วช.ศึกษา "พื้นที่คุ้มครองทางทะเล"ต้องใช้งบจัดตั้งเท่าใด

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ในพื้นที่นำร่องทะเลอ่าวตราด จังหวัดตราด ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง และเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี

ที่ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และจัดคู่มือเกี่ยวกับการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนนโยบายในการประกาศพื้นที่คุ้มครองแล้ว ยังสามารถที่จะใช้เป็นข้อมูลในการที่จะระดมทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม   

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. นับเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

การประกาศพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เปราะบางให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะแก้ไขปัญหาของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศนั้น ๆ แต่ก็ยังขาดการศึกษาเพื่อที่จะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการที่กำหนดให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลนั้น

นอกจากจะตอบสนองเป้าหมายของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เปราะบางเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์แล้ว ยังเป็นผลประโยชน์กับความอยู่รอดของมนุษย์และมีความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

รศ.อรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ นักวิจัยอิสระ เปิดเผยว่า เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้คือการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในพื้นที่นำร่อง  3 แห่ง

เพื่อพิสูจน์ว่าการลงทุนในการดำเนินการเพื่อยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล รวมทั้งชดเชยค่าเสียโอกาสของรายได้ของหน่วยเศรษฐกิจ ที่จะได้รับผลกระทบจากการจำกัดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นคุ้มทุนเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม

และเมื่อวิเคราะห์ถึงความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่แล้วพบว่าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอ่าวตราด เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามสภาพทางธรรมชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลที่หายาก โดยชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรังมีสัตว์ทะเลหายากที่พบในจังหวัดตรัง ได้แก่ โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาลายแถบ โลมาริสโซ่ เต่าตนุ เต่าหญ้า และพะยูน

ส่วนพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกาะโลซิน อยู่ในเขตปกครองของอำเภอ ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี จัดเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลประเภท Off-shore Marine Protected Area ที่มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีแนวปะการังที่สำคัญ

เช่น ปะการังโขด ปะการังเขากวาง ปะการังช่องเล็ก ปะการังดอกกะหล่ำ และยังเป็นแหล่งหากินของชนิดพันธุ์สัตว์หายาก เช่น ฉลามวาฬ ปลาโรนัน และกระเบนราหู ขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยการกระทำของมนุษย์ เช่น การประมง และการท่องเที่ยว

      เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณลงทุนเพื่อการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและบริหารให้มีประสิทธิภาพแล้ว

- พื้นที่คุ้มครองทางทะเลอ่าวตราดจำเป็นต้องมีการใช้งบประมาณ 152.7 ล้านบาท

-พื้นที่คุ้มครองทางทะเลชายฝั่งทะเลจังหวัดตรังงบประมาณที่จะต้องใช้คือ 290.9 ล้านบาท 

-พื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกาะโลซิน งบประมาณที่จะต้องใช้คือ 227.5 ล้านบาท

ยอดเงินทั้งสามนี้ยังไม่ได้รวมถึงงบประมาณที่คำนวณไว้สำหรับการชดเชยค่าเสียโอกาสของรายได้จากการทำการประมง กรณีที่มีการกำหนดเขตห้ามจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงงบประมาณของการฟื้นฟูและปลูกหญ้าทะเลและป่าชายเลนสำหรับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและพื้นที่คุ้มครองทางทะเลชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง

และยังไม่ได้รวมถึงงบประมาณสำหรับการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พะยูน ฉลามวาฬและกระเบนราหู 

ประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนเพื่อการจัดตั้งและบริหารพื้นที่คุ้มครองทางทะเลมีอยู่ 3 ด้านด้วยกันคือ รายได้จากการจับสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งทะเล มูลค่าของคาร์บอนจากพื้นที่หญ้าทะเลและป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของสัตว์ทะเลหายากที่พบในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

      ผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั้ง 3 พื้นที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า สังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์สุทธิน้อยกว่าหากมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

ทั้งนี้แม้ว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิของทั้ง 3 พื้นที่มีค่าเป็นบวกซึ่งมีความหมายว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนของการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มทุน

แต่เมื่อมูลค่าปัจจุบันสุทธิต่ำกว่ากรณีที่ไม่ลงทุน เกณฑ์ในการตัดสินใจก็คือไม่ควรจะลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลของการวิเคราะห์ ครั้งนี้ขึ้นอยู่กับมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ (non-use) ที่ประเมินภายใต้โครงการนี้

ซึ่งในอนาคตจะเปลี่ยนไปได้เมื่อสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อจำนวนประชากรของสัตว์ทะเลหายากเปลี่ยนไป และเมื่อประชาชนทั่วไปมีการรับรู้มากกว่านี้เกี่ยวกับภัยคุกคามและโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากของประเทศไทยเสี่ยงสูญพันธุ์

สำหรับการขยายผลต่อยอดเกี่ยวกับต้นทุนในการจัดตั้งและบริหารพื้นที่คุ้มครองทางทะเลนั้น ก็จะสามารถนำไปเติมช่องว่างของความรู้ในส่วนของประเทศไทย

นอกจากนั้น ต้นทุนที่คำนวณได้นี้ก็เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะสามารถนำไปใช้ต่อยอด เพื่อการสร้างกลไกทางการเงินเพื่อที่จะนำมาใช้ให้บังเกิดผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และเพื่อที่จะไม่ให้พื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ประกาศไว้กลายเป็นเพียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในหลักการเท่านั้น.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...