การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย

การศึกษาของ Swiss Re Institute (2021) พบว่า GDP ของไทยจะลดลงเป็นสัดส่วนเกือบมากที่สุดใน 48 ประเทศที่ได้รับการประเมิน และจะลดลงระหว่างร้อยละ 4.9-43.6 ในปี 2591 หรืออีก 24 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิสูงขึ้นระหว่างไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสหรืออาจจะขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียสตามลำดับ

ผลกระทบของโลกรวนต่อการท่องเที่ยวค่อนข้างที่จะรุนแรง และจะเปลี่ยนแบบแผนของการท่องเที่ยวมาเป็นการท่องเที่ยวกลางคืนมากขึ้น และจะมีผลต่อพื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยต่างกัน

การท่องเที่ยวทางทะเลบริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นชายฝั่งยอดนิยมของการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาอันใกล้ๆ คือ ปี 2563-2572 จะได้รับประโยชน์จากการมีฤดูฝนสั้นลง ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวได้ยาวนานมากขึ้น แต่ก็อาจจะเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำจืดมากขึ้น

การท่องเที่ยวทางบริเวณอ่าวไทยในทุกจังหวัดจะมีปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น และระยะเวลาที่ฝนตกก็มากขึ้นถึง 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดผลตรงกันข้ามกับฝั่งอันดามัน และอาจจะมีการกัดเซาะชายฝั่งจากพายุมากขึ้นด้วย

ในภาคเหนือคาดว่าจำนวนที่อากาศเย็นจะลดลง 5-10 วันต่อปีใน 20 ปีข้างหน้าและจะลดลงมากกว่า 20 วันใน 50 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคเหนือ เพราะอากาศเย็นเป็นจุดดึงดูดใจที่สำคัญสำหรับตลาดในประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวน ที่เป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบจะเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น ส่วนภาคตะวันออกก็จะมีผลกระทบจากการที่จะเป็นภาคที่มีอากาศร้อนที่สุดในประเทศ

สำหรับในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถือเป็น 1 ใน 10 จังหวัดของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากน้ำท่วม เพราะปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มมากขึ้น และฝนตกจะหนักมากขึ้นในช่วงฤดูช่วงปลายฤดูฝน และเกิดการพัฒนาการก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ

ผลกระทบของการท่องเที่ยวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบโลจิสติกส์หรือการขนส่งเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นก็อาจจะมาจากโรงแรมซึ่งพบว่า ค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนของโรงแรมในประเทศไทย (0.064 ตันคาร์บอน) (ศูนย์วิจัยกสิกร ธ.ค. 2566) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (0.069 ตันคาร์บอน) และค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (0.057) (Cornell Hotel Sustainability, Feb 2024)

การเตรียมพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับประเทศ (Naturally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งได้อย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ.2020 แต่ในปี ค.ศ.2019 เราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 1-7 

นายกฯ ประยุทธ์ได้ประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติที่ กรุงกลาสโกว์ (COP26) ว่าประเทศไทยมีเป้าหมายว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065

และหากเราได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนระหว่างประเทศก็สามารถจะยกระดับการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น และทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050

แม้ประเทศไทยจะมีแผนที่จะเตรียมรับมือกับโลกร้อนแล้ว แต่ยังมีความเป็นนามธรรมอยู่มาก และขาดการใช้แรงจูงใจทั้งมาตรการทางการเงินและการให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีการปรับตัวอย่างแพร่หลาย

การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน ที่ส่งผลต่ออนาคตของสภาพสิ่งแวดล้อมไทยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า

ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนนโยบายของรัฐว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่มีความสำคัญและความไม่แน่นอนมากที่สุดสำหรับอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งในเรื่องความชัดเจน ความต่อเนื่อง การกำหนดมาตรฐาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและจริงจัง รวมทั้งการบูรณาการและการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างต่างๆ การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การบรรเทาผลกระทบ

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความไม่แน่นอนสูงและแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำอยู่แล้วอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากไม่สามารถจะย้ายตัวเองจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ง่ายเท่ากับผู้มีรายได้สูง

การบริหารแบบรวมศูนย์และการใช้การบริหารแบบมาตรฐานเดียวในการจัดการพื้นที่ในระบบนิเวศต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายจะทำให้การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความยุ่งยากมากขึ้นและประสบผลสำเร็จน้อยลง จะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าการบริหารที่ยืดหยุ่น

และในการปรับตัวให้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต การกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่สำคัญ

การรับมือกับสภาวะโลกร้อนจะอาศัยนโยบายกำกับและควบคุมของรัฐแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนกลไกตลาดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อกลไกตลาดทำงานก็จะทำให้เกิดการตอบสนองจากผู้ผลิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้พลังงาน การกำจัดขยะ ของเสียในครัวเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อลดปัญหาโลกร้อนได้ตั้งแต่วันนี้

เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีราชบัณฑิตยสภา โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ภาคีราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สาขาเศรษฐศาสตร์.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...