ภาวะโลกร้อน-แผนสร้างนิคมอุตสาหกรรม ภัยร้ายทำลาย ‘ประมงพื้นบ้านไทย’

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) เรือธงของกรีนพีซเดินทางมายังประเทศไทยที่จังหวัดชุมพร  ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2567 และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 17- 24 มิถุนายน 2567 เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องทะเลไทย และสิทธิชุมชนชายฝั่ง

สาเหตุที่เรือของกรีนพีซเลือกเดินทางมายังอ. จะนะ จ.สงขลา และชุมพร เป็นเพราะว่าในปัจจุบันทั้งสองพื้นที่มีการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทะเลที่มีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และที่วางไข่ของปลาทูทั้งหมด ชาวบ้านจึงต้องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลในบริเวณนี้ไว้ ทำให้ชาวบ้านคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในจะนะ และ โครงการแลนด์บริดจ์ โปรเจ็กท์ใหญ่ของรัฐบาล 

อีกทั้งในชายฝั่งระนองถือเป็นป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยที่ระบบนิเวศของทั้งฝ่ายอ่าวไทยและอันดามันเชื่อมต่อถึงกัน และนับว่าเป็น “ระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่” หรือ Large Marine Ecosystems (LMEs)

ดังนั้น หากมีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จำเป็นต้องถมทะเลเกือบ 7,000 ไร่ จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายชีวภาพ เช่นเดียวกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะก็จะทำให้ระบบนิเวศเสียหายทั้งแถบ

กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ วิภาวดี แอมสูงเนิน Oceans campaigner นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร ของกรีนพีซประเทศไทย ถึงการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทะเลของชุมชนและสถานการณ์ทะเลไทย โดยวิภาวดีเล่าให้ฟังทั้งสองโครงการยังไม่ได้ยุติโครงการ สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ก็เริ่มเห็น “ความพยายามบางอย่าง” เช่น การกว้านซื้อที่ดินบริเวณที่จะดำเนินโครงการ 

ส่วนจะนะอยู่ในขั้นตอนการประเมินสิ่งแวดล้อม หรือ SCA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง และอะไรจะเป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีศักยภาพทำอะไรบ้าง กรีนพีซ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จนได้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจะนะ 15 ข้อ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานหมุนเวียน 

วิภาวดีย้ำอีกครั้งว่า ในการรวบรวมข้อมูลทุกขั้นตอนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมเสมอ เพราะการพัฒนาที่ดีควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของคนในพื้นที่ ตามแนวคิด “บ้านเราให้เรามีส่วนร่วม” ข้อมูลที่ได้มาจะสามารถมออกแบบเป็นนโยบายพัฒนาที่มันยั่งยืนมากขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็รวมตัวกันสร้าง “พื้นที่คุ้มครองทางทะเล” ตามพื้นที่ชายฝั่งกันมากขึ้น ซึ่งชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการอนุรักษ์ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องมีนิคมอุตสาหกรรม

วิภาวดีเล่าต่อว่า หลายชุมชนทำเรื่องขอจดทะเบียนกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ชุมชนเชื่อว่าหน้าบ้านเรา เราจะดูแลกันเอง และชาวบ้านจะออกแบบธรรมนูญชุมชน กำหนดว่าพื้นที่ไหนเข้าได้ พื้นที่ไหนต้องใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบไหน โซนนี้ห้ามเข้าเพราะมีปะการังอยู่” ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน อีกทั้งทุกคนในชุมชนยังได้มีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะชุมชนเข้มแข็ง

ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายต่าง ๆ ของรัฐไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ที่ชาวบ้านทำมา “หลายครั้งที่นโยบายรัฐบาลมันเบี้ยหัวแตกมาก ๆ อย่างเมื่อก่อนบอกชุมพรว่าให้อนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ พอชาวบ้านทำกันมา 30 ปี ก็จะเอาแลนด์บริดจ์มาลง แล้วโครงการมันจะตัดผ่านภูเขาต้นน้ำที่ไหลลงทะเล แล้วเดี๋ยวจะเปิดให้ใช้อวนลากอีก ชาวบ้านนั่งร้องไห้เลย กลายเป็นว่าความพยายามที่ผ่านมา เราทำไปเพื่ออะไร ถ้าเกิดขึ้นทุกอย่างมันจะพังไปหมดเลยที่เราทำมาทั้งหมด” วิภาวดีกล่าว

 

ภาวะโลกร้อน ทำประมงพื้นบ้านปั่นป่วน

ประมงพื้นบ้าน” เป็นวิธีทำการประมงของชาวบ้านในชุมชนที่ไม่ได้ออกจากฝั่งไกล โดยจะจับเฉพาะสัตว์ที่โตเต็มวัย ปล่อยมีให้สัตว์น้ำมีช่วงเวลาได้วางไข่และเติบโต ในระหว่างนั้นชาวบ้านก็จะหันไปจับสัตว์ชนิดอื่นสับเปลี่ยนตามฤดูกาลที่แตกต่างกัน และใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้น ๆ หรืออาจจะมีทำฟาร์มและกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ไกลจากชายฝั่ง ซึ่งวิภาวดีเล่าว่าในช่วงหลัง แต่ละชุมชนมีการวางแผนว่าแต่ละฤดูกาลสามารถจับสัตว์ชนิดใดได้และห้ามจับอะไร

แตกต่างจากเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ เวลาออกทะเลแต่ละครั้งจำเป็นต้องจับสัตว์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่าน้ำมัน จึงมักจะใช้อวนขนาดใหญ่กวาดสัตว์ทุกชนิดทุกขนาดมารวมกัน ทำให้สัตว์ทะเลไม่มีโอกาสได้เติบโต นับว่าเป็น “การประมงเกินขีดจำกัด” ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่มีพื้นที่สำหรับให้ประมงพื้นบ้านได้ประกอบอาชีพ

นอกจากเรือประมงพาณิชย์จะสร้างผลกระทบต่ออาชีพของชุมชนแล้ว “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างผลกระทบร้ายต่อประมงพื้นบ้านและท้องทะเลไทยเช่นกัน “โลกเดือดทำให้เมตาบอลิซึมภายในตัวปลาพังไปหมด เหมือนปลาเป็นฮีทสโตรก พวกมันจะลอยตายขึ้นมา โดยเฉพาะพวกปลามูลค่าสูง เช่น ปลากะพง” วิภาวดีกล่าว

ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ยังพอปรับตัวได้ ก็จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่เย็นกว่า และเหมาะสมในการใช้ชีวิตมากกว่า ซึ่งหากมีการก่อสร้างอุตสาหกรรมก็จะยิ่งทำให้สัตว์น้ำต่าง ๆ หนีไปไกลกว่าเดิม นำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้ยากกว่าเดิม

วิภาวดีกล่าวต่อว่า ช่วงที่เกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ก็ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง อีกทั้งยังมีสัตว์รบกวน เช่น แมงกะพรุน และเกิดแพลงก์ตอนบูมเยอะขึ้น ซึ่งความแปรปรวนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำประมง กลุ่มชาวบ้านกล่าวว่าตอนนี้มีแต่ความไม่แน่นอนไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ไม่เป็นไปตามฤดูกาลที่วางเอาไว้

ในปัจจุบันทะเลไทยยังคงเต็มด้วยขยะและคราบน้ำมัน ซึ่งถูกซัดเข้ามายังชายฝั่ง แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่า “ไมโครพลาสติก” ในขยะส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งมีชีวิต แต่การศึกษาหลายชิ้นก็พบว่าในปลาก็มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ ขณะนี้คราบน้ำมันทั้งจากเรือขนส่ง เรือประมงต่าง ๆ รวมไปถึงจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำก็จะทำให้ปลามีกลิ่น สีเปลี่ยนไป มีก้อนน้ำมันอยู่ในตัว และตายลงในที่สุด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...