มนุษย์สอน ‘นกอพยพ’ ให้บิน หลังสูญพันธุ์ไปนาน จนไม่รู้ว่าต้องไปทางใด

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ” (Northern Bald Ibis) จำนวน 36 ตัว กำลังบินตามหลังเครื่องบินอัลตราไลท์ จากออสเตรียไปยังสเปน ด้วยระยะเวลา 2,800 กม. โดยการเดินทางอาจใช้เวลาถึง 50 วันจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งระหว่างเที่ยวบิน นักวิทยาศาสตร์จะรับบทเป็น “พ่อแม่บุญธรรม” คอยโบกมือและตะโกนให้กำลังใจนกขณะที่มันบิน 

โยฮันเนส ฟริตซ์ นักชีววิทยาจาก Waldrappteam กลุ่มอนุรักษ์และวิจัยที่ตั้งอยู่ในออสเตรีย ผู้เสนอไอเดีย ทำหน้าที่บังคับเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งมีมอเตอร์ขนาดเล็กคล้ายพัดลมอยู่ด้านหลังและร่มชูชีพสีเหลืองที่ช่วยให้เครื่องบินลอยขึ้นได้ 

“แทบไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราได้อยู่บนท้องฟ้าร่วมกับนกเหล่านี้ ได้สัมผัสพวกมันในอากาศ พวกมันถูกสร้างมาอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อการบิน เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจและพิเศษมาก” ฟริตซ์กล่าว

ฟริตซ์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “Fly Away Home” ในปี 1996 ซึ่งตัวเอกบินเครื่องบินอัลตราไลท์เพื่อแสดงเส้นทางอพยพของห่านกำพร้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง “Father Goose” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1995 ผลงานของ บิล ลิชแมน นักธรรมชาติวิทยา ที่สอนห่านแคนาดาด้วยวิธีเดียวกันนี้เมื่อปี 1988

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ หรือที่เรียกกันว่า “วัลเดรปป์” (Waldrapp) เคยเป็นนกที่พบเห็นได้ทั่วไปในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรอาหรับ และยุโรปส่วนใหญ่ แต่นกชนิดนี้ถูกล่าเป็นจำนวนมากและแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลาย จนพวกมันสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปในแถบยุโรปกลาง เป็นเวลากว่า 300 ปี เหลืออยู่เพียงไม่กี่ตัวในสวนสัตว์เท่านั้น

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือกำลังบินตามนักวิทยาศาสตร์ในเส้นทางอพยพ
เครดิตภาพ: Antoine Joris / Waldrappteam

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สามารถผสมพันธุ์นกชนิดนี้ได้สำเร็จ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ตัว เปลี่ยนสถานะจาก “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” เป็น “ใกล้สูญพันธุ์” แต่เนื่องจากไม่มีบรรพบุรุษในป่าคอยชี้นำ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูอพยพ พวกมันจึงไม่รู้ว่าจะต้องบินไปทางไหน หลายครั้งที่พวกมันหลงทางไม่ได้บินไปยังแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลในฤดูหนาว เช่น ทัสคานี ประเทศอิตาลี ทำให้พวกมันต้องตายไป

เพื่อเตรียมลูกนกให้พร้อมเดินทาง ลูกนกจะถูกแยกออกจากรังตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่วัน จากนั้นจึงนำไปไว้ในกรงนกขนาดใหญ่และได้รับการดูแลจากพ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นมนุษย์เพื่อสร้างความคุ้นเคย และทำให้นกไว้วางใจมนุษย์มากพอที่จะติดตามพวกเขา เมื่อต้องบินไปตามเส้นทางการอพยพ

การเดินทางในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 ที่มีมนุษย์เป็นไกด์นำทาง โดยเริ่มการเดินทางเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม และคาดว่าจะไปถึง เมืองเวเฮร์เดลาฟรอนเตรา แคว้นอันดาลูเซีย ในสเปน ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

บาร์บารา สไตนิงเกอร์ ผู้รับหน้าที่เป็นแม่บุญธรรม กล่าวว่า เธอเหมือนเป็น “แม่นก” ของพวกมัน และพัฒนาความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับนกทุกตัว “เราให้อาหารพวกมัน ทำความสะอาดพวกมัน ทำความสะอาดรังของพวกมัน ดูแลพวกมันเป็นอย่างดี และตรวจดูให้พวกมันนกที่แข็งแรง” เธอกล่าว

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือกำลังบินอยู่บนฟ้า
เครดิตภาพ: Helena Wehner / Waldrappteam

เมื่อพวกมันมาถึงแหล่งอาศัยในฤดูหนาว นกจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่และไม่ต้องการพ่อแม่บุญธรรมอีกต่อไป และพวกมันจะยังจำพ่อแม่บุญธรรมได้ไปอีกหลายปี พวกมันจะเข้ามาหาเพื่อทักทายอย่างกระตือรือร้น (นกมีวิธีทักทาย โดยจะสยายขนและโค้งคำนับพร้อมส่งเสียง “ชรุปป์”)

ประชากรนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือในยุโรปกลางเพิ่มขึ้นจากศูนย์เป็นเกือบ 300 ตัว นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2002 และในปี 2011 นกตัวแรกได้อพยพกลับไปยังบาวาเรียจากทัสคานีโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือชื่อว่า ลีอา ได้รับการดูแลอย่างดีจาก Waldrappteam
เครดิตภาพ: C. Esterer / Waldrappteam

 

นกรุ่นแรกเริ่มผสมพันธุ์ในป่าแล้ว และสอนนกรุ่นถัดไปให้รู้จักเส้นทางการอพยพที่พวกมันเรียนรู้จากมนุษย์ แต่ภาวะวิกฤติด้านภูมิอากาศทำให้การอพยพครั้งนี้มีความท้าทายมากขึ้น และหมายความว่ามนุษย์จำเป็นต้องชี้นำนกรุ่นหลังไปตามเส้นทางใหม่ 

นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือจะอพยพในช่วงปลายฤดูกาล ซึ่งบังคับพวกมันต้องข้ามเทือกเขาแอลป์ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นและอันตรายมากขึ้น เนื่องจากนกจะไม่มีกระแสลมอุ่นที่เรียกว่าเทอร์มอล ซึ่งพัดขึ้นด้านบนและช่วยให้นกบินได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่ม

เพื่อช่วยเหลือนก ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Waldrappteam จึงได้นำร่องเส้นทางใหม่ในปี 2023 จากบาวาเรียไปยังอันดาลูเซียทางตอนใต้ของสเปนมีระยะทางประมาณ 2,800 กิโลเมตร ซึ่งยาวกว่าเส้นทางของปีที่แล้วประมาณ 300 กิโลเมตร

การนำทางช่วยนกอพยพนี้ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูทางให้กับสายพันธุ์นกอพยพอื่น ๆ ที่ถูกคุกคามอีกด้วย ฟริตซ์กล่าว “วิธีการที่เราพัฒนาขึ้นกับนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือนี้ สามารถนำไปใช้กับนกอพยพสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ฟริตซ์ต้องการทำโครงการเพิ่มเติมเกี่ยวกับห่าน นกกระเรียน นกกระสา หรือนกอีบิสชนิดอื่นๆ “ผมคิดว่าผมสามารถตกหลุมรักสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผมทำงานด้วยได้ ผมอยากจะบินกับนกต่อไป” เขากล่าว

 

ที่มา: Euro News, South China Morning Post, The Guardian

เครดิตภาพ: C. Esterer / Waldrappteam

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...