EU ไฟเขียวต่อเนื่อง จัดระเบียบการผลิตใหม่ ‘เน้นซ่อม ห้ามทิ้ง’

ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และหมุนเวียนทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2024 สภายุโรปได้ผ่านข้อบังคับสำคัญ 2 เรื่องที่เป็นก้าวสำคัญให้เกิดกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับ Ecodesign for Sustainable Products Regulation หรือข้อบังคับด้านการออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับไฟเขียวจากสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเสียงโหวตเห็นด้วย 455 เสียง ไม่เห็นด้วย 99 เสียง และงดออกเสียง 54 เสียง 

ข้อบังคับนี้เป็นการขยายผลไปยังสินค้าในชีวิตประจำวันที่กำหนดให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คงทน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ เมื่อถึงมือผู้บริโภค ต้องสามารถใช้ซ้ำ ปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม ไปจนถึงรีไซเคิลได้

กลุ่มสินค้าชุดแรกที่จะเข้าข่ายภายใน 9 เดือนหลังจากข้อบังคับมีผลทางกฎหมาย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า อะลูมิเนียม สิ่งทอ (โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้า) เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ น้ำยาทำความสะอาด สี น้ำมันหล่อลื่น และสารเคมี

ผู้ผลิตจะต้องจัดทำ Product Passport ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ประสิทธิภาพการใช้งาน ไปจนถึงการจัดการผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดอายุขัย โดยผู้บริโภคต้องสามารถติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็บไซต์สาธารณะ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ

หากมีสินค้าคงค้างที่จำเป็นต้องทำลายทิ้ง ผู้ผลิตจะต้องแจ้งจำนวนพร้อมเหตุผลในการทำลายทุกปี นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังห้ามไม่ให้ทำลายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าภายใน 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และ 6 ปี สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางถึงใหญ่ หากมีการฝ่าฝืน บทลงโทษจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศสมาชิกนั้น ๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ในแต่ละปี การกำจัดสินค้าที่ยังใช้งานได้ทั่วยุโรป ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 261 ล้านตัน ใช้ทรัพยากรกว่า 30 ล้านตัน และสร้างขยะกว่า 35 ล้านตัน ผู้บริโภคยังสูญเสียเงินประมาณ 12,000 ล้านยูโรต่อปีในการซื้อสินค้าใหม่แทนที่จะเลือกการซ่อมแซม ข้อบังคับดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนและทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเติบโตได้อีกประมาณ 4,800 ล้านยูโร

Right to Repair หรือ สิทธิการซ่อม ได้รับความเห็นชอบอย่างล้นหลามจากสภายุโรปด้วยเสียงโหวตเห็นด้วย 584 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง เป็นข้อกฎหมายผูกพันต่อผู้ผลิตให้ออกแบบสินค้าที่สามารถซ่อมแซมได้ง่าย เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้ยาวนานที่สุด 

หลังการขายจะต้องมีบริการซ่อมแซมในราคาและระยะเวลาที่เป็นธรรม และในระหว่างการซ่อมแซม ต้องมีสินค้าทดแทนให้ผู้บริโภคยืมใช้งานได้ชั่วคราว

สินค้าที่ยู่ในการรับประกัน เมื่อได้รับการซ่อมแซมแล้ว จะได้ต้องรับการยืดอายุการรับประกันไปอีกหนึ่งปี และต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกที่จะซ่อมแซมก่อนซื้อใหม่ หลังจากการรับประกันสินค้าหมดอายุลงตามกฎหมาย ผู้ผลิตยังต้องสามารถให้บริการซ่อมแซมสินค้าภายในบ้านทั่วไปที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของสหภาพยุโรปได้ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

กลุ่มสินค้าตามข้อบังคับชุดแรกประกอบไปด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ จอมอนิเตอร์ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน ตู้เย็น และอุปกรณ์ต่อเชื่อม โดยจะรวมเครื่องดูดฝุ่นเข้ามาในอีกไม่ช้า

ไม่เพียงแค่หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น สิทธิการซ่อมยังส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการซ่อม โดยผู้ผลิตต้องจัดสรรชิ้นส่วนอะไหล่และเครื่องมือที่จำเป็นในราคาที่เหมาะสม ห้ามมีข้อกำหนดสัญญาหรือใช้ฮาร์ดแวร์ 

สำหรับซอฟต์แวร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการซ่อม ต้องอนุญาตให้ช่างซ่อมทั่วไปสามารถใช้อะไหล่มือสองหรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติได้ อีกทั้งผู้ผลิตไม่สามารถปฏิเสธการซ่อม ด้วยเหตุผลความไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ หรือเหตุผลว่าสินค้านั้นได้รับการซ่อมแซมจากที่อื่นมาก่อน

หลังจากนี้ คณะมนตรียุโรปจะให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป และ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะกำหนดข้อบังคับนี้ให้เป็นกฎหมายระดับประเทศภายใน 24 เดือน ทุกประเทศต้องมีนโยบายสนับสนุนการซ่อมแซมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 1 แคมเปญ เช่น แจกคูปอง หรือ ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับบริการซ่อม

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปลายปี 2024 สภายุโรปจะผ่านความเห็นชอบครั้งสุดท้ายในการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์สีเขียวและแบนสินค้าที่สร้างความเข้าใจผิดด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดนี้มีเป้าหมายในการปกป้องผู้บริโภคจากการสื่อสารทางการตลาดที่สร้างความเข้าใจผิด หรือ Greenwashing

ในปี 2020 พบว่ามีสินค้าทั่วยุโรปกว่า 53% ใช้คำศัพท์ที่สื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น environmentally friendly, natural, biodegradable, climate neutral, eco เป็นต้น แต่ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้

หากข้อบังคับมีผลทางกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้คำเหล่านี้ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ จึงจะสามารถวางขายได้ในตลาดยุโรป โดยจะมีเวลาให้ผู้ผลิตปรับตัวอีก 2 ปี และจะแบนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิต (emissions offsetting schemes) เพียงอย่างเดียว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...