สถิติ 2023 นักปกป้องสิ่งแวดล้อมเกือบ 200 คนถูกสังหาร สัญญาณวิกฤตความรุนแรง

ในปี 2023 มีนักปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Defenders) เกือบ 200 คนทั่วโลกถูกสังหาร และสถิติการเสียชีวิตระหว่างปี 2012 ถึง 2023 อยู่ที่ 2,106 คน (ตามรายงานขององค์กร Global Witness องค์กรที่มุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนและการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ จากประเทศอังกฤษ) Global Witness ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้

รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผู้ที่ออกมาพูดและเรียกร้องหลายคนเป็นผู้นำชุมชนพื้นเมืองและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ต่อต้านอุตสาหกรรมทำลายโลกเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น การสกัดแร่ การทำเหมือง การตัดไม้ การแย่งชิงที่ดินเพื่อผลประโยชน์ด้านการเกษตร และเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยผู้ปกป้องเหล่านี้มักเผชิญกับความรุนแรง ตั้งแต่การถูกข่มขู่ ถูกคุกคาม ถูกใส่ร้าย ถูกดำเนินคดีทางอาญาโดยรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ไปจนถึงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชนพื้นเมือง มีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องป่าไม้ที่สำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ ปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศ โดยกว่า 90 ประเทศ มีผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมดูแลพื้นที่มากกว่าหนึ่งในสาม เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกประมาณ 80%

รายงานของ Global Witness ยังแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่บริหารจัดการโดยชนพื้นเมืองมีอัตราการตัดไม้ทำลายน้อยกว่า และมีผลลัพธ์การอนุรักษ์ที่ดีกว่าเขตคุ้มครองที่ชนพื้นเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

โคลอมเบียยอดเสียชีวิตสูงสุดในโลก

ปี 2023 เป็นปีที่สองติดต่อกันที่โคลอมเบียมีนักปกป้องสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยมีนักปกป้องสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตอย่างน้อย 79 คน คิดเป็น 85% ของจำนวนทั้งหมดในปี 2023 และนับเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2012 ที่ Global Witness เริ่มดำเนินการตรวจสอบทั่วโลก

ตามมาด้วยบราซิล 25 คน เม็กซิโก 18 คน และฮอนดูรัส 18 คน นอกจากนั้น นักปกป้องสิ่งแวดล้อมในเอเชีย สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังคงตกเป็นเป้าหมายของกลวิธีต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปิดปากการออกมาปกป้องโลก

วิกฤตอากาศกระตุ้นให้คนเรียกร้อง

“ลอร่า ฟูโรเนส” ที่ปรึกษาอาวุโสของแคมเปญนักปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมของ Global Witness กล่าวว่า ปี 2023 ยังคงเป็นปีที่น่ากลัว เพราะมีผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม 196 คนทั่วโลกถูกสังหารหลังจากที่พวกเขาปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมจากอันตราย ซึ่งการฆาตกรรมยังคงเป็นกลยุทธ์ในการปิดปากและเป็นวิธีที่โหดร้ายที่สุด และความรุนแรงนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศปรากฏชัดเจนมากขึ้น

"วิกฤตสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้ผู้คนออกมาเรียกร้องมากขึ้น แต่ผู้ที่ใช้เสียงของตนเพื่อปกป้องโลกอย่างกล้าหาญต้องเผชิญกับความรุนแรง การข่มขู่ และการฆาตกรรม ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าจำนวนการสังหารยังคงสูงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องนักสิ่งแวดล้อม แก้ไขต้นเหตุของความรุนแรง และควบคุมอุตสาหกรรมที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ เพราะไม่ควรมีใครต้องการสูญเสียชีวิตจากการปกป้องโลกอีกต่อไป”

รับฟัง พูดได้โดยไม่ต้องกลัว

“นอนเล มบูทูมา” นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียง ผู้ชนะรางวัล Goldman Prize ปี 2024 และผู้ก่อตั้ง Amadiba Crisis Committee จากประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวว่า งานของเธอมุ่งเน้นไปที่การปกป้องชายฝั่ง Wild Coast ของแอฟริกาใต้ ประชาชน นักเคลื่อนไหว นักข่าว และทนายความที่นี่ทำงานร่วมกันเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า มีเส้นทางอื่นที่เท่าเทียมกว่าในการขับเคลื่อนเพื่ออนาคต

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมกลับถูกโจมตีในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสถิติผู้พิทักษ์อย่างน้อย 1,500 คนถูกสังหารนับตั้งแต่มีการรับรองข้อตกลงปารีสเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 ผู้นำในทุกประเทศควรมีหน้าที่รับฟังและรับรองว่าผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถพูดได้โดยไม่ต้องกลัว”

ฟิลิปปินส์มีนักปกป้องเสียชีวิตสูงสุดในเอเชีย

ตามรายงานล่าสุดของ Global Witness ฟิลิปปินส์ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในเอเชียสำหรับผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม เพราะในปี 2023 เพียงปีเดียว มีผู้ปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 17 คนถูกสังหารในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย

"โจน คาร์ลิ่ง" ผู้อำนวยการบริหารของ Indigenous Peoples Rights International เน้นย้ำถึงความรุนแรงของสถานการณ์ว่า มีกรณีการสังหาร การจับกุม และกักขังโดยพลการมากมาย หลายกรณีเหล่านี้ถูกรับรู้น้อยมากในที่สาธารณะ

"บริษัทข้ามชาติและนักลงทุนถูกเรียกร้องให้สร้างความมั่นใจว่าการปฏิบัติทางธุรกิจของพวกเขาในฟิลิปปินส์สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการปกป้องผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการโจมตีที่โปร่งใส ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อปกป้องผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม"

“โจนิล่า คาสโตร” นักเคลื่อนไหวชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกลักพาตัวโดยทหารฟิลิปปินส์ในปี 2023 และกำลังเผชิญกับการถูกดำเนินคดี ได้กล่าวในรายงานของ Global Witness ว่า

"หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวจากการลักพาตัว การข่มขู่ยังคงดำเนินต่อไป เรากำลังเผชิญกับความยากลำบากในการกลับไปบ้านและชุมชน และถูกเฝ้าระวัง ถูกตีตรา และถุกข่มขู่ การปิดปากผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการท้าทายการสนับสนุนของพวกเราในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิของประชาชน

การทำลายสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและระบบที่สกัดนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของเราชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความปลอดภัยและยอมรับนักเคลื่อนไหวชุมชนและผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลก”

CBD COP ตุลาคม 2024 โอกาสแก้ปัญหา

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (The Convention on Biological Diversity: CBD) เป็นหนทางที่จะสามารถช่วยปกป้องผู้พิทักษ์ เพราะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับ “การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยหน่วยงานกำกับดูแลของ CBD คือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ซึ่งจะจัดขึ้นทุกสองปี โดยในปี 2024 โคลอมเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CBD COP16 ที่เมืองคาลี ในวันที่ 21 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2024

นับว่าเป็นโอกาสโอกาสทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของรัฐบาลโคลอมเบียในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมถึงการที่ประเทศอื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยประเด็นที่สำคัญของการเจรจา CBD COP คือกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก (The Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: GBF) ซึ่งได้รับการรับรองจากภาคีในปี 2022 GBF กำหนดเส้นทางเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับธรรมชาติภายในปี 2050 โดยมีการยอมรับถึงความจำเป็นในการปกป้องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่

ซึ่งอยู่ในเป้าหมายที่ 22 ของ GBF ที่ระบุถึงการรับรองการมีส่วนร่วม ความยุติธรรม และสิทธิของชนพื้นเมืองชุมชนท้องถิ่น ผู้หญิง เยาวชน ผู้พิการ และผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสามารถเป็นตัวแทนและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ เท่าเทียม ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับการเคารพทางวัฒนธรรมและสิทธิของพวกเขาเหนือที่ดิน อาณาเขต ทรัพยากร และความรู้ดั้งเดิม และรับรองการคุ้มครองเต็มรูปแบบของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง: Global Witness, Human Rights Watch, Truthout, UNEP

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จีนเริ่มใช้มาตรการตอบโต้บริษัทสหรัฐ 9 ราย กรณีขายอาวุธให้ไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศ มาตรการตอบโต้บริษัท 9 แห่งที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพสหรัฐ กรณีขาย...

‘สหราชอาณาจักร-ไทย’ลงนามข้อตกลงการค้ากระตุ้นการส่งออก

สหราชอาณาจักรและไทยร่วมลงนามการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (ETP) เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน...

ขอเพียงกำลังใจ

ขอเพียงกำลังใจ ผลงานการคว้าชัยชนะ 2 นัดรวด ทำให้แข้งฟุตซอลทีมชาติไทยของเรา บรรลุเป้าหมายแรก ในการผ่า...

จังหวัดภูเก็ต ‘เป็นเกาะ’ ทำไมถึงมีน้ำท่วม ?

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ภูเก็ตเป็นเกาะทำไมน้ำท่วม ? รองศาสตราจารย์ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูน...