‘สหราชอาณาจักร’ ชุบชีวิต ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ให้กลายเป็น ‘ทองคำ’

ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ตั้งแต่เศษซากโทรทัศน์เก่า คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้ว กำลังเป็นปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติระบุว่าในปี 2022 มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 62 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2030 จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นประมาณหนึ่งในสาม

โรงกษาปณ์หลวงแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Mint) ผู้ผลิตเหรียญของสหราชอาณาจักร สร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ในเวลส์ เพื่อแยกโลหะมีค่าออกจากแผงวงจรเก่า โดยเฉพาะ “ทองคำ” คาดว่ามีทองคำประมาณ 7% ในโลกถูกนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

เมื่อชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เขาสู่ในโรงงานจะถูกความร้อน เพื่อแยกส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น คอยล์ ตัวเก็บประจุ พิน และทรานซิสเตอร์ แยกออกจากกัน โดยชิ้นส่วนต่าง ๆ จะแยกออกจากกันไปตามสายพานลำเลียง สำหรับชิ้นส่วนที่มีทองคำจะถูกส่งไปยังโรงงานเคมี 

จากนั้นชิ้นส่วนที่ทองคำจะถูกนำไปใส่สารละลายเคมี ที่จะแยกทองคำออกมาในของเหลว และทำการกรอง จนได้ออกมาเป็นผงทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อนำไปให้ความร้อนในเตาเผา ก็จะกลายเป็นก้อนทองคำแวววาว

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการคัดแยกทองคำนี้ ได้รับความร่วมมือจาก Excir สตาร์ทอัพเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของแคนาดา สามารถดึงทองคำออกจากจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่า 99% ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งยังสะอาดและปลอดภัย ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย

“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นการขุดเหมืองในเมือง เรากำลังนำขยะที่สังคมสร้างขึ้น มาแปลงให้เป็นทองคำ และเริ่มมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีจำกัดนั้น” อิงกา โดอัค หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนกล่าว

เลตัน จอห์น ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของโรงกษาปณ์หลวง กล่าวว่า วิธีการหลอมเศษทองจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยใช้กันมานาน เป็นวิธีที่ต้องใช้พลังงานสูงมาก และใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือไม่ก็ส่งไปยังโรงหลอมพลังงานสูง ซึ่งทองจะถูกเผาจนเกือบหมด 

“สารเคมีที่เราเอามาใช้ มันถูกใช้ในอุณหภูมิห้อง ด้วยพลังงานต่ำมาก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และดึงทองคำออกมาได้อย่างรวดเร็ว” จอห์น กล่าว

รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติประจำปี 2024 ระบุว่าสหราชอาณาจักรเป็นผู้ผลิตขยะเทคโนโลยีต่อจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากนอร์เวย์เท่านั้น ซึ่งจอห์นกล่าวว่า โรงกษาปณ์ตั้งเป้าจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากกว่า 4,000 ตันต่อปี

“โดยปกติแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะถูกส่งไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้เราเก็บขยะเหล่านี้ไว้ในสหราชอาณาจักร เพื่อนำไว้ใช้เอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก” จอห์นกล่าวกับ BBC

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4,000 ตัน น่าจะสร้างทองคำได้มากถึง 450 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 27 ล้านปอนด์หรือประมาณ 1,219 ล้านบาท นอกจากนี้ การหันมาจับธุรกิจแปรรูปขยะนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับโรงกษาปณ์หลวงอีกด้วย

ปัจจุบันมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถึง 20% ที่ถูกรีไซเคิล หมายความว่าทองคำ เงิน ทองแดง แพลเลเดียม และโลหะที่มีมูลค่าสูงอื่น ๆ มูลค่ากว่า 57,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าจีดีพีของหลายประเทศทั่วโลกจะถูกทิ้งไปแทนที่จะถูกรวบรวมเพื่อสังเคราะห์และนำกลับมาใช้ใหม่

โรงกษาปณ์หลวงเป็นผู้ผลิตเหรียญที่ใช้ในสหราชอาณาจักรมานานกว่าพันปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีการใช้เงินสดลดลง ทำให้องค์กรต้องหาวิธีอื่นเพื่อสร้างรายได้และรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ ซึ่งการแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

“เราไม่เพียงแต่รักษาโลหะมีค่าที่มีปริมาณจำกัดไว้สำหรับอนาคตเท่านั้น แต่เรายังต้องรักษาช่างฝีมือของเราไว้ด้วย เราจึงต้องย้ายพนักงานไปทำงานในกระบวนการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้พวกเขายังคงมีงานทำต่อไป ฉันภูมิใจที่จะได้ปกป้องโรงกษาปณ์ต่อไปอีก 1,100 ปี” แอนน์ เจสโซปป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโรงกษาปณ์หลวงอธิบาย

นอกเหนือจากการหลอมทองคำแล้ว โรงกษาปณ์หลวงกำลังพิจารณาวิธีการจัดการกับวัสดุอื่น ๆ ที่แยกออกจากแผงวงจรด้วย เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ดีบุก และเหล็ก อีกทั้งยังทำศึกษาว่าแผงวงจรที่ถูกบดทำลายแล้วจะสามารถใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้หรือไม่

สำหรับทองคำที่แยกได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะนำไปทำเป็นเหรียญที่ระลึก และเครื่องประดับในคอลเล็กชัน 886 ซึ่งประกอบด้วยจี้สองเส้น สร้อยข้อมือ และแหวนตราสัญลักษณ์ มีราคาตั้งแต่ 1,525-2,995 ปอนด์ หรือประมาณ 68,756-135,032 บาท นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเงินจากโลหะ ที่นำกลับมาใช้ใหม่จากฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งเริ่มต้นที่ 225 ปอนด์ หรือราว 10,146 บาท


ที่มา: BBC, New Atlas, Royal Mint

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...