เสนอตั้งธนาคารเก็บเมล็ด-เนื้อเยื่อ บน ‘ดวงจันทร์’ หมดปัญหาโลกร้อน สงคราม

ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์จึงได้เสนอแผนการสุดล้ำ ด้วยการไปสร้างสถานที่เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่สำคัญและมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ที่สุดในโลกเก็บไว้บนดวงจันทร์

ทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกล่าวว่า ในตอนนี้เราไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้แล้ว ทำให้เราไม่สามารถปกป้องสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้สามารถอาศัยแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติได้อย่างผาสุก 

ดังนั้นถึงเวลาที่มนุษยชาติต้องเร่งหาทางเก็บเซลล์และดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์สิ่งมีชีวิตของสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หรือเก็บเอาไว้โคลนนิ่งในอนาคต หากสัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์ลง

การธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะในโลกก็มี “อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลก” (Svalbard Global Seed Vault) หรือ แหล่งสำรองอาหารวันสิ้นโลก (Doomsday Vault) สถานที่เก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จำนวน 1.2 ล้านชนิดจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งอยู่ในเมืองสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์

ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดเก็บตัวอย่างพืชทั้งหมดในโลก ที่อาจสูญพันธุ์อย่างถาวรจากเหตุการณ์สงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติสภาพภูมิอากาศ สายพันธุ์ที่รุกราน แมลงศัตรูพืช การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรง โดยจะเปิดรับฝากเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ทั่วโลก ปีละ 3 ครั้ง

แต่ตอนนี้พื้นที่ที่หนาวเย็นที่สุดอย่าง “สฟาลบาร์” เองก็ไม่รอดเงื้อมมือของ “ภาวะโลกร้อน” เพราะชั้นดินเยือกแข็งคงตัวก็เริ่มละลายแล้ว

อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลก

ดร.แมรี ฮาเกดอร์น นักวิทยาศาสตร์จากสวนสัตว์แห่งชาติและสถาบันชีววิทยาการอนุรักษ์แห่งสมิธโซเนียน ผู้เสนอแนวคิดนี้กล่าวว่า

“สงครามก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ เห็นได้จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของยูเครนที่ถูกทำลายลงในปี 2565 และต่อให้ไม่มีมนุษย์ ภัยพิบัติเช่น น้ำท่วมอาจสร้างความเสียหายให้กับธนาคารได้เช่นกัน” 

แต่ถ้าเกิดสร้างธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพบนดวงจันทร์ จะไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อยู่บนโลก หรือแม้แต่สงครามความขัดแย้งต่าง ๆ เพราะดวงจันทร์มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่แสงส่องไปไม่ถึง (Permanently shadowed region) ของดวงจันทร์ที่มีอุณหภูมิต่ำสุดถึง -196 องศาเซลเซียส ถือเป็นบริเวณที่ที่เหมาะสมกับก่อสร้างสถานที่เก็บตัวอย่างทางชีวภาพ โดยจะทำให้ตัวอย่างทางชีวภาพจะถูกแช่แข็งตลอดทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์หรือแหล่งพลังงาน และเป็นช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการรักษาตัวอย่างเพื่อการโคลนนิ่งในอนาคต

ดร. เบธ ชาปิโร ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานตาครูซ ระบุว่า การโคลนนิ่งจำเป็นต้องใช้เซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเราไม่สามารถชุบชีวิตแมมมอธขนยาวจากชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่มีอยู่ได้ เพราะเซลล์ตายไปแล้ว แต่ในอนาคตเราสามารถทำให้สัตว์ไม่สูญพันธุ์ได้ (De-Extinction) หากมีการรวบรวมและจัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในลักษณะที่ทำให้เซลล์มีชีวิตอยู่ได้

ปัจจุบันมีกระบวนการการแช่แข็งเพื่อรักษาสภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ที่เรียกว่า “Cryopreservation” ซึ่งทีมของ ดร.ฮาเกดอร์นได้ใช้วิธีนี้เพื่อรักษาเซลล์ที่มีชีวิตจากปลาบู่ดาวได้สำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้ปลาบู่ดาวยังไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศแนวปะการัง

ดร.ฮาเกดอร์นเชื่อว่าข้อเสนอจัดตั้งธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพบนดวงจันทร์จะเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ในช่วงชีวิตของเราก็ตาม “เรารู้ว่ามันสามารถทำได้จริง และเราก็รู้ว่ามันต้องทำอย่างไร แต่อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะทำให้สำเร็จ” เธอกล่าว

จากการพิจารณาถึงต้นทุนและความท้าทายที่ต้องเผชิญในการย้ายไปดวงจันทร์แล้ว เหล่านักวิจารณ์เสนอว่าในตอนนี้ควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะสูญพันธุ์ มากกว่าสนใจการออกย้ายไปดวงจันทร์ แต่ดร.ฮาเกดอร์น ไม่คิดเช่นกัน เพราะเชื่อว่ากลยุทธ์ทั้งสองมีความจำเป็นในการอนุรักษ์สายพันธุ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ถ้าเราคิดเป็นเส้นตรงอย่างเดียว เราจะประสบปัญหา เพราะถ้ามันไม่ได้ผลขึ้นมา เราจะไม่มีแผนสำรองเลย” เธอกล่าว

ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญ คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับส่งตัวอย่างไปยังดวงจันทร์ ที่จะต้องมีความทนทานอุณหภูมิติดลบและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จากการขนส่ง โดยดร.ฮาเกดอร์นแนะนำให้ทำบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กที่สามารถใส่ตัวอย่างได้หลายพันชิ้น เพื่อจะได้ฝากไปกับยานอวกาศที่ต้องเดินทางไปยังดวงจันทร์ที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้

เนื่องจากแผนการสร้างธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพยังคงไม่สามารถทำได้ในเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่างานวิจัยของพวกเขาจะสร้างความตื่นเต้น แนวคิดใหม่ และสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ รวมถึงทำให้เห็นความจำเป็นในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ


ที่มา: New Scientist, The Guardian, WION

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...