ถอดบทเรียนสิงคโปร์ เอไอส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องยกให้สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรมีแต่คนที่พัฒนาเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า ในยุคสังคมสูงวัย เอไอก้าวหน้า มุมมองของสิงคโปร์ในการเตรียมคนจึงสำคัญที่ประเทศอื่นควรเรียนรู้ 

ชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ผู้ดูแลงานบริการสาธารณะ แสดงสุนทรพจน์ในงานประชุมผู้นำการเรียนรู้ตลอดชีวิตโลก ครั้งที่ 2 (Global Lifelong Learning Summit: GLLS 2024) ภายใต้ธีม “ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ในยุคปัญญาประดิษฐ์” สะท้อนถึงแนวทางอันน่าสนใจของสิงคโปร์ 

รัฐมนตรีชานยอมรับว่า มีการพูดคุยกันมากเรื่องเอไอ หลายคนกังวลว่าเอไอจะสร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิต การทำงาน ระบบการศึกษา และเผลอๆ เอไออาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกมิติในชีวิต 

“แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องตระหนักด้วยว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วนี้มีโอกาสใหม่ๆ อันทรงคุณค่าให้เราเสมอ” 

เวที GLLS 2024 เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสำคัญสองประการ ประการแรก เอไอกำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างเห็นได้ชัด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า การจ้างงานทั่วโลกเกือบ 40% ได้รับผลกระทบจากเอไอ หากเป็นเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าตัวเลขเพิ่มเป็น 60% ผลจากมีสัดส่วนงานทักษะสูงมากกว่า งานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจซ้ำๆ เช่น การประมวลผลข้อมูลที่ได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว เมื่อมีเอไอเข้ามาจึงเสี่ยงถูกแทนที่สูงขึ้น

แม้แต่งานสร้างสรรค์อย่างงานเขียนหรือการผลิตสื่อที่ต้องอาศัยความคิดริเริ่ม จินตนาการ และการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นลักษณะที่เอไอลอกเลียนแบบหรือจำลองได้ยาก ก็ได้รับผลกระทบจากเจนเนอเรทีฟเอไอเช่นกัน งานที่เอไอมีโอกาสแทนที่มนุษย์ได้น้อยกว่ามักเป็นงานที่ต้องอาศัยความใกล้ชิดและไว้เนื้อเชื่อใจสูง (ไฮทัชและไฮทรัสต์) เช่น การดูแลสุขภาพ

ทั้งหมดนี้ใช่จะเลวร้ายเสียทีเดียวในทัศนะของรัฐมนตรีชาน แต่ยังมีโอกาสมากมายมหาศาลด้วย กล่าวคืองานใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องการทักษะมนุษย์มาใช้ในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเอไอและการจัดการข้อมูล ผลิตภาพที่มากขึ้นจากการใช้เอไอช่วยให้คนงานมุ่งเน้นหน้าที่หลักได้มากกว่าเดิม เช่น การใช้ดุลพินิจของมนุษย์

“แท้จริงแล้วยิ่งเราใช้เทคโนโลยีก็ยิ่งจำเป็นใช้วิจารณญาณของมนุษย์มากขึ้นว่าจะใช้กับอะไร ใช้อย่างไรให้ถูกต้องตามจริยธรรม ใช้มากแค่ไหนและใช้กับใคร” รัฐมนตรีกล่าวและว่า การเปลี่ยนแปลงประการที่ 2 คือ เทคโนโลยีการศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการการศึกษาและการฝึกฝนทักษะอย่างรวดเร็วเช่นกัน

รัฐมนตรีชานยกตัวอย่างในอดีตที่ห้องเรียนแบบดั้งเดิมมักเจอปัญหาคลาสสิกสามประการ กล่าวคือ ไม่สามารถสอนนักเรียนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ไปพร้อมๆ กัน ถ้าต้องการคุณภาพกับนักเรียนจำนวนมากอาจต้องใช้ต้นทุนสูง ถ้าต้องการคุณภาพในราคาเข้าถึงได้อาจได้นักเรียนจำนวนไม่มาก ถ้านักเรียนมากในราคาเข้าถึงได้คุณภาพก็อาจไม่สูงนัก เมื่อเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งห้องเรียนจริงและห้องเรียนดิจิทัลจึงสามารถทะลายทางตันสามประการนี้

“เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนำเสนอการบรรยายสั้นๆ แม้แต่บนติ๊กต็อกที่เราเรียกว่า “เทคต็อก” เพื่อให้ผู้คนได้ชมเนื้อหาย่อยง่ายเวลาใดก็ได้”

  • บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

รัฐมนตรีชานกล่าวต่อไปว่า การใช้ประโยชน์จากเอไอในฐานะตัวเพิ่มศักยภาพของมนุษย์   ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาท เริ่มต้นจาก

ปัจเจกบุคคล 

ทุกคนต้องเรียนรู้การใช้เอไออย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม พร้อมเน้นย้ำให้ระมัดระวังไม่มุ่งเน้นเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลและเอไอจนลืมทักษะสำคัญอื่นๆ เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์ และความร่วมมือ 

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยจิตวิญญาณของความอยากรู้อยากเห็นซึ่งต้องบ่มเพาะตั้งแต่อายุยังน้อย” 

  • ภาคธุรกิจ

เมื่อองค์กรปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่และพิจารณารูปแบบธุรกิจใหม่ พวกเขาจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้พนักงานได้รับทักษะที่ถูกต้องเพื่อทำงานได้ต่อไป

ทุนมนุษย์ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ผู้นำที่ลงทุนกับพนักงานและใช้เอไอได้ดีจะสามารถเพิ่มผลผลิตและประหยัดกำลังคนได้

“แต่บทบาทของการใช้เอไอในอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น สิ่งใหม่ที่แท้จริงของภาคธุรกิจจะต้องหมายถึงการทำสิ่งที่ดีกว่าด้วย ในความเป็นจริงการทำสิ่งที่ดีกว่าด้วยเอไออาจเป็นพื้นฐาน 101 ที่เราต้องมุ่งมั่นไปสู่"

  • สถาบันการศึกษาและวิจัย

สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มทักษะ (อัพสกิล) ระดับชาติ

ห้องเรียนเคยเป็นที่รวมของผู้เรียนทั่วๆ ไปส่วนใหญ่มีภูมิหลังเหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาเพราะนักเรียน 50% พบว่าหลักสูตรยากเกินไป 50% พบว่าง่ายเกินไป เท่ากับว่าเกิดความผิดพลาด 100%

ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นมีความต้องการแตกต่างกันยิ่งกว่า มาจากหลากหลายภูมิหลัง ถ้ายังใช้วิธีเดียวกับที่เคยสอนนักเรียนที่มีภูมิหลังเหมือนๆ กันย่อมไม่ยุติธรรมสำหรับผู้เรียนในวัยผู้ใหญ่ หรือกับเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปในการนี้

 รัฐมนตรีชานยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) ได้พัฒนาแอพพลิเคชันใช้เครื่องมือทำงานโดยเอไอช่วยศิษย์เก่าเลือกหลักสูตรเพิ่มทักษะที่เอ็นยูเอส ระบบเอไอจะระบุทักษะปัจจุบันที่ศิษย์เก่ามี แนะนำบทบาทงานที่เป็นไปได้และทักษะที่จำเป็น จากนั้นแนะนำหลักสูตรเพิ่มทักษะที่เหมาะสมของเอ็นยูเอสให้แก่ศิษย์เก่า

“อย่างไรก็ตามก่อนนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตนักเรียนนักศึกษา เราต้องสร้างและเสริมแกร่งให้กับรากฐานด้านสังคม-อารมณ์ของนักเรียนเสียก่อน” รัฐมนตรีย้ำ

รัฐบาล

บทบาทของรัฐบาลในสภาพแวดล้อมใหม่คือแสดงความเป็นผู้นำทางความคิดถึงการใช้เอไออย่างมีจริยธรรมในการกำหนดกติกาเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้มั่นใจได้ว่ามีกฎเกณฑ์ กรอบการทำงานสำหรับทุกธุรกิจและสถาบัน เพื่อทดลองและค้นหาวิธีการทำงานด้วยแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถบรรลุผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งขึ้น

รัฐมนตรีชานย้ำในตอนท้ายว่า ทั่วโลกมีปัญหาใหญ่ๆ มากมายให้ต้องแก้ไขตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพและอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือใหม่ค้นหากรอบการทำงานใหม่ๆ เพื่อให้สามารถใช้เอไอปรับปรุงการกำกับดูแลและปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ถอดบทเรียนสิงคโปร์ เอไอส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องยกให้สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรมีแต่คนที่พัฒนาเป็นทรัพยากรอัน...

มองยุคถ่านหินสิ้นสุดในสหราชอาณาจักร

ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของชาวสหราชอาณาจักร (ประกอบด้วย อังกฤษ สกอตแ...

The Fed’s rate cut and implications for investors

ในเดือนที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติด้วยการเริ่มปรับลดอัตราดอ...

เกษียณอย่างเกษม

ในเดือนตุลาคมนี้มีผู้เกษียณอายุงาน เข้าสู่ ”วัยอิสระ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผู้สูงวัยอีกจำนวนหนึ่...