‘ตุรกี’ เตรียมออกกฎหมาย การุณยฆาต ‘สุนัขจรจัด’

พรรครัฐบาลตุรกีของประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ยื่นร่างกฎหมายจัดการจำนวน “สุนัขจรจัด” ในประเทศต่อรัฐสภา ท่ามกลางความกังวลของนักวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้จะทำให้สุนัขจำนวนมากต้องไปอยู่อาศัยในสถานสงเคราะห์ที่คับแคบ และอาจนำไปสู่การการุณยฆาตสุนัขจำนวนมาก

เออร์โดกัน กล่าวว่าปัจจุบันตุรกีมีสุนัขจรจัดประมาณ 4 ล้านตัวอยู่ตามถนนและในพื้นที่ชนบทของประเทศ

กฎหมายดังกล่าวเป็นข้อเสนอเบื้องต้นที่เรียกร้องให้มีการจับสุนัขจรจัดไปเลี้ยงไว้ในสถานสงเคราะห์ หากพวกมันไม่ได้ถูกรับไปเลี้ยงภายใน 30 วัน ก็จะต้องถูกนำไป “กำจัดทิ้ง” ซึ่งเมื่อเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้สร้างความโกลาหล เกิดการประท้วงในที่สาธารณะ โดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์แย้งว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลให้มีการกำจัดสุนัขที่ไม่ได้รับเลี้ยงจำนวนมาก

อับดุลเลาะห์ กูเลอร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติอาวุโสจากพรรครัฐบาล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ภายใต้ข้อเสนอฉบับแก้ไข สุนัขจรจัดจะถูกย้ายออกจากถนน และนำไปไว้ในสถานสงเคราะห์ โดยพวกมันจะถูกทำหมัน สำหรับสุนัขที่มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว และไม่สามารถฝึกให้เชื่องได้ จะถูกการุณยฆาตทั้งหมด

ขณะเดียวกัน เทศบาลมีเวลา 2 ปีในการจัดตั้งศูนย์พักพิง หรือปรับปรุงสภาพในศูนย์พักพิงที่มีอยู่ ซึ่งเทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณ 0.5% ไว้สำหรับดูแลสุนัขจรจัดและบำรุงรักษาสถานสงเคราะห์ โดยไม่สามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่นได้ หากพบว่ามีการนำงบไปใช้ในทางมิชอบ นายกเทศบาลจะถูกลงโทษตามความเหมาะสม

พร้อมมีการส่งเสริมให้ประชาชนรับเลี้ยงสุนัขมากยิ่งขึ้น หากผู้บริหารท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี ผู้ที่กระทำผิดซ้ำจะต้องได้รับโทษเพิ่มขึ้นและอาจสูญเสียสิทธิ์ในการเลือกตั้งใหม่

ส่วนเจ้าของที่ทิ้งสุนัขหรือเพาะพันธุ์สุนัขที่ถูกห้ามเลี้ยงจะถูกปรับ 60,000 ลีราตุรกีต่อตัว หรือประมาณ 65,000 บาทและจะถูกห้ามไม่ให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงอีก

เนื่องจากพรรครัฐบาลของเออร์โดกันครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผ่านโดยง่าย ทั้งนี้ยังไม่มีการกำหนดวันพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

 

“สุนัขจรจัด” เกลื่อนเมือง ไล่ทำร้ายประชาชน

ตามรายงานที่เผยแพร่โดยสมาคมเพื่อถนนปลอดภัยและปกป้องสิทธิในการมีชีวิต องค์กรรณรงค์ให้กำจัดสุนัขจรจัดทั้งหมดออกจากท้องถนน ระบุว่าตั้งแต่ปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยสุนัขจรจัดแล้ว 65 ราย

ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สุนัขจรจัดมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิต 55 ราย บาดเจ็บมากกว่า 5,000 ราย และเกิดอุบัติเหตุจราจร 3,500 ครั้ง อีกทั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกสุนัขข้างถนนกัดจนได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้ง ๆ ที่อยู่ในกรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศ ทำให้รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

เมลเทม ซอร์บา ทนายความ และอาสาสมัครของสมาคมกล่าวว่า “เรากดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมา 3 ปีแล้ว ไม่ควรมีสุนัขจรจัดตามท้องถนนเข้าทำร้ายคนจนเสียชีวิต ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และทำร้ายสัตว์อื่น ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

นอกจากนี้ สุนัขจรจัดเหล่านี้ยังก่อให้เกิดความกังวลอื่น ๆ รวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า และปัญหาด้านสาธารณสุขจากอุจจาระของสุนัขในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหราชอาณาจักรได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับสุนัขจรจัดสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปตุรกี โดยระบุว่าสุนัขจรจัดมักจะรวมตัวเป็นฝูงและอาจก้าวร้าวได้ แนะนำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้

แม้กฎหมายปัจจุบันจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่จับสุนัขจรจัดไปฉีดวัคซีนทำหมันให้เรียบร้อย แล้วนำพวกมันกลับมาอยู่ที่เดิม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มจำนวนขึ้น โดยในปัจจุบันมีเพียงประมาณหนึ่งในสามของเทศบาลเท่านั้นที่มีที่ศูนย์พักพิงสำหรับแก่สุนัข

“ไม่ใช่ทุกเทศบาลจะมีที่พักพิงหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถดำเนินการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลเล็ก ๆ ไม่มีที่พักพิงหรือแม้แต่จะจ้างสัตวแพทย์เพียงพอ” ดร.มูรัต อาร์สลาน ประธานสมาคมสัตวแพทยศาสตร์ตุรกี 

ดร.อาร์สลันให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จำนวนสุนัขข้างถนนก็คงไม่มีจำนวนมากนักในปัจจุบันกล่าว โดยดร.อาร์สลันกล่าวว่า การละทิ้งสัตว์ การผสมพันธุ์มากเกินไป และการขายสุนัข เป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนสุนัขข้างถนนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ดร.อาร์สลัน เสนอว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตามปรับเจ้าของสุนัขที่นำสุนัขมาทิ้งบนท้องถนน แม้ว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะถูกฝังไมโครชิปและลงทะเบียนในฐานข้อมูลส่วนกลางแล้วก็ตาม

ซอร์บาเสริมว่าการการุณยฆาตควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ควรใช้ในกรณีที่สัตว์ป่วยเกินไปหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสังคม ซึ่งตรงกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวตุรกี ที่พบว่าเกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนมาตรการนำสุนัขออกจากถนนและให้ที่พักพิง และมีไม่ถึง 3% เชื่อว่าสุนัขจรจัดควรถูกการุณยฆาต


ที่มา: BBC, Euro News, South China Morning Post, Turkiye Today

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...