‘กฎหมายคูฮารา’ ผ่านแล้ว พ่อแม่ไม่เลี้ยงลูกจะไม่ได้มรดก เริ่มใช้ปี 2026 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2024 สำนักข่าวท้องถิ่นของเกาหลีใต้ รายงานว่า “กฎหมายคูฮารา” (Goo Hara Act) ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ปกครองที่ละเลยความรับผิดชอบหน้าที่ผู้ปกครองที่พึ่งกระทำต่อบุตรหลานได้รับทรัพย์สินของพวกเขา ได้ผ่านพิจารณาโดย รัฐสภาแห่งชาติ ครั้งที่ 22 เป็นที่เรียบร้อย 

สำหรับที่มาของชื่อ “กฎหมายคูฮารา” นี้ตั้งขึ้นตามชื่อของ “คู ฮารา” สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป KARA ศิลปิน K-POP ที่เสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของฮารา แม่ของเธอที่ทอดทิ้งฮาราไปตั้งแต่ 9 ขวบ และไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดู กลับมาเรียกร้องมรดกครึ่งหนึ่ง

พี่ชายของฮาราจึงได้ผลักดันให้เกิดกฎหมายปกป้องสิทธิ และมรดกของลูกที่ถูกผู้ปกครองทอดทิ้งละเลยขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการลงชื่อของภาคประชาชนกว่า 100,000 รายชื่อ ในเวลาเพียง 30 วัน 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ พ่อแม่จะสูญเสียสิทธิในการรับมรดกหากไม่สนับสนุน รับผิดชอบ และเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติต่อทายาท คู่สมรส หรือทายาทโดยตรงของบุตรตนเอง เป็นความผิดทางอาญาที่สำคัญ

กฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอเป็นครั้งแรกในปี 2020 แต่ก็ไม่ได้ไปต่อเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐสภาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 และ 21 ในที่สุด 4 ปีหลังจากการยื่นเสนอร่างกฎหมายในรัฐสภา ครั้งที่ 22 ก็ได้ผ่านการพิจารณาในที่สุด แม้จะมีการแก้ไข เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2024 ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่า การยกทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตให้แก่ผู้บุพการี และผู้สืบสันดานโดยตรง ซึ่งอาจไม่ตรงต่อความต้องการของผู้เสียชีวิต ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ ร่างกฎหมายคูฮาราฉบับใหม่จึงได้เพิ่มการพิจารณาความชอบธรรม และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวที่มีสิทธิรับมรดกกับผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือคู่สมรส ก่อนที่จะมอบมรดกให้แก่บุคคลผู้นั้น 

ดังนั้นหาพบว่าบุคคลที่มีสิทธิได้รับมรดกมีพฤติกรรมที่ละเลย ไม่สนับสนุน หรือเลี้ยงดูผู้ตาย พวกเขาก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดก ทั้งนี้หากผู้ตายไม่มีพินัยกรรม ทายาทร่วมสามารถร้องขอให้สูญเสียสิทธิการรับมรดกต่อศาลครอบครัวได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ทราบว่าบุพการีสายตรงไม่ทำหน้าที่ ไม่ดูแลผู้ตาย

ขณะที่ คูโฮอิน พี่ชายของคูฮารา แสดงความยินดีที่รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคูฮาราในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ผ่านไปได้ด้วยดี ไชโย!! แม้จะมีความกังวลเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ในที่สุดก็ผ่านไปได้ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ผมหวังว่าทุกคนจะมีสุขภาพดี และมีความสุข ขอบคุณจากใจจริง” 

กฎหมายนี้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2026 และอนุญาตให้ใช้บังคับย้อนหลังได้ ในกรณีที่การรับมรดกเริ่มหลังวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติการสงวนผู้บุพการี และผู้สืบสันดานโดยตรงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สำหรับเคสของคูฮารานั้น ในปี 2020 ศาลได้ให้แม่ได้รับทรัพย์สิน 40% ของฮารา โดยเดิมทีกฎหมายมรดกของเกาหลีใต้จะมอบมรดกให้กับผู้ปกครองเท่านั้น หากผู้เสียชีวิตไม่ได้แต่งงาน และไม่มีลูก แต่ศาลได้ให้สิทธิเพิ่มเติมแก่ พี่ชายและพ่อของฮารา 20%

โฮอินกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อปี 2020 ว่าจู่ ๆ แม่ของพวกเขาก็ปรากฏตัวขึ้นในงานศพ และยืนกรานที่จะทำหน้าที่พิธีกรงานศพ รวมถึงบันทึกบทสนทนา และถ่ายเซลฟี่กับเหล่าคนดังที่มาแสดงความอาลัยให้แก่ฮารา

“คูฮาราต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกแม่ทิ้งตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โปรดช่วยยืนยันแน่ใจว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ และครอบครัวของเราจะไม่เกิดขึ้นกับใครอีก” โฮอิน กล่าว


ที่มา:  Korea Herald, MBC, Naver, Sport Skeeda

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...