‘เฮอร์ริเคนซอมบี้’ พายุไม่ยอมสงบ สลายไปแล้วแต่ฟื้นตัวมาใหม่ เพราะ ‘โลกร้อน’

พายุเฮอร์ริเคนที่มีชื่อว่า “จอห์น” พัดขึ้นชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเม็กซิโกสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยความรุนแรงระดับ 3 ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ของผู้คนจำนวนมาก จากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงและสลายตัวลงเหนือภูเขาในรัฐเกร์เรโร ทุกอย่างควรจะจบ แต่พายุลูกนี้กลับมามีกำลังแรงอีกครั้ง และพัดเข้าชายฝั่งเม็กซิโกซ้ำที่เดิม ทำให้นักอุตุนิยมวิทยาเรียกพายุลูกนี้ว่า “พายุซอมบี้” หรือ “ซอมบี้เฮอร์ริเคน

ซอมบี้เฮอร์ริเคน” ถูกใช้ครั้งแรกในปี 2020 โดยนักอุตุนิยมวิทยาจากสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐ เพื่ออธิบายพายุที่สลายตัวไปแล้วแต่ก็กลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยพายุลูกแรกที่ถูกเรียกว่าพายุซอมบี้คือ พายุเฮอร์ริเคนที่ชื่อ “พอเล็ตต์” ที่ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งใกล้กับหมู่เกาะอาซอเรสหลังจากพัดถล่มเบอร์มิวดา

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2024 ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้นำเม็กซิโก กล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในเมืองเกร์เรโรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15 ราย แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดใน 3 รัฐที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ที่มากกว่า 20 ราย โดยบางรายระบุว่าสูงถึง 29 ราย

พายุเฮอร์ริเคนลูกนี้ ทำให้ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักเกือบเท่ากับฝนตกทั้งปีภายในเวลาไม่กี่วัน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวเม็กซิโกจำนวนมาก โดยในรัฐโออาซากา เกิดดินถล่มอย่างน้อย 80 ครั้ง ทำให้บ้านเรือนจมอยู่ในกองดิน ชุมชนหลายแห่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เนื่องจากถนนไม่สามารถสัญจรได้

ดินถล่มกีดขวางการจราจรในเม็กซิโก จากเฮอร์ริเคนจอห์น
เครดิตภาพ: FRANCISCO ROBLES / AFP

บางครอบครัวปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านขณะที่ระดับน้ำสูงขึ้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่าประชาชนมากกว่า 5,000 คนต้องอพยพ และอีก 3,800 คนต้องนอนพักในศูนย์พักพิง

คลอเดีย เชนบอม ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโก กล่าวว่าเธอจะไปเยือนรัฐเกร์เรโรพร้อมกับรัฐมนตรีของเธอในวันพุธ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมด

 

“ซอมบี้เฮอร์ริเคน” สลายตัวไปแล้ว แต่ฟื้นขึ้นมาใหม่

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

“ซอมบี้เฮอร์ริเคนเป็นศัพท์ทั่วไป ใช้อธิบายถึงพายุที่ไม่ยอมตาย เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเลและเร่งความแรงกลับเข้ามาใหม่” 

พายุหมุนเกิดในทะเล ได้พลังจากความร้อนของผิวน้ำ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ของพายุในยุคโลกร้อน ข้อแรกคือพายุทวีความแรงขึ้นอย่างเร็ว ตัวอย่างเช่น พายุยางิใช้เวลา 48 ชม. พัฒนาจากโซนร้อนเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น

ส่วนเฮอร์ริเคน “จอห์น” ตอนแรกเป็นดีเปรสชันในบ่ายวันที่ 22 กลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 3 ในวันที่ 24 ก่อนเข้าฝั่งเม็กซิโกด้วยความเร็วลม 195 กม./ชม. ซึ่งเมื่อพายุจอห์นอ่อนกำลังลงและกลับลงสู่ทะเล ไปเจอกับน้ำทะเลที่ร้อนจัด ทำให้กลับมาเป็นเฮอร์ริเคนอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ก่อนเข้าฝั่งเป็นหนสอง ดังนั้นจอห์นจึงเป็นเสมือนซอมบี้ เป็นพายุไม่ยอมตาย

ในปี 2004 พายุเฮอร์ริเคนที่ชื่ออีวาน ซึ่งพัดอยู่นานเกือบหนึ่งเดือน ได้พัดถล่มทะเลแคริบเบียนก่อนจะสลายตัวและกลับมาอีกครั้งและพัดถล่มสหรัฐอเมริกา อีวานสร้างความเสียหายมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์ในปีนั้น

น้ำท่วมในเม็กซิโก จากเฮอร์ริเคนจอห์น
เครดิตภาพ: FRANCISCO ROBLES / AFP

ส่วนในปี 2023 พายุเฮอร์ริเคน “โอทิส” เป็นพายุที่เร่งความแรงเร็วสุด ๆ จากโซนร้อนกลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 ในเวลาไม่นาน เข้าถล่มเม็กซิโกแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยความเร็วลมถึง 266 กม./ชม.

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นปัจจัยหลักทำให้พายุไซโคลนเขตร้อนมีความรุนแรงมากกว่าเดิม (แม้ว่าจำนวนพายุต่อปีโดยรวมจะไม่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกก็ตาม) ทั้งนี้เป็นเพราะมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นให้พลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น

อเล็กซ์ ดาซิลวา ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุเฮอร์ริเคนของ AccuWeather ผู้บริการพยากรณ์อากาศเชิงพาณิชย์ทั่วโลก กล่าวว่าทั้งพายุเฮอร์ริเคนจอห์นและโอทิส ต่างทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อบอุ่น โดยพื้นที่ที่พายุเฮอร์ริเคนจอห์นก่อตัวขึ้นมีอุณหภูมิเกือบ 32 องศาเซลเซียส ทำให้พายุมีเชื้อเพลิงมากขึ้น

ปัจจุบันอ่าวเม็กซิโกร้อนขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นจุดที่ทำให้พายุเฮอร์ริเคนมีกำลังแรงขึ้นก่อนจะพัดขึ้นฝั่งสหรัฐ เนื่องจากน้ำทะเลในอ่าวมีระดับตื้นมาก จึงร้อนขึ้นได้ง่าย

ขณะที่ อันดรา การ์เนอร์ นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโรวันกล่าวว่า น้ำอุ่นน่าจะช่วยให้พายุเฮอร์ริเคนจอห์นฟื้นตัวหลังจากพัดขึ้นฝั่งเป็นครั้งแรก และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ในอนาคตน้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดพายุซอมบี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต


ที่มา: CNN, Live Science, Reuters, The Guardian

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ประชุมอาเซียน-จีน คุกรุ่น 'ฟิลิปปินส์' เรียกร้องเร่งเจรจาปัญหาทะเลจีนใต้

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.) อบอวลไปด้วยบรรยากาศคุกรุ่น เนื่องจ...

พายุเฮอริเคนถล่มฟลอริดาหนัก มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย

"พายุเฮอริเคนมิลตัน"เคลื่อนตัวออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกแล้วในวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.67) หลังพัดถล่มใจกลาง...

‘เทสลา’ จ่อเปิดตัว Cybercabs ธุรกิจ 'แท็กซี่ไร้คนขับ' ที่ยังขาดทุนมหาศาล

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “เทสล่า” (Tesla) ของ “อีลอน มักส์” เตรียมเปิดตัว “แท็กซี่ไร้คนขับ” ที่ชื่...

‘อิสราเอล’ โจมตีกรุงเบรุต ตาย 22 เจ็บ 117 หัวหน้าฮิซบอลเลาะห์รอด

กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนรายงานว่า การโจมตีกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนของอิสราเอล เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ต.ค...