ไทยยูเนี่ยน สำเร็จปล่อยน้ำทิ้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลสู่สาธารณะเป็นศูนย์

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก ผนึกกำลัง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวความสำเร็จโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge)ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ เกิดศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร”

โดยไทยยูเนี่ยนเป็นโรงงานต้นแบบในการติดตั้งและดำเนินการโดยวิศวกรคนไทยที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 %

 

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ   โดยมุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Go Green) ความพอเพียงและความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ในปี 2573

รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ  บพข.กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) บพข. ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี 

อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ โดย “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่กำลังจะเปิดให้บริการ จะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือ และร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

“ในปีงบประมาณ 2567 นี้ บพข. มีได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยเรามุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรามีเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG 30 Mt CO2 e , เพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศ”

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณ บพข. ที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนทุนตั้งต้นวิจัยและพัฒนาแก่ไทยยูเนี่ยน เพื่อนำมาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนครั้งสำคัญนี้ได้สำเร็จ โดยโครงการนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนารวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินทุนตั้งต้นจาก บพข. 3.6 ล้านบาท และ ไทยยูเนี่ยน 8.4 ล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 หนึ่งในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

 

“ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีคุณค่าจาก อว. บพข. และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงความทุ่มเทของทีมงานในการออกแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ได้น้ำสะอาดที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนในระบบได้ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียน และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรายินดีให้การสนับสนุน บพข. อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเพื่อโลกของเรา" นายสุทธิเดช กล่าว

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ของไทยยูเนี่ยนคือการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก

 

โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “โครงการ Zero Wastewater Discharge ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของเราเอง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยได้ โดยโครงการนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนที่นำเอานวัตกรรม พันธกิจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร” นายอดัม กล่าว

สำหรับความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง บพข. และไทยยูเนี่ยน ได้แก่ โครงการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และสารสำคัญเชิงหน้าที่มูลค่าสูงจากน้ำมันปลาทูน่า กว่า 4 โครงการ ที่ประสบความสำเร็จเตรียมออกสู่ตลาด และยังมีโครงการแพลตฟอร์มเพื่อการผลิตและวิเคราะห์เปปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารเสริมสัตว์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...