล้ำสมัย แต่คนใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ กูเกิลได้เทรนนิ่งเรื่องของเทคโนโลยีให้กับครู 3.6 ล้านคน ในปี 2566 จุดประสงค์เพื่อทำให้พวกเขาใช้งานเทคโนโลยีใหม่เป็น และไม่ใช้อย่างสิ้นเปลือง

สำหรับด้าน Generetive AI กูเกิลได้เทรนไป 20,000 กว่าคนในปีที่แล้ว และในปีหน้าจะเทรนเพิ่มอีก 150,000 คน”

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ การผลักดันให้รัฐบาลเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” (Government Ecosystem) เช่น การมีระบบคลาวด์ที่เป็นสาธารณะ หรือพลับบลิคคลาวด์ คลาวด์ไพรเวท ตลอดจนคลาวด์เซนเตอร์ มีระบบความปลอดภัยสูงๆ เพื่อใช้รันข้อมูลภายในประเทศ

เหมือนกับที่กูเกิลได้ร่วมมือกับ AI Singapore เปิดตัวโครงการ SEALD สร้างชุดข้อมูลภาษาในอาเซียน เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) โดยภาษาชุดแรกคือ อินโดนีเซีย ไทย ทมิฬ ฟิลิปปินส์ และพม่า 

โครงการนี้จะช่วยสร้างคลังข้อมูลที่หลากหลาย ภาษาที่ใช้จะมีคุณภาพสูงเพื่อสนับสนุนการฝึกโมเดลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ SEA-LION (Southeast Asian Languages in One Network) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ AISG ที่ต้องการพัฒนากลุ่มโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ได้รับการฝึกล่วงหน้า และปรับแต่งคำสั่งมาโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริบททางวัฒนธรรม และความแตกต่างทางภาษาได้ดียิ่งขึ้น

อุปสรรคของการพัฒนาเอไอในประเทศอาเซียนคือ การมีกฎหมายที่ต่างกัน หรือบางประเทศก็ไม่มีกฎกติกาด้านเอไอที่รองรับธุรกิจ ทำให้ธุรกิจในประเทศที่ต้องการจะอินโนเวชันไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในเรื่องระเบียบการใช้งานด้านคลาวด์ และเอไอ ประเทศอาเซียนจะต้องร่วมมือกันจัดทำขึ้นมาให้เป็นนโยบายทิศทางเดียวกัน เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อดึงดูดในนักลงทุนเกิดการ Trust และแข่งขันระดับโลกได้

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังรูเปียห์ร่วงหนักในรอบปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (7 ต.ค.) ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) กำลังเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเ...

เกิดระเบิดใกล้สถานทูตอิสราเอลในเดนมาร์ก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เกิดระเบิดห่างจาก สถานทูตอิสราเอล ประจำกรุงโคเปนเฮเกนของ เดนมาร์ก ราว 500 เมต...

‘ทูตไทย-ตม.เกาหลีใต้’ ร่วมมือเข้ม ‘ลดผีน้อย’ เพิ่มแรงงานถูกกฎหมาย

กระแส “แบนเที่ยวเกาหลี” ของชาวไทยกระหึ่มโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ปลายปี 2566 เนื่องจากสำนักงานตรวจคนเข้...

รีวิว 'PICO 4 Ultra' แว่น VR/MR รุ่นใหม่สู่โลกเสมือนที่สมจริงยิ่งกว่าเดิม

ในยุคที่เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality - VR) และผสมความจริง (Mixed Reality - MR) กำลังเปลี่ยนแ...