กกพ. จ่อประชาพิจารณ์ราคา 'ไฟฟ้าสีเขียว' 4.55 บาท ก่อนเคาะจริง ก.พ.นี้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในไม่เกินเดือนก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” มีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้ รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

"กกพ. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม"

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของความภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio Circular-Green (BCG) มีผู้ร่วมโครงการ 60,000 โรงงาน จาก 70,000 โรงงาน  และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น 

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกพ.ได้มีนโยบายเตรียมความพร้อมจัดหาไฟฟ้าสีเขียว มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการ และรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว  และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค.2567 นี้ สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

“เรามองว่าเรื่องค่าบริการไม่น่าเป็นเรื่องหลักของไฟฟ้าสีเขียว แต่เรื่องความเสถียรภาพของการให้บริการมากกว่าที่นักลงทุนมอง และเรามั่นใจว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบ และนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในระยะเริ่มต้น อาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้น และปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็น และเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ 

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดูแล รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด  มีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ 

ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค.2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...