‘เอลนีโญ’ เร่งให้ ทุ่งดอกไม้ในทะเลทรายบานเร็วขึ้น

ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้เกิดความร้อนถล่มทั่วเอเชียมาแล้วในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในอีกซีกโลกหนึ่งเอลนีโญกลับช่วยให้ดอกไม้บานสะพรั่งเต็มพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในชิลี

ทะเลทรายอาตากามา” ทางตอนเหนือของชิลี ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ทะเลทรายที่แห้งแล้งแห่งนี้กลับมามีสีสันสดใสอีกครั้ง ด้วยดอกไม้นานาพรรณที่เบ่งบานทอดยาวหลายร้อยกิโลเมตร 

ระดับน้ำฝนและอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยชุบชีวิตพืชทะเลทรายที่หลับใหลให้กลับขึ้นมาชีวิตอีกครั้ง จนได้รับขนานนามว่า “Desierto Florido” (เดซิเอร์โต ฟลอริโด้) หรือ ทะเลทรายที่เต็มไปด้วยดอกไม้

พืชเหล่านี้เป็นพืชมีเหง้าใต้ดิน ซึ่งทนทานต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย ในช่วงเวลาที่แห้งแล้งมันจะซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน และเมื่อฝนตก ต้นไม้เหล่านี้ก็จะผุดขึ้นมาในฤดูใบไม้ผลิถัดไป โดยเฉลี่ยแล้วจะออกดอกทุก ๆ 2-3 ปี สัตว์ต่าง ๆ ทั้งกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงหลายชนิด ต่างกันมาในบริเวณที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง เกิดเป็นระบบนิเวศที่ไม่เหมือนภูมิภาคใดในโลก

ดอกระฆังชิลีหลากสีสัน และดอกไม้กว่า 200 สายพันธุ์ จะเริ่มบานในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้ ของปีที่เกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” สภาพภูมิอากาศทางธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศโลก เนื่องจากจะเป็นช่วงที่อุณหภูมิในภูมิภาคจะสูงขึ้น ทำให้เกิดการระเหยมากขึ้น และส่งผลให้ฝนตกมากขึ้นด้วย

แต่ในปัจจุบันดอกไม้เหล่านี้เริ่มบานตั้งแต่ช่วงกลางฤดูหนาว ช่วงเดือนกรกฎาคม เพราะมีปริมาณน้ำฝนสูงขึ้น โดยปรากฏการณ์ดอกไม้บานเร็วเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยสังฆราชคาทอลิกแห่งชิลี พบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ดอกไม้บานสะพรั่งเกิดขึ้นประมาณ 15 ครั้ง ตามข้อมูลในปี 2022 และในขณะนี้ดอกไม้เริ่มกลับมาบานอีกครั้ง 

ซีซาร์ ปิซาร์โร หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของสมาคมป่าไม้แห่งชาติ (CONAF) หน่วยงานดำเนินการโดยรัฐบาลชิลี กล่าวกับรอยเตอร์กล่าวว่า “หลังจากนี้จะมีฝนตกมากขึ้น หมายความว่าดอกไม้จะบานไปทั่วพื้นที่ทะเลทราย”

กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีของชิลี คำนึงถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและศูนย์สวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ พร้อมสัญญาว่าจะเป็นผู้นำการต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปี 2022 รัฐบาลชิลีได้ประกาศสร้างเขตอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ในทะเลทรายอาตากามา บริเวณเมืองโคปีอาโปและเมืองวาลเลนาร์ เพื่อปกป้องดอกไม้ที่หายากเหล่านี้พร้อมกับสัตว์ป่า เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และนก ซึ่งช่วยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เกสร

ดร.คริสเตียน อตาลา ศาสตราจารย์จากสถาบันชีววิทยาของมหาวิทยาลัยคาทอลิกบัลปาราอีโซ กล่าวยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมเน้นย้ำว่า “ระบบทางชีววิทยาสุดโต่งทั้งหมดนี้กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย นี่จึงเหตุผลว่าทำไมการปกป้องระบบนิเวศเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ แรงกดดันเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้น จะทำให้วัฏจักรขีวิตเหล่านี้จะหายไปตลอดกาล” ดร.อตาลากล่าว

ทะเลทรายกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าเหมืองแร่ แหล่งเศรษฐกิจสำคัญของอเมริกาใต้ ที่กำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามเป็นพิเศษจากการขุดแร่หิน การรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ที่มา: CNN, National Geographic, Reuters, The Guardian, WION

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...