WEF พบละเมิดสิทธิมนุษยชน 'ด้านสภาพอากาศ' แนะประชาชนรวมกลุ่มฟ้องรักษาสิทธิ

วันที่ 9 เมษายน 2567 คือวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ตัดสินให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์แพ้คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนจากความพยายามไม่มากพอในการแก้ปัญหาโลกร้อน

รวมทั้งเป็นวันเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยข้อมูลว่า อุณหภูมิโลกในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ติดต่อกันยาวนานถึง 10 เดือน ทำให้กระแสมวลที่กำลังสิ้นหวังกับการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มีประกายความหวังขึ้นมาว่าจะได้รับการดูแลเยียวยาจากรัฐบาลในอนาคต

World Economic Forum รายงานว่า คำตัดสินนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีข้อผูกมัดทางกฎหมาย เป็นการนับหนึ่งของรัฐบาลชาติยุโรป 46 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร ที่ต้องยกระดับความพยายามในการดำเนินแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้เห็นว่าการฟ้องร้องแบบหมู่ เป็นสิ่งที่ประชาชนลุกขึ้นมาทำได้

ประเด็นสิทธิมนุษยชนนับเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของคดีที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากกว่า 90% ในปัจจุบัน ตามฐานข้อมูลการดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

มีคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 146 คดี กำลังถูกยื่นเรียกร้องต่อรัฐบาลนอกสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในปัญหาใหญ่ คือ ภัยทางสภาพภูมิอากาศไม่สามารถกำหนดอาณาบริเวณประเทศได้ชัดเจน อาจมีข้อโต้แย้งว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ความรับชอบต่อบุคคลที่อยู่นอกเขตดินแดน

ศาลในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์เคยปฏิเสธผู้ฟ้องร้องจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยเหตุผลนี้

อย่างไรก็ตาม จากการผลักดันของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมนำโดย "เกรต้า ธันเบิร์ก" และเยาวชนทั่วโลก ทำให้คณะกรรมการสหประชาชาติมีข้อสรุปว่าหน้าที่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเด็กและเยาวชน สามารถขยายไปถึงในประเทศอื่นได้ในบางกรณี เช่น มลพิษข้ามแดน ซึ่งถือเป็นการเปิดทางสำหรับการดำเนินคดีเพิ่มเติมในอนาคต

แม้กรณีของสตรีสูงวัยกว่า 2,000 คน ที่สวิสเซอร์แลนด์จะประสบความสำเร็จ ด้วยการให้เหตุผลว่ารัฐบาลล้มเหลวในการหยุดยั้งคลื่นความร้อน ทำให้ตนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและประสบปัญหาสุขภาพ แต่ก่อนหน้านี้ มีอีก 2 คดีในลักษณะคล้ายกันที่ถูกศาลแห่งนี้ตีตกไป

คดีแรก คือ เยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปีในโปรตุเกส ฟ้องร้องว่าคลื่นความร้อนและไฟป่า ทำให้พวกเขาไม่สามารถออกไปเล่นนอกบ้านและไปโรงเรียนได้ อีกทั้งมีอาการวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ แต่ศาลกล่าวว่าคดีนี้ต้องถูกตัดสินในโปรตุเกสก่อน

คดีถัดมา ถูกฟ้องโดยอดีตนายกเทศมนตรีฝรั่งเศส อ้างว่าการเพิกเฉยของรัฐบาลฝรั่งเศสทำให้เมืองของเขาเสี่ยงต่อการจมลงในทะเลเหนือ แต่ศาลปฏิเสธเนื่องจากเขาไม่ได้อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอีกต่อไป และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ฟ้องร้องเป็นเหยื่อโดยตรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับโลก ช่วยให้การฟ้องร้องดำเนินคดีทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยรัฐมีหน้าที่ต้องบรรเทา (Mitigation) หรือปรับตัว (Adaptation) รับมือกับภัยทางสภาพภูมิอากาศ

รัฐจะต้องกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับกลุ่มผู้เปราะบางอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม หากมีการเลือกปฏิบัติจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รายงานเรื่องผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพมนุษย์ จาก World Economic Forum เมือเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าภายในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายขึ้นจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14.5 ล้านคน

นับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกมูลค่ากว่า 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และอากาศร้อนเป็นสาเหตุหลักของความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากที่สุด

นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุขกำลังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะโรคที่มีความเสี่ยงต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น ไข้มาลาเรีย และไข้เลือดออก

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสเกิดภัยน้ำท่วมและคลื่นความร้อนสูงมาก ส่งผลถึงชีวิต และการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียอย่างมีนัยสำคัญ

รวมไปถึงโรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย

มีงานวิจัยในประเทศอินเดียได้ศึกษาหญิงตั้งครรภ์กว่า 800 คน ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทำงานในสภาพอากาศร้อนจัด เช่น ทำเกษตร นาเกลือ หรือโรงงานที่มีเตาเผา มีความเสี่ยงภัยต่อการคลอดบุตรมากกว่าถึงหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในสถานที่เย็น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล

โดยพบว่า 5% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศร้อนประสบภาวะแท้ง เทียบกับ 2% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศเย็น

ในขณะที่ 6.1% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศร้อนต้องคลอดก่อนกำหนดหรือหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ เทียบกับ 2.6% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศเย็น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ไม่มีระบบนิติบัญญัติที่เข้มแข็ง อาจทำให้ประชาชนต้องจำยอมต่อชะตากรรม จากข้อมูลของสหประชาชาติ มีประชากรโลกประมาณ 3,300 – 3,600 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง

โดยเฉพาะทวีปแอฟริกาซึ่งผลิตก๊าซเรือนกระจกเพียง 2-3% ของทั้งโลก กำลังประสบความเจ็บปวดอย่างไม่สมเหตุสมผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จึงมีการเรียกร้องให้เกิดการดำเนินคดีข้ามพรมแดนกับต้นเหตุผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือจีน ที่ควรมีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงสองในสาม

ก่อนหน้านี้ มีความสำเร็จในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินต่อภาคเอกชนมาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2021 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้รอยัลดัตช์เชลล์ หรือ Shell บริษัทพลังงานข้ามชาติสัญชาติดัตช์และอังกฤษ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับเดิมในปี 2019 ให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2030 

"ศาลมีความเห็นว่าเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเชลล์ไม่เป็นรูปธรรมและเต็มไปด้วยเงื่อนไข"

การฟ้องร้องกระทำในนามพลเมืองดัตช์จำนวนกว่า 17,000 คนรวมถึงกลุ่มกรีนพีซ ถือเป็นคดีแรกที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหันไปพึ่งอำนาจศาลเพื่อบังคับให้บริษัทพลังงานรายใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญภัยโลกร้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.bangkokbiznews.com/world/940466

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...