เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘ภาวะโลกรวน’ ยังส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกปี ภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากดูจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและสภาพอากาศที่แปรปรวนผิดฤดู ทั้งหมดนี้ส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการสร้างผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องและความมั่นคงในชีวิต

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด สาเหตุหลักเนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในบ้าน โรงงาน และยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา

 

โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก ดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลกเอาไว้ เป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น และกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่ร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ผันผวนและรุนแรงมากขึ้นทุกปี

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ส่งผลให้ฤดูหนาวในปี 2566 ที่ผ่านมา มีอากาศที่ร้อนและอบอ้าว ทั้ง ๆ ที่เรากำลังอยู่ในฤดูหนาว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปแล้วว่า “ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก” และได้พยากรณ์ต่อไปอีกว่า “อุณภูมิอากาศเฉลี่ยของปี 2024 จะสูงกว่าของปี 2023”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • โมเดล“ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” เสริมขีดแข่งขันใหม่ทางการค้า
  • “ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่ ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน
  • การท่องเที่ยว “คาร์บอนต่ำ” สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน BBC NEWS ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเกือบ 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในความตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า เน็ตซีโร่ (net zero) หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

 

รวมไปถึงการขจัดมลพิษทางอากาศที่เหลืออยู่จากชั้นบรรยากาศด้วย และควรจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งประเทศไทยกำลังโอบรับเป้าหมายนี้อยู่ ด้วยโครงการ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย เพื่อตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหาโลกเดือด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

 

จุดเริ่มต้นของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

 

 

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) จึงได้ขับเคลื่อนโดยนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นนวัตกรรม และเชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ร่วมกับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

 

ซึ่งมีความท้าทายในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและการขับเคลื่อนองคาพยพในรายสาขาต่างๆ (Sector) ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน หากสามารถเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ จ.สระบุรี จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาได้

 

ดร. กิติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จนั้นต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วน ความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่และผู้นำของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากระดับนานาชาติที่มากพอให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสของการได้รับการสนับสนุน จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ระดับนโยบายและปฏิบัติ

 

 

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050

ศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า สภาพอากาศในปีที่ผ่านมานั้นถือว่ามีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด และช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศออกมา เช่น การปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก นอกจากนี้ ยังได้ให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ งดการใช้ถ่านหินและหินปูนให้ได้มากที่สุด

 

ขณะที่ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า TCMA ในฐานะสมาคมที่เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี จึงเป็นสาขา สำคัญที่จะมีบทบาทต่อการสนับสนุนการดำเนินการของโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แนวทางปฏิบัติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินอุตสาหกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

 

มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตาม “แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593” (2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap)

 

ความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ TCMA มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย เข้ามาร่วมกันดำเนินการ ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการใช้กลไกการสนับสนุนจากระดับนานาชาติ เชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน

 

เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมืองของจังหวัดสระบุรี ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050

 

 

การดำเนินงานครอบคลุมด้านหลักๆ ดังนี้

1) การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งาน

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง

3) การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลด Waste ในการก่อสร้าง

4) การวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 9 – 12 ล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ /ปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5) การวิจัยและพัฒนา Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากยังมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จากกระบวนการต่างๆ ในสัดส่วนที่ค่อยข้างสูง โครงการ CCUS ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และเงินทุนทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาและวิจัย

 

ดร. กิติพงศ์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย

 

 

จาก “หญ้าเนเปียร์” สู่พืชพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ด้าน เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City)

 

เป็นหนึ่งในความร่วมมือดำเนินงานระหว่างจังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ TCMA โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาวิจัยการส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงานนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

 

โดยดำเนินการนำร่องทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในตำบลเขาเกตุ อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และสร้างกลไกการมีส่วนรวมของภาคประชาชนระดับพื้นที่ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนที่คาดหวังการนำพลังงานสะอาดนี้เข้ามาทดแทนพลังงานจากถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์

 

สำหรับหญ้าเนเปียร์เมื่อมีอายุเกิน 4-5 เดือน จะเป็นเส้นใยแล้วค่อยทำให้แห้ง ส่งเข้าที่โรงปูน โรงปูนจะรับซื้อตันละ 1,500 บาท กิโลกรัมละ 1.50 บาท เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทดแทนถ่านหิน แต่การดูแลหญ้าเนเปียร์ยังยากลำบากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย น้ำ การเก็บเกี่ยว เพราะเกษตรกรมีความสามารถที่จำกัดในการทำให้หญ้าเนเปียร์ย่อยและแห้งได้เอง อาจจะต้องมีการลงทุนโรงอบเพิ่มเติมในอนาคต

 

 

ขณะที่ สมาน แก่นพุทธา สมาชิกสภาเทศบาลเมืองทับกวาง และประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟิร์ส์ เอนเนอร์ยี่ครอป จำกัด กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ เป็นพืชพลังงานที่มีอายุยาวนานถึง 7-8 ปี สามารถดูดซึมคาร์บอนได้เร็ว นอกจากนำไปเป็นพืชพลังงานแล้ว หญ้าเนเปียร์ยังสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลายทางจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ ถือเป็นอีกตัวเลือกให้เกษตรกร นอกจากการทำนาและไร่ข้าวโพด

 

เปลี่ยนขยะธรรมดาๆ ให้เป็นพลังงาน ด้วย “ตาลเดี่ยวโมเดล”

ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริการส่วนตำบลตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาขยะชุมชน เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth)

 

โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาดรวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ด้วยการยกระดับขยะที่ดำและสกปรกให้กลายเป็นเกล็ดที่มีคุณภาพสูง และนำไปต่อยอดทำเส้นใยให้มีราคา ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

 

“การขับเคลื่อนโครงการดำเนินงานใน 2 มิติ คือ การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนด้วยหลักการ 3Rs ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ รองรับการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ ประมาณ 20 ตัน/วัน ในการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลาสติกรีไซเคิล สารปรับปรุงดิน น้ำหมักชีวภาพ เชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuels: RDF) และพลังงานชีวภาพสะอาด ร่วมกับการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจร”

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...