‘เชอรี่ เข็มอัปสร’ กับธุรกิจยั่งยืน ในวันที่ ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องสำคัญ

เกือบสิบปีแล้วที่ “เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ” นักแสดงมากความสามารถ หันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ “สิริไท” จำหน่ายข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยออร์แกนิก รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอีกหลายอย่างที่ช่วยสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าของเกษตรไทย 

กรุงเทพธุรกิจ” พูดคุยกับ เชอรี่-เข็มอัปสร ถึงการริเริ่มก่อตั้งแบรนด์ “สิริไท” ธุรกิจที่ช่วยเหลือเกษตรไทย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการย่อยสลาย ไปจนถึงการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ตลอดการทํางานด้านสิ่งแวดล้อมมาประมาณ 9 ปี เชอรี่ทำงานในรู้แบบโครงการไม่แสวงหากำไรมาโดยตลอด แต่การจะทำให้ไปต่อแบบยั่งยืนได้ เธอคิดว่าควรจะต้องทำเป็นโครงการสามารถสร้างรายได้ ประกอบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตรงกับช่วงโควิด เชอรี่อยากช่วยชาวนา ด้วยการรับซื้อข้าวจากชาวนาใน จ. สกลนคร โดยเป็นข้าวจากการทํานาแบบฟื้นฟูผืนป่า 

สำหรับชื่อแบรนด์ “สิริไท” มาจากนามสกุล “สิริสุขะ” รวมกับคำว่า “ไท” ที่แปลว่าอิสระ โดยเชอรี่เล่าว่าที่ตั้งชื่อนี้ เพราะอยากให้ชาวนามีอิสระในการตั้งราคา มีความภาคภูมิใจ มาร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน

“ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” ที่คิดมาแล้วทุกขั้นตอน

ตอนแรกเชอรี่ตั้งใจจะทำเฉพาะข้าวอย่างเดียว แต่ธุรกิจอาจจะไปต่อไม่ได้เพราะปัญหาต้นทุน “ด้วยความที่ต้นทุนเราสูง รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม และบรรจุภัณฑ์ของเราก็พยายามทำเรื่อง “EPR” (Extended Producer Responsibility) คือ เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรด้วย ต้นทุนของเราเลยสูง เราก็คิดว่าจะทํายังไงให้มันไปต่อได้ เราอยากจะช่วยชาวนาให้ต่อเนื่อง”

“เราเริ่มแปรรูป เริ่มจากเป็นชาข้าวคั่วง่าย ๆ ปรากฏว่าได้การตอบรับที่ดี ก็เลยมุ่งมาทางการแปรรูปสินค้าจากข้าว” เชอรี่กล่าว

หลังจากนั้น ก็เริ่มคิดค้นสินค้าเพิ่มเติม เริ่มต้นจากสบู่น้ำมันรําข้าว ที่ทำมาจากข้าวที่ปลูกแบบฟื้นฟูผืนป่าจากชุมชนใน จ.ยโสธร แล้วนำมาสกัดเย็นเป็นน้ำมันรําข้าวภายใน 24 ชั่วโมง ผสมกับน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี 

อีกตัวหนึ่งเป็นเทียน ทำมาจากไขรำข้าว ผสมกับไขผึ้งจากทางเชียงใหม่ โดยใช้น้ำผึ้งดอกไม้ป่า และเจสโมไนท์ (Jesmonite) เป็นวัสดุทางเลือกที่ไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน ไส้เทียนก็เป็นฝ้าย 100% เพื่อให้ลดการเกิดเขม่าเวลาจุด ตัวบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้งานเสร็จ ก็สามารถนำไปใช้ใส่ของต่อได้

เชอรี่เปิดเผยว่า “ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว จะใช้ชื่อแบรนด์ “Forest for love” โดยจะนำข้าวเป็นหลัก แล้วหาวิธีเพิ่มมูลค่า ใช้วัตถุดิบจากในประเทศให้ได้มากที่สุด และสินค้าทั้งหมดเป็นโฮมเมด”  

นอกจากนี้ยังมี ไอศกรีม เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนนี้มีด้วยกัน 4 รสชาติ เชอรี่กล่าวว่าปัจจุบันเทรนด์การบริโภคข้าวลดลง ทำให้ต้องพยายามปรับให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น และยังคงต้องเน้นเรื่อง “ESG” [Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)] เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เชอรี่เป็นผู้ประกอบการใหม่ ลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ แต่ก็สนุกดี ได้เรียนรู้ ได้สนับสนุนชุมชน”

 

ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์ของสิริไทคิดมาอย่างดี ใส่ใจครบทุกด้าน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม แล้วก็เรื่องธรรมาภิบาล แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบการ ด้วยการทำบรรจุภัณฑ์เป็นขวดพลาสติก เพื่อให้ง่ายต่อการนํากลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กระดาษฉลากก็ใช้เป็นกระดาษรีไซเคิล 100% และจะง่ายต่อการรีไซเคิล เพราะว่าสามารถแกะออกได้เลย ไม่ได้เป็นสติกเกอร์ หรือใช้กาวเหนียว 

“สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรของไทยเหมือนกัน เราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตรเยอะ ส่งออกไปทั่วโลก แต่มูลค่าส่งออกสินค้าอย่างเดียว มันไม่ได้ราคาสูงมาก ต่างจากเวลาที่เรานำมาแปรรูป เราสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสตอรีสินค้า หรือนวัตกรรม เชอรี่ว่ามันสามารถช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นได้” 

เชอรี่กล่าวว่า การทำให้บรรจุภัณฑ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ทําให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น

“คนจะหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งถ้าเขามีโอกาสได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เกิดความรักความผูกพัน อีกวิธีคือการสื่อสารผ่านข้าวของที่เขาใช้ในชีวิตประจําวัน จะสามารถทําให้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมได้ บางทีคนอยากจะช่วยรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รู้จะเริ่มได้อย่างไร” 

ในการทำผลิตภัณฑ์ เชอรี่เทียบเคียงจากตัวเองในฐานะเป็นผู้บริโภค ที่เวลาไปซื้อของ ก็อยากให้ผู้ประกอบการหยิบยื่นตัวเลือกที่ดี โชว์เห็นว่าจะลดผลกระทบทางลบกับสิ่งแวดล้อมได้แค่ไหน โดยเชอรี่กล่าวว่า ถ้าผู้ประกอบการคิดมาหมดแล้ว คนซื้ออย่างเราก็ยินดีพร้อมสนับสนุน เมื่อได้มาเป็นผู้ประกอบการก็นำหลักการนั้นมาใช้

“หวังว่าผู้บริโภคที่มาใช้ของเราก็จะค่อย ๆ ซึมซับสิ่งเหล่านี้ และเห็นว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมรับผิดชอบได้ พร้อมกับได้ใช้ของที่ดี ปลอดภัยกับตัวเองด้วย” เชอรี่เปิดเผย

ถึงแม้จะพยายามทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกคน แต่คนบางส่วนที่มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไกลตัว เชอรี่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ตั้งแต่ที่เริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เธอยังเชื่อว่าการสื่อสารยังเป็นสิ่งสำคัญ

“คนมักมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว เวลาเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ในต่างประเทศ คนจะเชื่อมโยงไม่ค่อยได้ว่าเกี่ยวอะไรกับเรา เชอรี่ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลาในการสื่อสาร เราจะพยายามไม่หมดกําลังใจและพลังที่จะบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันของเราทุกวัน”

เชอรี่กล่าวเพิ่มเติม ถ้าสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบนั่นแปลว่าต้นทุนทางธรรมชาติ จะสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ “ถ้าเราไม่เริ่มทําตั้งแต่วันนี้ ซัพพลายเชนจะกระทบทั้งสายเลย เพราะฉะนั้นลองดูว่าในชีวิตประจําวัน หรือธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ สามารถมีส่วนร่วมรับผิดชอบได้อย่างไร ต่อให้เล็กน้อย มันก็ที่ดีกว่าที่เราไม่ทําอะไรเลย”

ในปัจจุบันเราได้เห็นผลกระทบที่รุนแรงจากภัยธรรมชาติแล้ว โดยไม่ต้องรอให้ถึงคนรุ่นถัดไป

“เชอรี่เลยอยากจะให้ทุกคนช่วยกัน เพราะว่าคน ๆ เดียวหรือคนกลุ่มเดียว แก้ปัญหาไม่ได้  ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เมื่อทุกคนช่วยกันทําช่วยกันคิด เราจะมีไอเดียใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหา เชอรี่เชื่อมาก ๆ ว่าอย่างน้อยที่สุดเรารับมือได้ทัน”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...