‘โลกร้อน’ ทุบสถิติเป็นเดือนที่ 10 มี.ค.67 เฉลี่ย 14.14 องศาเซลเซียส

โคเปอร์นิคัส หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (อียู) เผยว่า "โลกร้อน" โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แล้ว โดยในเดือนมี.ค.นี้ อุณหภูมิรายเดือนของโลกสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งอุณหภูมิพื้นผิวโลก และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร

ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส ระบุว่า เดือนมี.ค. นี้ อุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าสถิติเก่าที่บันทึกไว้ในปี 2559 ประมาณ 10% และอุณหภูมิสูงกว่าช่วงปลายทศวรรษ 1800 อยู่ 1.68 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นยุคที่ใช้เทียบเป็นฐานอุณหภูมิ เนื่องจากเป็นยุคก่อนเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทำลายสถิติใหม่ทุกเดือน และคลื่นความร้อนบนพื้นผิวทะเลทั่วพื้นที่อันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรทั่วโลกก็เพิ่มสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่า อุณหภูมิสูงทำลายสถิติในช่วงนี้ไม่ได้เป็นน่าแปลกใจนัก เนื่องจากโลกเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่สร้างความอบอุ่นให้กับใจกลางเอเชียแปซิฟิก และเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลก

เจนนิเฟอร์ ฟรานซิส นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยสภาพอากาศวูดเวลล์ ระบุว่า คลื่นความร้อนบนพื้นผิวทะเลที่ไม่เป็นปกตินี้ทำให้อุณหภูมิโลกสูงจนทำลายสถิติ

อย่างไรก็ตาม ฟรานซิส เผยว่า เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญแผ่วลง อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละเดือนอาจลดลงตาม

นักวิทยาศาสตร์ต่างมองว่า อุณหภูมิร้อนเป็นประวัติการณ์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพราะฝีมือมนุษย์ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

“แนวโน้มอุณหภูมิโลกจะไม่เปลี่ยนแปลง จนกว่าความความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องยุติการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดตัดไม้ทำลายป่า และผลิตอาหารอย่างยั่งยืนมากขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้” ฟรานซิสเตือน

นักวิทยาศาสตร์คนนี้คาดการณ์ด้วยว่า อุณหภูมิโลกจะทำลายสถิติมากขึ้นอีก

ซาแมนธา เบอร์เจส รองผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส เผยว่า อุณหภูมิที่ทำลายสถิติในเดือนมี.ค. ไม่ได้ผิดปกติหรือแตกต่างไปจากสถิติในบางเดือนของปีที่แล้วมากนัก

“เรามีเดือนที่โลกอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงมากกว่าปกติ” เบอร์เจส กล่าว ซึ่งเดือนที่ รองผอ.โคเปอร์นิคัสหมายถึงคือ เดือนก.พ.2567 และเดือนก.ย.2566

ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส ระบุว่า ตอนนี้ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 1.58 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิตามความตกลงปารีส

ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในเดือนมี.ค.นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 21.07 องศาเซลเซียส นับเป็นระดับอุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าสถิติในเดือนก.พ. เล็กน้อย ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 21.06 องศาเซลเซียส

“เราต้องการให้โลกดำเนินการด้วยความทะเยอทะยานมากกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถบรรลุเน็ต ซีโร่เท่าที่ทำได้” เบอร์เจส เตือน

ภายใต้ ความตกลงปารีส 2558 ระบุให้โลกควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของโคเปอร์นิคัสจัดทำเป็นรายเดือน และใช้ระบบวัดอุณหภูมิที่แตกต่างไปจากการวัดอุณหภูมิของความตกลงปารีสเล็กน้อย

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบทั้งพืชผลการเกษตร และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก 

ประเทศฟิลิปปินส์มีการสั่งปิดโรงเรียนกว่า 5,000 แห่ง เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนจัด โดยมีดัชนีค่าความร้อน (อุณหภูมิบวกความชื้น) สูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ในบางพื้นที่ เช่น จ.มินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ได้ประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว และให้เรียนออนไลน์ยาวไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย.67 แล้ว และการปรับแผนไปเป็นการเรียนออนไลน์ครั้งนี้มีผลต่อนักเรียนมากถึงกว่า 3.6 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเนื่องจากนักเรียนบางคนยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนออนไลน์

ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชาประสบกับคลื่นความร้อน โดยกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยากัมพูชา ได้ออกประกาศเตือนสภาพภูมิอากาศร้อนจัดระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.67 โดยประเทศอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ด้านการไฟฟ้ากัมพูชาขอให้ประชาชนใช้ไฟอย่างประหยัดในช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นทุกขณะ

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...