‘ภาวะโลกร้อน’ ทำพิษ ‘โอเอซิส’ กลายเป็นทะเลทราย

เป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วที่ “โอเอซิส” พื้นที่สีเขียวในทะเลทราย คอยช่วยชุบชีวิตนักเดินทางในทะเลทราย และทำหน้าที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รักษาชุมชน ส่งเสริมการค้าขาย จุดประกายความหวังและจินตนาการ ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการแทรกแซงของมนุษย์กำลัง “ทำลาย” โอเอซิสเหล่านี้ จากพื้นที่เขียวชอุ่มให้กลายเป็น “ทะเลทราย”

“โอเอซิส” ไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตาในทะเลทราย แต่มีอยู่จริง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณเจริญเติบโต มีแหล่งน้ำ ขัดกับสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งโดยรอบอย่างชัดเจน

โดยแหล่งน้ำของโอเอซิสสามารถมาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น

  • แหล่งน้ำบาดาล คือ น้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมา ทำให้เกิดน้ำพุธรรมชาติหรือแอ่งน้ำ
  • แหล่งน้ำจากภูเขา เป็น น้ำจากฝนหรือหิมะละลายที่ไหลลงมาจากที่สูงรวมตัวกันในพื้นที่ทะเลทรายที่อยู่ต่ำ

แม้โลกของเราจะมีโอเอซิสอยู่เพียงประมาณ 1.5% ของพื้นที่บนโลก กระจายตัวอยู่ใน 37 ประเทศทั่วโลก โดย 77% ของโอเอซิสตั้งอยู่ในเอเชีย และอีก 13% พบในออสเตรเลีย แต่โอเอซิสก็มีบทบาทสำคัญต่อประชากร 10% ของโลก ในฐานะแหล่งทรัพยากรและช่วยให้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแห้งแล้งรุนแรงได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์คุกคามโอเอซิสอย่างรุนแรง การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth's Future แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโอเอซิสทั่วโลกตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งรูปแบบของแหล่งน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป และการแปรสภาพจากโอเอซิสกลายเป็นทะเลทราย

“แม้ว่าชุมชนนักวิทยาศาสตร์จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของโอเอซิสมาโดยตลอด เพราะ โอเอซิสมีความสำคัญทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคแห้งแล้ง แต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจการกระจายตัวของโอเอซิสทั่วโลกมาก่อน” ​​ตงเว่ย กุ่ย นักธรณีวิทยาจาก สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าว

 

“โอเอซิส” ที่มนุษย์สร้าง อาจก่อปัญหาในระยะยาว

นักวิจัยใช้ข้อมูลดาวเทียมในการค้นหาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของโอเอซิส และติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอด 25 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวสามารถบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินและสุขภาพของโอเอซิส 

ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งนักวิจัยยังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทพื้นผิวดินเพื่อค้นหาการแปลงการใช้ที่ดิน

นักวิจัยพบว่า ในช่วงเวลา 25 ปีที่ติดตามข้อมูล พื้นที่โอเอซิสทั่วโลกเพิ่มขึ้น 220,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์จงใจเปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายให้เป็นโอเอซิส โดยใช้การสูบน้ำใต้ดินและการผันน้ำจากที่สูง 

โอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่

  • โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เป็นการเปลี่ยนเส้นทางน้ำจากแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือเจาะบ่อน้ำใต้ดิน เพื่อส่งไปยังพื้นที่ทะเลทราย 
  • เกษตรกรรมที่ใช้น้ำมาก วัตถุประสงค์หลักของโอเอซิสเทียมหลายแห่งคือการสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชที่อาจไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีความต้องการน้ำสูง
  • การพัฒนาเมือง โอเอซิสเทียมถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิประเทศแบบทะเลทราย โครงการเหล่านี้มักต้องการทรัพยากรน้ำจำนวนมากและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการขยายโอเอซิสเทียมนั้นอยู่ที่ความไม่ยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นได้ โครงการเหล่านี้มักจะอาศัยแหล่งน้ำที่มีจำกัดหรือมีการใช้มากเกินไป โดยจีนเป็นประเทศที่มีการสร้างโอเอซิสมากที่สุดถึง 60% 

จากข้อมูลพบว่าประชากรมากกว่า 95% ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนอาศัยอยู่ในบริเวณโอเอซิส ทำให้เกิดการอนุรักษ์ และขยายโอเอซิสบนพื้นที่ 16,700 ตารางกิโลเมตร 

ขณะเดียวกัน “การกลายสภาพเป็นทะเลทราย” (Desertification) ก็ทำให้สูญเสียพื้นที่โอเอซิสมากกว่า 134,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

นักวิจัยประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงของโอเอซิสจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนประมาณ 34 ล้านคนทั่วโลก 

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย คือการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง มักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำปศุสัตว์ที่มากเกินไป (overgrazing) และการใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืน

 

สร้างความยั่งยืนให้ “โอเอซิส”

เมื่อเทียบพื้นที่โอเอซิสที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียไปจากการกลายสภาพเป็นทะเลทรายแล้ว จะยังมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 86,500 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1995-2020 หากมองดูเผิน ๆ การขยายตัวของโอเอซิสอาจเป็นเหมือนชัยชนะของมนุษย์เหนือสภาพทะเลทรายที่รุนแรง แต่ความจริงแล้วแหล่งโอเอซิสจากฝีมือมนุษย์ กำลังปกปิดการสูญเสียโอเอซิสตามธรรมชาติ เนื่องจากการแปรสภาพเป็นทะเลทรายไปพร้อม ๆ กัน

มีความเป็นไปได้สูงที่โอเอซิสเทียมเหล่านี้อาจจะล่มสลายลงในไม่ช้า เพราะโอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นอาศัยการใช้น้ำบาดาลที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเปลี่ยนทิศทางน้ำจากระบบนิเวศที่ต้องอาศัยแม่น้ำหรือทะเลสาบ ซึ่งถือเป็นการใช้น้ำที่ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการทำให้พื้นที่หนึ่งสูญเสียน้ำ เพื่อให้อีกพื้นที่หนึ่งอยู่รอดได้

เมื่อแหล่งน้ำลดน้อยลงและระบบนิเวศถูกรบกวน โอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นก็จะเริ่มไม่มั่นคง และหาทางรักษาให้อยู่รอดได้ยากขึ้น ดังนั้นเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า การสร้างโอเอซิสเทียม ที่เป็น วิธีนี้แก้ปัญหาระยะสั้น จะส่งผลร้ายแรงในระยะยาวหรือไม่

ขณะเดียว “ภาวะโลกร้อน” ทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แหล่งน้ำของโอเอซิสเพิ่มขึ้น แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลายหายไปจนหมด ในที่สุดแล้วปริมาณน้ำในโอเอซิสก็จะลดลง จนทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียว และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณโอเอซิส

การศึกษาเน้นย้ำถึงวิธีการอนุรักษ์โอเอซิสอย่างยั่งยืน โดยเสนอในการปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมการใช้และการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการเหล่านี้ยังช่วยให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กุ่ยยังเสนอให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความยั่งยืนของโอเอซิส “เนื่องจากโอเอซิสแต่ละแห่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้โอเอซิสกลายเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตในหลายประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิด ความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน” เขากล่าว

 

 

ที่มา: Earth, Phys, Science Daily

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...