'สนพ.' เผยปี 66 ภาค 'พลังงาน' ปล่อยคาร์บอนลดลง 2.4% อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตันคาร์บอน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย 

สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน ลดลง 2.4% โดยการปล่อยคาร์บอนจากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 43% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 33% และ 24% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลง 15.0% และ 1.1% ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า  มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน  อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน ลดลง 2.4% โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 81.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 95.2 ล้านตัน ลดลง 9.7% ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 89.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.8%

และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนรวม 13.2 ล้านตัน ลดลง 3.5%

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27  2.28  2.13 และ 2.85 พันตันคาร์บอนต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ"

ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...