เปิดเหตุผลไทยสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ยกระดับการพัฒนาสู่เวทีโลก

กรุงเทพธุรกิจพบกับพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ที่วันก่อนเพิ่งเข้าร่วมกิจกรรมประกาศคำมั่นของผู้สมัครสมาชิก HRC วาระปี 2568-2570 จึงได้โอกาสจับเข่าคุยว่าสิ่งนี้คืออะไร มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร 

พินทุ์สุดาเริ่มต้นด้วยการแนะนำว่า HRC  เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลในสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นแทนหน่วยเดิมที่ชื่อว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2549  HRC สังกัดสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ทำงานร่วมกันใกล้ชิดกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (OHCHR) ภารกิจสำคัญประกอบด้วยการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก สร้างบันทัดฐานการดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ข้อเสนอแนะแนวทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ และทำรายงานประจำปีเสนอต่อ UNGA 

HRC ประกอบด้วย 47 ประเทศ ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ โดยจะมีการเลือกตั้งทุกสามปี ซึ่ง 47 ประเทศแบ่งเป็นกลุ่มภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา 13 ประเทศ เอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ ยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ ยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ 

ทั้งนี้ไทยเคยเป็นสมาชิก HRC มาแล้วเมื่อปี 2553-2556  สมัยที่สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เคยดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างปี 2553-2554 ด้วย ถือเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ 

มาถึงครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 ที่ไทยสมัครเป็นสมาชิก HRC ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้สมัครในวาระ พ.ศ.2568-2570 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 อธิบดีกล่าวด้วยว่า นี่ไม่ใช่การสมัครในนามประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสมัครในนามอาเซียนด้วย 

อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกต้องแข่งขันกันเพราะมีตำแหน่งว่าง 5 ที่นั่ง แต่ประเทศผู้ลงชิงมี 6 ประเทศ ได้แก่  กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ไซปรัส หมู่เกาะมาร์แชล เกาหลีใต้ และไทย ต้องแข่งขันกันชิงห้าที่นั่ง 

  • ทำไมไทยถึงอยากสมัคร HRC

อธิบดีพินทุ์สุดาอธิบายว่า HRC เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ สามารถแสดงบทบาทผู้ประสานงานเป็นสะพานเชื่อมเพราะเป็นมิตรกับทุกประเทศ มีส่วนร่วมในการกำหนดบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้กับต่างประเทศ 

อธิบดียกตัวอย่างในสมัยที่ไทยเป็นประธาน HRC ครั้งแรกได้เสนอข้อมติ Enhancement of technical cooperation and capacity-building in the field of human rights  ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคนิคให้แต่ละประเทศพัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนของตน แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน 

  • ชูประเด็นเสมอภาคทางเพศ

หากได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นที่ไทยจะให้ความสำคัญคือ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ คุ้มครองสิทธิการเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผุู้หญิง ปกป้อง เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่งเสริมการทำธุรกิจที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนต่อไป 

 การเลือกตั้ง HRC จะมีขึ้นในวันที่ 9 ต.ค.2567 ที่นครนิวยอร์ก 193 ประเทศต้องโหวตใน UNGA 

“เราต้องได้รับเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด คือต้องไม่ต่ำกว่า 97 เสียง แต่ในวันนั้นอาจไม่มี 193 ประเทศครบถ้วน ก็ต้องได้กึ่งหนึ่งของผู้ร่วมประชุม เมื่อ 6 ประเทศต้องชิง 5 ที่นั่ง 5 ประเทศแรกที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เข้าไปเป็นสมาชิก HRC” อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศอธิบายกลไกการลงคะแนน

  • โอกาสของประเทศไทย 

แน่นอนว่าประวัติสิทธิมนุษยชนของไทยมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณา สัปดาห์ก่อนแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลและ International Services for Human Rights (ISHR) ด้วยการสนับสนุนจากคณะผู้แทนถาวรบัลแกเรีย ณ นครนิวยอร์ก จัด HRC Pledging Conference สำหรับประเทศที่สมัครรับเลือกตั้งเพื่อเสนอวิสัยทัศน์ของตนเอง ให้ประเมินเหมือนสมุดพกพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นไทยก็มีพัฒนาการค่อนข้างมากโดยเฉพาะในสิทธิด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ไทยเข้าเป็นภาคี 7 ใน 8 อนุสัญญาหลักของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว 

พินทุ์สุดาชี้ให้เห็นความคืบหน้าสำคัญของไทย ทั้งการเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ,   รัฐสภาผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อเดือน มิ.ย.67, ถอนคำแถลงตีความอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน, ถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่  22  เรื่องการคุ้มครองเด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมาย เมื่อเดือน ก.ค.67 

"การถอนหมายถึง (เรื่องเหล่านี้) ไม่ใช่ข้อสงวนของเราแล้ว เราก็จะปฏิบัติตาม ตอนแรกที่ต้องสงวนไว้เพราะเราต้องดำเนินการทางกฎหมายภายในของเราก่อน เพื่อให้เราทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศได้ เมื่อเราถอนก็แสดงว่าตอนนี้เราปฏิบัติได้แล้ว" อธิบดีอธิบาย 

  • การรณรงค์หาเสียง 

มีหลายรูปแบบเริ่มต้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอีก  192 ประเทศสมาชิกยูเอ็นขอการสนับสนุนต่อไทย ซึ่งมีทั้งแบบให้เปล่าหรือแลกเสียงกันในเวทีอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านั้นต้องการเสียงสนับสนุนจากไทยเช่นกัน จากนั้นประเทศต่างๆ ก็จะตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พร้อมจะสนับสนุนหรือแลกเสียงกับไทยหรือไม่ 

“ในชั้นนี้ถือว่าได้รับการตอบรับในเชิงบวก จำนวนผู้สนับสนุนสูงพอที่เรามีโอกาสจะได้” นอกจากนี้ยังมีการจัดงานเลี้ยงแสดงวิสัยทัศน์ จัดเวิร์กช็อป จัดสัมมนาเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนและ HRC จัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันรายภูมิภาคที่ไทยต้องการขอเสียงสนับสนุน 

ล่าสุดได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศหมู่เกาะที่ประจำอยู่ที่นิวยอร์กให้มาเยือนไทยเพื่อให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่ามีการพัฒนาในด้านใดบ้าง 

  • ยุบก้าวไกล-วันเฉลิมอยู่ไหน  

ด้านสถานการณ์การเมืองไทย ไม่นานมานี้มีการยุบพรรคก้าวไกล และมีการพูดถึงการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนาม “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ” ทั้งๆ ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ก่อให้เกิดคำถามว่าจะส่งผลต่อการรณรงค์เลือกตั้ง  HRC ของไทยหรือไม่ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบายว่า ทุกประเทศล้วนมีความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน ไทยอาจจะมีความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคม  ด้านการเมืองก็ต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่ประเทศหนึ่งจะได้หรือไม่ได้รับเลือกตั้ง  นานาประเทศไม่ได้มองแค่ประเด็นเฉพาะแต่ต้องมองภาพรวม เหมือนกับสมุดพกที่ต้องเรียนหลายวิชาเอาเกรดในวิชาต่างๆ มารวมกัน 

“ถ้าเราไม่ได้ก็นอกเหนือจากสมุดพก ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยที่อาจจะเป็นข้อท้าทายสำหรับประเทศไทยและประเทศที่สมัคร เช่น การเมืองระหว่างประเทศ เป็นบริบทภายนอกที่เป็นปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง”

  • เชิญคนไทยร่วมสนับสนุน

ขณะที่การลงมติกำลังใกล้เข้ามา พินทุ์สุดาอยากให้คนไทยร่วมสนับสนุนเพราะ HRC จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะเสริมสร้างบทบาทตนเอง ถ้าไทยอยากปรับปรุง พัฒนา ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของไทยก็ควรเข้าไปในระดับสากล เพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับปรุงในบ้านของเรา 

“การเข้าไปก็อยากมีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐาน ได้รับแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นท้าทายที่เราต้องปรับปรุงทั้งเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากสภาพอากาศซึ่งส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศด้วย”  อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศกล่าวโดยสรุป 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

โอบามา ลุยหาเสียงช่วยแฮร์ริส เลือกตั้งสหรัฐ สูสี แม้เข้าช่วงโค้งสุดท้าย

อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เชิญชวนให้ชาวอเมริกันลง คะแนนเสียงให้กับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส...

TikTok เลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน หลังใช้ AI ทำงานกรองเนื้อหาแทน ‘มนุษย์’

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ไบต์แดนซ์” (ByteDance) บริษัทแม่ของ TikTok ประกาศว่ากำลังเลิกจ้างพนักงาน...

‘เฮดจ์ฟันด์ชั้นนำ’ หันมาช้อนหุ้นจีน ชี้ราคาปัจจุบันยังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “กองทุนเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำของจีน” หันมาซื้อหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในฮ...

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนยินดีไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษชนยูเอ็น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 11 ต.ค. ความว่า ตามที่ประเทศไทยได้รับการเลือ...