‘ไมโครพลาสติก’ โผล่ใน ‘องคชาต’ หวั่นทำ ‘เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ’

นักวิจัยยังคงพบ “ไมโครพลาสติก” ในร่างกายมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระบบสืบพันธุ์ ช่วงเดือนที่ผ่านมาพบอนุภาคพลาสติกจิ๋วในอสุจิและอัณฑะ แต่งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน IJIR: Your Sexual Medicine Journal พบไมโครพลาสติก 7 ชนิด ใน “องคชาต

เมื่อพลาสติกขนาดใหญ่สลายตัว ไม่ว่าจะเกิดจากการย่อยสลายทางเคมี หรือการสึกหรอทางกายภาพ จะกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” เป็นชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดตั้งแต่เล็กกว่ากว่า 5 มิลลิเมตร ไปจนถึงขนาด 1 ไมโครเมตร ด้วยขนาดเล็กเช่นนี้ ทำให้พลาสติกเล็กจิ๋วเหล่านี้สามารถเข้าไปในร่างกายมนุษย์ จนแทรกซึมเข้าไปในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และก็มีหลักฐานยืนยันว่าอนุภาคเหล่านี้มีอยู่ในร่างกายของเรามากขึ้น

ดร.รันจิธ รามาซามี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้เขียนรายงานการศึกษา กล่าวว่าเขาไม่แปลกใจเลยที่พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชาย เนื่องจากมันเป็น “อวัยวะที่มีหลอดเลือดมาก” เช่นเดียวกับหัวใจ

ตัวอย่างดังกล่าวนำมาจากผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) และอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายเพื่อรักษาอาการที่มหาวิทยาลัยไมอามีระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2023

ผลการศึกษาพบว่า มีไมโครพลาสติกที่แตกต่างกัน 7 ประเภทอยู่ในเนื้อเยื่อองคชาต 4 ใน 5 ตัวอย่าง โดยมีพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) พลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดพลาสติกมากที่สุด รวมถึง พอลิโพรพีลีน (PP) วัสดุทำฝาขวดพลาสติก ทั้งนี้รามาซามีกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าอนุภาคเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาระบบสืบพันธุ์ เช่น อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือไม่

สำหรับผลกระทบที่กว้างขึ้นของการค้นพบนี้ รามาซามีกล่าวว่าเขาหวังว่าการศึกษานี้จะ “สร้างความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งแปลกปลอมภายในอวัยวะของมนุษย์ และส่งเสริมการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้”

แม้ว่าการศึกษานี้ยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในการศึกษาวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการเสื่อมสมรรถภาพและการใช้พลาสติกมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่เสนอว่าไมโครพลาสติกอาจจะทำให้สเปิร์มมีคุณภาพลดลง

ปัจจุบันมนุษย์กำลังบริโภคพลาสติกมากขึ้นกว่าที่เคย ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าผู้ชายที่อายุน้อยกว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในตัวมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมาก ซึ่งการวิจัยของรามาซามีได้ตอกย้ำข้อค้นพบนี้

ผู้ชายเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชาย เป็นชายสูงอายุชาวคิวบาที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่ค่อยได้ใช้พลาสติกมากนัก เขาไม่ซื้อาหารกลับไปกินที่บ้าน ทำให้ไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก และไม่ได้ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก

วิถีชีวิตของชายคนนี้ เป็นสิ่งที่นักวิจัยแนะนำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยงการนำไมโครพลาสติกเข้าร่างกาย เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มและรับประทานอาหารที่ทำจากพลาสติก และไม่นำภาชนะพลาสติกไปอุ่นในไมโครเวฟ

การค้นพบนี้ทำให้ชีวิตของรามาซามีเปลี่ยนไป เพราะตั้งแต่เสร็จสิ้นการศึกษาวิจัยนี้ รามาซามีเริ่มระวังการดื่มจากขวดน้ำพลาสติกมากขึ้น และเขาพยายามใส่อาหารลงในจานทุกครั้งก่อนที่จะอุ่นซ้ำด้วยไมโครเวฟ เขารู้ดีว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าไมโครพลาสติกจะทำให้เกิดคุณภาพของอสุจิต่ำ จนทำให้มีบุตรยากหรือไม่ แต่เขาพอเดาได้ว่าการกระทำเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยไม่ให้พลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้บ้างในบางระดับ

“เรากำลังเผชิญกับอันตรายเหล่านี้จากสังคมที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ผมไม่คิดว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเราต้องเผชิญกับปัญหาไมโครพลาสติกมากขนาดนี้ พวกเขาไม่ได้ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก พวกเขาไม่ได้ซื้ออาหารกลับบ้านมากนัก” รามาซามีกล่าว

 

ไมโครพลาสติก” อาจทำให้องคชาตไม่แข็ง

ไมโครพลาสติกเดินทางไปเกือบทุกมุมของร่างกาย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในปอด ตับ หลอดเลือด อวัยวะเพศชาย และสมอง รวมถึงของเหลว รวมถึงน้ำอสุจิ เลือด น้ำนม และรก เมื่อเดือนที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ค้นพบไมโครพลาสติกในอัณฑะ ยิ่งตอกย้ำแนวคิดที่ว่าไมโครพลาสติกสามารถทะลุสร้างเนื้อเยื่อที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมทะลุผ่านเข้าไปได้ 

ริชาร์ด พิลสเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เพศชายจากมหาวิทยาลัยเวย์นสเตท ผู้ศึกษาสารเคมีในพลาสติกกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยการศึกษาชิ้นล่าสุดของเขาพบว่า ผู้ชายที่มีสารพลาสติไซเซอร์และสารเคมีพลาสติกในร่างกายจำนวนมากจะทำให้อสุจิมีอายุสั้นลง เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่

“ทุกอย่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อสมรรถภาพของตัวอสุจิ” พิลสเนอร์ กล่าว

นอกจากนี้ รามาซามีคาดว่าไมโครพลาสติกอาจมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศยัง แต่ต้องทำการศึกษาต่อไป ทั้งนี้การแข็งตัวของอวัยวะเพศขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งเส้นประสาท ฮอร์โมน กล้ามเนื้อ และความสนใจเรื่องเพศ

รามาซามีกล่าวว่าเรื่องนี้น่ากังวล เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ของปริมาณไมโครพลาสติกในหลอดเลือดที่ส่งออกซิเจนไปยังสมองกับภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง จึงมีความเป็นไปได้ที่ไมโครพลาสติกเชื่อมโยงกับปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศในลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน

“คุณอาจมีหลอดเลือดที่ดี แต่ถ้าคุณไม่มีกล้ามเนื้อที่มีประสิทธิภาพ คุณจะทำให้มันทำงานได้อย่างไร” เขากล่าว


ที่มา: Business Insider, CNN, Independent, The Guardian

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...