รอฟังคำพิพากษา “พิธา” ยัน ทำงานการเมืองต่อ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาทิศทางไหน

“พิธา” หวังได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ยัน ที่ผ่านมาเต็มที่แล้ว และไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาทิศทางไหน ก็ขอทำงานทางการเมืองต่อ “ธีรยุทธ” ไม่ติดใจการไต่สวน ย้ำ ร้องให้ยุติ หรือยกเลิกการกระทำก้าวล่วงสถาบัน ไม่ได้ร้องถึงยุบพรรค

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวให้สัมภาษณ์หลังการเข้าให้คำไต่สวนกับศาลรัฐธรรมนูญ ว่า กระบวนการราบรื่น ส่วนตัวรู้สึกพอใจต่อการแถลงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเดือนหน้าศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 2 คดี เชื่อว่าทุกสิ่งตั้งใจมาอย่างมั่นใจในข้อเท็จจริง ซึ่งรายละเอียดไม่สามารถที่จะลงลึกได้ เพราะจะเป็นการละเมิดอำนาจของศาล 

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงทั้งเรื่องข้อเสนอที่มีการแก้ไขในนิติบัญญัติก็ไม่ได้มาจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรก เพราะมีกระบวนการมาตั้งแต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และสมัยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดจนการบริหารสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2563-2564 และพรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคเดียวในฐานะกรรมาธิการก็มีเยอะ หรือแม้แต่การพูดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้มาจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวตามคำถามที่ปรากฏในเวทีดีเบตเมื่อช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งหมดน่าจะยืนยันได้ว่าทั้งเจตนาและการดำเนินการ รวมถึงรายละเอียด เป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง

ผู้สื่อข่าวถามต่อไป หากผลการตัดสินออกมาในทางที่ดี พร้อมที่จะกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา ระบุ ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงทำงานอยู่กับพรรคก้าวไกล แต่หากผลการตัดสินออกมาเป็นคุณ ก็หวังว่าจะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ส่วนบทบาทของพรรคก้าวไกล ต้องรอเดือนเมษายน 2567 ที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ยึดติดอะไร ยังทำงานการเมืองได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในทิศทางใดก็ยังทำงานทางการเมืองต่อได้

...

ส่วนคำถาม มั่นใจว่านโยบายนี้พรรคก้าวไกลจะยังใช้ต่อได้หรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในการหาเสียงที่ผ่านมา และเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็น สส.ชุดใหม่ จึงยังไม่ได้หารือกันในพรรคว่าปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่ แต่ยังเป็นหนึ่งใน 300 นโยบายที่ใช้หาเสียงที่ผ่านมา ตามที่ยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ จึงไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินการต่อหรือจะทำอย่างไร 

ขณะเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือให้พรรคก้าวไกลยุติการใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลกระทบกับจุดยืนของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา เผยว่า ต้องรอให้คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน และเป็นเรื่องของ สส. แต่ละคนที่จะพิจารณา เพราะสถานการณ์และบริบทของบ้านเมืองตอนนี้แตกต่างกันไป ตอนที่พรรคก้าวไกลยื่นในปี 2564 สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้ง และใช้ความรุนแรงคดีมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อย โดยเฉพาะเยาวชน พรรคก้าวไกลจึงคิดว่าการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้จะเป็นทางสายกลางและเป็นทางออกของการเมืองในตอนนั้น ขณะที่สิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมก็คือสัดส่วนเมื่อมีการละเมิดเสรีภาพขึ้นมา การลงโทษจึงต้องให้สัดส่วนซึ่งก็คือกระบวนการของรัฐสภา 

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ยังบอกอีกว่า พอใจต่อการชี้แจง และหากย้อนเวลาได้ คิดว่าไม่มีอันไหนอยากจะเปลี่ยนหรือจะทำเพิ่ม ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว และจะได้กลับเข้าสภาอีกหรือไม่ ก็ต้องรอคำพิพากษาวันที่ 24 มกราคม 2567

ทางด้าน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้อง เปิดเผยภายหลังการเข้าให้คำไต่สวนว่า จากการไต่สวนในวันนี้ไม่มีสิ่งใดที่ติดค้างใจ เพราะศาลก็เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างสูง ตนก็รอคำวินิจฉัย เพราะจะได้ทราบแนวทาง จะได้ทราบไว้เป็นความรู้ที่จะคู่อยู่กับแผ่นดินนี้ไปอีกนาน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำพิจารณาวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. 

เมื่อถามว่าในชั้นศาลมีการใช้หลักฐานอะไรที่เป็นการอ้างอิงว่า นายพิธาและพรรคก้าวไกล ดำเนินการเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง นายธีรยุทธ กล่าวว่า สิ่งแรกคือได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักการไว้ในการวินิจฉัยกรณีการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม เป็นการล้มล้างการปกครอง มาเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการหาเสียง การชูนนโยบาย การเผยแพร่นโยบาย การนโยบายได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อเฟซบุ๊กเว็บไซต์ หรือช่องทางการสื่อสารที่เป็นช่องทางหลักของพรรคก้าวไกล ประกอบกับมีพฤติการณ์ของสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือ สส.ของพรรค ที่มีลักษณะอาจเข้าข่ายสนับสนุนการแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะก่อการที่มีการยุยงปลุกปั่นอยู่ด้านนอก 

สำหรับคำถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรา 112 จะยื่นให้ร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อไปหรือไม่ นายธีรยุทธ ตอบว่า ยังไม่คิดถึงขั้นนั้น เพราะโดยหลักของการมาศาล จะมีข้อกำหนดว่าจะปรารถนาอย่างอื่นเกินกว่าสิ่งที่ได้ยื่นคำร้องหรือยื่นฟ้องไว้นั้นไม่ได้ หากศาลเห็นว่าเราปรารถนายิ่งไปกว่าอย่างอื่นที่จะวินิจฉัย ศาลอาจจะไม่ให้ความยุติธรรมกับเราได้ ซึ่งตามคำร้องตนปรารถนาเพียงว่าให้เกิดการหยุด ให้เกิดการยกเลิกที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบัน นั่นคือสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ได้มีการให้ศาลพิจารณาถึงการยุบพรรค

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาตามคำร้องของตนอยู่ที่การที่จะมีช่องทางใดก็ตามแต่ที่จะให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงสถาบัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการกัดเซาะ บ่อนเซาะ หรือบ่อนทำลายแม้แต่เพียงเล็กน้อยซึ่งอาจจะขยายวงกว้างได้ในภายหน้านั้น ตนเห็นเพียงแค่ว่าจะต้องหยุดยั้ง ซึ่งอำนาจของตนและประชาชนที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็มีไม่มาก โดยเห็นว่ามีเพียงศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอำนาจวินิจฉัยและสั่งหยุดยั้งการกระทำนั้นได้ จึงเลือกที่จะเดินทางนี้ เพราะเป็นช่องทางที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เมตตารับไว้วินิจฉัย.

(ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

คอนเซปต์ทางธุรกิจเรื่อง Too Big to Fail ที่เคยเชื่อกันว่าธุรกิจใหญ่เกินไปที่จะล้มได้ หรือใหญ่เกินไปท...

รู้จัก ‘การประมูลแบบดัตช์’ หนทางรอดสินค้าค้างสต็อกแฟชั่นออนไลน์

แพลตฟอร์มแฟชั่นหรูชื่อดังอย่าง Farfetch, Matchesfashion และ Yoox Net-a-Porter กำลังเผชิญกับวิกฤติทาง...

'เฮอริเคนมิลตัน' ขึ้นฝั่งฟลอริดา ทอร์นาโดหลายลูกถล่มซ้ำ

รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา แถลงข่าวประจำวันเมื่อเย็นวันพุธ (9 ต.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่น ยืนยันเ...

‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ถล่มกันยับด้วยพายุเฮอริเคน

รองประธานาธิบดีแฮร์ริส กล่าวเมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เธอคิดว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ...