ปี 2566 ‘โลกร้อน’ ที่สุดในประวัติศาสตร์ จากน้ำมือมนุษย์

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth System Science Data กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาถ่านหิน การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้โลกของเราร้อนขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส ในปี 2566 การวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเหลือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถปล่อยได้อีกประมาณ 200,000 ล้านตันเท่านั้น 

หากสถานการณ์การปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีก 5 ปีข้างหน้า โลกจะมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ข้อตกลงปารีสล้มเหลว และจะเกิดหายนะตามมามากมาย

การค้นพบนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ยังคงทำให้โลกร้อนขึ้น และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมช้าลงบ้างก็ตาม “อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา” ศ.เพียร์ส ฟอร์สเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร ผู้จัดทำรายงานกล่าว

โลกร้อนต่อเนื่อง

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2566 มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุบสถิติต่างๆ มากมาย เช่น กรกฎาคม 2566 เป็นเดือนกรกฎาคม ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 ทำให้ทั่วทั้งโลกเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งแอนตาร์กติกละลาย เกิดไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในแคนาดา 

สถานการณ์อุณหภูมิโลกยิ่งเลวร้ายลงอีก หลังจากเกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ในช่วงปีที่ผ่านมา และยังคงสร้างผลกระทบถึงปัจจุบัน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะกล่าวว่า สภาพอากาศจะรุนแรงขึ้นในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นหลักก็ตาม

ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ดีต่อโลกของเรา และไม่เป็นตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น

“ปี 2566 สถิติอุณหภูมิโลกถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกในระยะยาวสูงขึ้นประมาณ 10% เป็นการชั่วคราว เราจะต้องยับยั้งไม่ให้ภัยธรรมชาติทั้งไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2566 กลายเป็นเรื่องปกติ”
-ศ.ฟอร์สเตอร์ กล่าว

ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ยังส่งผลต่อสมดุลพลังงานของโลกอีกด้วย ทุ่นในมหาสมุทร และดาวเทียมกำลังติดตามการไหลของความร้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนลงสู่มหาสมุทร แผ่นน้ำแข็ง ดิน และชั้นบรรยากาศของโลก การไหลของความร้อนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวถึง 50%

ศ.ฟอร์สเตอร์ กล่าวเสริมว่า การปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นประมาณ 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่แหล่งมลพิษอื่นๆ เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ การทำฟาร์ม และการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนการลดระดับการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2566 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.19 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าช่วงปี 2556-2565 ที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.14 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลข้างเคียงส่วนหนึ่งจากการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ จากอุตสาหกรรมการขนส่งเชิงพาณิชย์ ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้ออกระเบียบใหม่ เปลี่ยนองค์ประกอบเชื้อเพลิง เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากเรือ และจำกัดกำมะถัน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา 

นั่นอาจฟังดูว่าเป็นการช่วยโลก แต่ก็ไม่ได้ช่วยได้ทุกด้าน เพราะซัลเฟอร์ช่วยให้โลกเย็นลง โดยการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับเข้าสู่อวกาศ ดังนั้นการเลิกใช้กำมะถันในเชื้อเพลิงทางทะเลแบบเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลให้มีอนุภาคกำมะถันอยู่ในชั้นบรรยากาศลดลง และสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ได้น้อยลง

ถึงแม้ว่ากฎระเบียบเปลี่ยนเชื้อเพลิงของ IMO นี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอัตราปัจจุบันถึง 2 ปี แต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนในระยะยาว

 

โลกร้อนใกล้แตะ 1.5 องศาเซลเซียส

การค้นพบล่าสุดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานหลายฉบับที่ออกในปี 2567 เช่น สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าเมื่อปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.48 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่ การวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ของ NASA ก็สรุปเช่นเดียวกันว่าอุณหภูมิโลกในปีที่แล้วร้อนกว่ายุคก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส 

แม้ว่าทุกองค์กรจะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างเห็นพ้องกันว่าปี 2566 เป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในโลกในรอบ 50 ปี 

“เห็นได้ชัดว่าเราควรดำเนินการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเร็วที่สุด เพราะภาวะโลกร้อน อาจจะเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด” ยาน เอสเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนสกูเทนแบร์ก ในเยอรมนี กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โลกยังไม่ได้ถึงจุดจบหากอุณหภูมิเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส แต่มันจะทำให้โลกเข้าใกล้หายนะมากยิ่งขึ้น การศึกษาขององค์การสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบนิเวศของโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วงภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส 

รวมถึงการสูญเสียแนวปะการังของโลก พันธุ์พืช และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ตลอดจนเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรง และสร้างผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน

ในเดือนพฤศจิกายน นี้ ผู้นำโลกจะรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP29 ในอาเซอร์ไบจาน ที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม



ที่มา: AP News, Phys, Space

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...