กฎหมายแบนเที่ยวบินระยะสั้นในประเทศของฝรั่งเศส ช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้จริง ?

เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามให้บริการเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศ สำหรับเส้นทางที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน

กรมการบินพลเรือนแห่งฝรั่งเศส หรือ DGAC ประเมินเอาไว้ก่อนที่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 55,000 ตัน หรือคิดเป็น 2.6% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินในประเทศของฝรั่งเศสในแต่ละปี

กฎหมายดังกล่าวถูกนักวิจารณ์ระบุว่า ยังทำได้ไม่ดีพอมาตั้งแต่ตอนที่เพิ่งออกประกาศใช้ เนื่องจากด้วยระยะเวลาที่จำกัด ทำให้สามารถบังคับได้ไม่กี่เส้นทางเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงการต่อเครื่อง ขณะที่สายการบินต่าง ๆ ระบุว่ากฎระเบียบนี้ไม่ยุติธรรม สหภาพท่าอากาศยานฝรั่งเศสจึงยื่นอุทธรณ์โดยระบุว่าเป็น “การใช้อำนาจโดยมิชอบ” เมื่อต้นปี 2024

อย่างไรก็ตาม สภาแห่งรัฐได้ยกคำร้อง พร้อมให้เหตุผลว่า กฎหมายดังกล่าว “มีแนวโน้มที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางอากาศในระยะสั้น”

ผ่านมาปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่บังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการออกมาว่ามาตรการนี้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นปริมาณเท่าใด 

จากข้อมูลของ เจโรม ดู บูชาร์ด ผู้จัดการการบิน ของ Transport & Environment องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ระบุว่า โดยรวมแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเที่ยวบินภายในประเทศในปี 2023 ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับปี 2022 ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

“นี่คือข้อมูลจริง ก๊าซคาร์บอนจากเที่ยวบินภายในประเทศของฝรั่งเศสลดลง และการห้ามบินระยะสั้นมีส่วนทำให้มันลดลง แต่จะลดลงกี่มากน้อย เป็นเรื่องที่บอกได้ยาก” ดู บูชาร์ดให้ความเห็น

แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ กฎหมายนี้ช่วยให้กิจการของ SNCF บริษัทรถไฟแห่งชาติ กลับมาฟื้นตัวได้สำเร็จ หลังจากธุรกิจรถไฟซบเซาไปตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าอัตราการเดินทางและกิจกรรมทางธุรกิจจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม

ทั้งนี้การสั่งห้ามเที่ยวบินภายในประเทศจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 3 ปี หลังจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสจะพิจารณาผลกระทบก่อนที่ตัดสินใจขั้นต่อไป

แม้กฎหมายนี้อาจจะไม่ได้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากนัก แต่บูชาร์ดกล่าวว่าในฐานะนโยบายของรัฐและการเป็นกฎหมายถือว่าทำได้ดี เพราะกฎหมายนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในฝรั่งเศสตั้งแต่ก่อนการบังคับใช้ ซึ่งการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ถือเป็นสัญญาณให้สาธารณชนรับทราบถึงปัญหา

ดู บูชาร์ดเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะทำให้ชาวฝรั่งเศสพิจารณาการเดินทางแต่ละครั้งว่าคุ้มค่ากับการเดินทางหรือไม่ ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมการเดินทางของพวกเขาเปลี่ยนไป

การสำรวจความเห็นของผู้โดยสารเครื่องบินที่จัดทำโดย DGAC เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า พวกเขาจะทำอย่างไรหากไม่สามารถเดินทางภายในประเทศโดยเครื่องบินได้ 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาจะเดินทางด้วยวิธีทางอื่น ๆ แทน

นอกจากฝรั่งเศสแล้ว สเปนก็เป็นอีกประเทศที่กำลังร่างกฎหมายห้ามบินเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศ ในเส้นทางที่มีการเดินรถไฟที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขและรอผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 

เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและกฎหมายนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมาธิการยุโรป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่ประเทศอื่น ๆในสหภาพยุโรป จะพิจารณากฎหมายนี้เช่นกัน โดยประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็กำลังดำเนินมาตรการเพื่อลดจำนวนเที่ยวบินเช่นกัน 

เยอรมนีเพิ่มภาษีสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและภายในยุโรปเป็น 75% ตั้งปี 2020 ขณะที่เบลเยียมเตรียมเก็บภาษี 10 ยูโร หรือประมาณ 395 บาทสำหรับเที่ยวบินระยะสั้นที่อยู่ห่างจากสนามบินบรัสเซลส์ไม่ถึง 500 กิโลเมตร ในปี 2025

ส่วนเดนมาร์กจะเรียกเก็บค่าภาษีสีเขียวจากผู้โดยสารเครื่องบินทุกรายเป็นจำนวน 100 โครน หรือประมาณ 530 บาท โดยจะนำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับแนวทางปฏิบัติของสายการบินที่ยั่งยืนมากขึ้น

ขณะที่ สหภาพยุโรปจะยกเลิกให้ใบอนุญาตฟรีแก่สายบินตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป โดยจะให้สายการบินจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งอาจจะกลายเป็นต้นทุนที่ตกไปสู่ผู้บริโภคได้

นอกจากนโยบายข้างต้นแล้ว หลายประเทศเริ่มพูดถึงนโยบายการเพิ่มภาษีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว โดยเฉพาะฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศส รายบงานว่าเส้นทางการเดินทางเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวที่พบได้บ่อยที่สุดในฝรั่งเศสคือ เส้นทางระหว่างกรุงปารีสและนีซ โดยผลตก๊าซคาร์บอนต่อคนมากกว่าเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ถึง 4 เท่า และมากกว่ารถไฟถึง 800 เท่า 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ดูจะสวนทางกับธุรกิจการบินของยุโรปที่กำลังฟื้นตัว มีสนามบินหลายแห่งกำลังกลับมาทำการ ตัวอย่างเช่นสนามบินซาแลร์โน คอสตา ดามาลฟี จะเปิดอีกครั้งหลังจากปิดไปตั้งแต่ปี 2561 โดยจะมาพร้อมกับสถาปัตยกรรมล้ำสมัย และอาคารลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 3.3 ล้านคน ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ยังมีเส้นทางการบินเตรียมเปิดใหม่อีกหลายเส้นทาง เช่น สายการบิน Transavia เพิ่มเส้นทางบินจากกรุงปารีสสู่กรุงทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนีย ขณะที่สายการบิน Volotea เตรียมเปิดเที่ยวบินใหม่ 13 เส้นทางทั่วยุโรป จากสนามบินเบรสต์

ส่วนสายการบิน Norse Atlantic Airways จะเริ่มบินระหว่างสนามบินปารีส ชาร์ลส เดอ โกล และสนามบินนานาชาติลอสแอนเจลีสจำนวน 6 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป ทางด้านสนามบินนีซจะมี 2 เส้นทางใหม่ คือ นีซ-อาบูดาบี และ นีซ-อัลบอร์ก


ที่มา: Euro News, Forbes

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...