‘เทพรัตน์’ ผู้ว่าฯ คนที่ 16 โชว์แผนดัน 'กฟผ.' รุกพลังงานใหม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานที่ทำหน้าที่ผลิตและจัดหาไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่หลังจากที่เข้าสู่กระบวนการสรรหามาตั้งแต่ ก.พ.2566 

รวมทั้งล่าสุดหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ยืนยันชื่อนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 และเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2567 จะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 1 ปี 4 เดือน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ภาระกิจแรกที่โฟกัสจะเป็นเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้า เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ ถือเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญเรื่องความเสถียรมากที่สุด จากเหตุการณ์วันที่ 18 มี.ค.2521 ไทยเกิดปัญหาไฟดับทั้งประเทศ กฟผ.จึงต้องเร่งปรับปรุงจนกลายเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพระดับต้นของโลก และจากนี้จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 

1.การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ กฟผ.ต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าหลัก

สำหรับแนวทางดำเนินงานจะปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้ยืดหยุ่น การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้ AI มาช่วยเรียนรู้ความคลาดเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่อัจฉริยะ และจะเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำต่อไป 

รวมถึงศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (DCC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือนในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากมองในช่วงปี 2573 สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และความต้องการใช้ไฟฟ้า (พีค) สูงสุดจะเริ่มไปแตะโรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้จะมีความเสี่ยง เมื่อทุกคนต้องการใช้พลังงานจากโซลาร์หรือลม ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าใหม่ต้องดีด้วย ซึ่ง กฟผ.มีระบบแบตตอรีสำรองใน 2 โรงไฟฟ้า เมื่อแสงแดดหายจะเข้ามาเสริม ยอมรับว่าวันนี้ก็ไม่พอจึงต้องนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงให้ดิจิทัลมากขึ้น

กฟผ.รับมือ“อีวี”ดันพีคไฟช่วงหัวค่ำ

2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่สนับสนุนระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง จากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้า มองว่ายังไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับไทยเวลานี้ เพราะเป็นภาระประชาชนที่ไม่ติดตั้งโซลาร์ แต่ต้องมารับภาระการลงทุนระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพราะสุดท้ายหากผู้ใช้ระบบดังกล่าวเกิดปัญหาก็ต้องกลับมาใช้ไฟจากระบบสายส่งหลัก แต่ไม่ต้องรับภาระส่วนนี้ จึงสนับสนุนให้ใช้ระบบ Net Billing ต่อไป

“วันนี้ภาคนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมีผู้ใช้สูงขึ้นแค่เปิดไฟ เปิดทีวี ไฟหัวค่ำก็พีคแล้ว ถ้าทุกบ้านมีอีวีตามนโยบาย 30@30 พีคหัวค่ำจะสูงพีคสูงไปอีกจะเป็นอีกปัญหา เพราะราคาค่าไฟเท่ากัน แต่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องตามต้นทุน โรงถูกจะเดินก่อน หากพีคสูงจะทำให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงจะต้องเดินเครื่อง”

รวมทั้งหากปรับโครงสร้างค่าไฟอาจจะเสนอว่าถ้าชาร์จไฟช่วงหัวค่ำต้องจ่าย 7 บาท อยากจ่ายถูกไปชาร์จตี 1 เป็นต้น ซึ่งต้องทำทั้งระบบ เช่น หากต้องการขายไฟคืนระบบอาจชาร์จตี 1 แล้วขายไฟช่วงหัวค่ำ

นอกจากนี้ กฟผ.สนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

เร่งแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

3.การให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน กฟผ.และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติและเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)

รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ด้วย

4.สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ.ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

5.กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ.ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ.เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยช่วงที่ไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

แนะภาครัฐเคาะค่าไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะโควทต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง 

ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวดงวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ.โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบันกฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...