คุยกับผู้กำกับ-นักเขียนบท “Solids by the Seashore” ความสัมพันธ์ คลื่นทะเล และการทลายเขื่อนหินในใจ

Solids by the Seashore หรือชื่อภาษาไทย ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ เป็นหนังที่เล่าความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนที่รู้สึกดีต่อกัน... นี่คือคำพูดของ อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก ที่ให้คำนิยามน่ารักๆ ถึงภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ซึ่งได้เขียนบทร่วมกับ คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนรุ่นใหม่ที่บางคนอาจจะเคยอ่านหรือกดไลค์ผลงานเขียนของเขาผ่านโลกออนไลน์มาแล้ว

ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ชาตี’ หญิงสาวชาวมุสลิมในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ ได้พบกับ ‘ฝน’ ศิลปินหญิงที่เดินทางมาจัดนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับเขื่อนหินกั้นคลื่น ทั้งคู่สนิทสนมกันจนเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นในใจ ท่ามกลางกระแสคลื่นที่ซัดกระทบเขื่อนหินและกัดเซาะชายหาดในเวลาเดียวกัน เมื่อบางครั้งสิ่งที่สร้างมาเพื่อป้องกัน แต่กลับเป็นตัวการทำลายชายหาดเสียงเอง...

ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถคว้าสองรางวัล ได้แก่ LG OLED New Currents Award และ NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 (BIFF) มาครองได้สำเร็จ โดยที่ อิฐ-ปฏิภาณ มักจะกล่าวย้ำเสมอว่า “Solids by the Seashore” ก็เหมือนการทำงานกลุ่มร่วมกันบนผืนผ้าใบแคนวาส ที่เปิดโอกาสทุกคนได้จับพู่กันแต่งแต้มระบายสีสันของตัวเองลงไป

...

คุยกับ ‘ปฏิภาณ บุณฑริก’ ผู้กำกับภาพยนตร์ Solids by the Seashore และนักเขียนบท ‘คาลิล พิศสุวรรณ’

ใกล้เที่ยงวันของวันที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM 2.5 ไทยรัฐออนไลน์มีนัดพูดคุยกับ อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก และ คาลิล พิศสุวรรณ ทั้งสองเป็นผู้เขียนและร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง Solids by the Seashore แม้โปสเตอร์จะนำเสนอด้วยภาพเขื่อนหินกั้นคลื่นชวนนึกถึงเสียงคลื่นกระทบชายฝั่ง แต่ อิฐ-ปฏิภาณ กลับบอกว่านี่ไม่ใช่หนังสิ่งแวดล้อมเสียทีเดียว ทว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่มุมมองอื่นๆ ที่อาจไม่ค่อยมีใคร ‘กล้า’ หยิบยกมาพูดคุยกันตรงๆ ในสังคม ซึ่งพวกเขาอยากจะชวนทุกคนมาเปิดบทสนทนาร่วมกันผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

ทำไมถึงสนใจนำประเด็นเขื่อนหินกั้นคลื่น มาขยายต่อเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ (Solids by the Seashore)

ปฏิภาณ : ย้อนไปเมื่อประมาณ 11 ปีก่อน ได้เข้าร่วมโครงการสื่อศิลป์ดิน น้ำ ป่า (ThaiPBS) เพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติ เราสนใจโครงการใหญ่ๆ ที่เสียงของมนุษย์ตัวเล็กๆ ต่อรองได้ยาก ซึ่งในช่วงนั้นมีข่าวเรื่องกำแพงกั้นคลื่น ก็เลยใช้โอกาสนี้เดินทางไปจังหวัดสงขลาเพื่อทำสารคดีที่มีชื่อว่า ‘น้ำตานางเงือก’ ได้สัมภาษณ์คุณพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา

เรานัดเจอกันที่ชายหาด เขามีมุมมองว่าการสร้างกำแพงกั้นแนวคลื่นเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณแพงเกินไป มนุษย์เราทำไมต้องไปสร้างถนนใกล้ทะเลขนาดนั้น แล้วก็ต้องมาปกป้องถนนอีกที หรือไม่ก็ต้องสร้างแนวกั้นคลื่นไปอีกเรื่อยๆ ทำไมมนุษย์ไม่ถอยร่นไปแทนล่ะ แต่ต่อมาคุณพีระก็เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร บางครั้งการเป็นคนตัวเล็กๆ ที่มาเปิดหน้าต่อสู้กับโครงการใหญ่ๆ อาจทำให้ขัดแย้งกับหลายฝ่ายได้

ประเด็นนั้นก็ยังคงติดค้างอยู่ในใจเรามาตลอด อยากที่จะขยายให้เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คนด้วย ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้รู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนมุสลิมหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่มีเรื่องราวของการถูกกดทับบางอย่างไว้อยู่ น่าจะพอนำมาเปรียบเทียบกันได้ ก็เลยสนใจที่จะพัฒนามาเป็น Solids by the Seashore และชักชวนคาลิลมาร่วมเขียนบท เพราะอยากให้มีมิติมุมมองด้านศาสนาด้วย

กว่าที่ภาพยนตร์จะเสร็จสมบูรณ์ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ระหว่างทางต้องเจออุปสรรคและข้อจำกัดอะไรบ้าง

ปฏิภาณ : หลักๆ คือเรื่องการหาเงินทุนที่ทำให้เราต้องใช้เวลานาน หาทุนและพัฒนาบทภาพยนตร์ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อทุนไม่ได้เยอะ เราก็ต้องต่อรองกับตัวบท โดยที่พยายามเล่าใจความเดิมที่ต้องการสื่อสารออกไปภายใต้ข้อจำกัดที่มี

เคยคิดเล่นๆ ว่าหนังเรื่องนี้ก็เหมือนลูกสาวคนหนึ่งที่เติบโตด้วยตัวเอง เราอาจจะเป็นแค่ผู้ปกครอง หรือแค่คนที่บอกแนะนำแนวทางให้เขา แต่สุดท้ายแล้วเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกเอง ผมมักจะบอกทุกคนว่าในฐานะผู้กำกับ ก็จะเห็นแนวทางที่จะไปแหละ แต่ไม่เห็นภาพสุดท้ายว่าหนังจะออกมาเป็นอย่างไร แล้วเด็กคนนี้ก็ไปเจอเพื่อนใหม่ รู้สึกสนุกดีที่เขาได้เจอเส้นทางของตัวเอง

คาลิล : บางคนที่ไปดู Solids by the Seashore มาแล้ว อาจจะรู้สึกว่าเนื้อหามีแค่นี้เอง ทำไมถึงใช้เวลาสร้างและเขียนบทนานถึง 7 ปี ขั้นตอนระหว่างนั้นคือการเฉือนในสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ต้องโฟกัสออก จริงๆ มีตัวละครและฉากต่างๆ อีกเยอะ แต่พอมานั่งตกผลึกก็ค่อยๆ เลือกเฉพาะสิ่งที่อยากจะพูดออกไปจริงๆ จนกลายมาเป็นเวอร์ชันนี้

...

ไอลดา พิศสุวรรณ และ รวิภา ศรีสงวน นักแสดงนำจากภาพยนตร์ “Solids by the Seashore”

เรื่องเงินทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาและสิ่งที่ขาดแคลนมาตลอด โดยเฉพาะในวงการคนทำภาพยนตร์ไทยทางเลือกหรือสายอินดี้

ปฏิภาณ : จริงๆ หนังเราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมนะ ตอนนั้นได้รับก้อนเล็กๆ เป็นทุน Development แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือปีที่เราได้ เป็นปีสุดท้ายของทุนนั้น แล้วตอนนี้มันก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เท่ากับว่าเราไม่มีทุนสนับสนุนหนังจริงๆ ในประเทศอีกแล้ว

ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวหรือพยายามพูดถึงเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้นนะ แต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่รอดูอยู่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง อยากรู้เหมือนกันว่าแนวทางที่นำไปสู่การสนับสนุนคนทำภาพยนตร์ให้เกิดขึ้นจริงจะเป็นยังไง เรามองว่าในประเทศไทยมีคนเก่งหรือมีไอเดียที่น่าสนใจเยอะ แต่พอไม่มีการสนับสนุนมันจึงกลายเป็นการ ‘ดิ้นรน’ ด้วยตัวเอง ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถดิ้นรนในระดับนั้นได้

...

ตอนที่ไปงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ ได้เจอเพื่อนชาวอินโดนีเซีย เขาก็ชวนเรานั่งแท็กซี่กลับโรงแรมด้วยกัน เพราะเขาบอกว่าเงิน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารถและค่าเดินทาง รัฐบาลเขาสนับสนุนให้หมดเลย หรือแม้แต่ให้ทีมงานและโปรดิวเซอร์เดินทางไปเพิ่มได้ ออกค่าตั๋วให้ เพราะถือว่าคนเหล่านี้ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Solids by the Seashore” คว้า 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28

สาเหตุอะไรที่ทำให้ตัดสินใจชวนคาลิลมาร่วมเขียนบทภาพยนตร์

ปฏิภาณ : เคยอ่านงานเขียนเรื่องสั้นผ่านเฟซบุ๊กของคาลิล รู้สึกจะเป็นเรื่องผู้ชายที่แอบชอบผู้หญิงคนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้แต่งงานกัน เราอ่านแล้วชอบมาก ยิ่งพอได้มาคุยกับคาลิล ก็พบว่าเราสองคนมีจุดร่วมที่เหมือนกันก็คือ ไม่ชอบเรื่อง Toxic Masculinity หรือความเป็นผู้ชายที่มันเป็นพิษ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านงานเขียน โดยที่คาลิลเองก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำในตอนนั้น 

...

ก่อนมาเขียนบทเรื่องนี้ มีมุมมองหรือการรับรู้อะไรที่เกี่ยวกับ ‘เขื่อนหินกั้นคลื่น’ หรือได้คลุกคลีกับประเด็นสิ่งแวดล้อมบ้างไหม

คาลิล : เราไม่ได้เป็นคนที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น ตอนนั้นยังไม่รู้จักเลยว่าเขื่อนหินกั้นคลื่นคืออะไร ถึงจะไปทะเลบ่อยๆ แต่บ้านเราที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้เป็นชายหาดแบบเดียวที่สงขลา ไม่ได้มีโครงการกั้นคลื่นอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมขนาดนั้น แต่หลังได้คุยกับพี่อิฐ-ปฏิภาณ เราเริ่มมองเห็นบริบทและความขัดแย้งบางอย่างที่สามารถนำมาเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ 

ปฏิภาณ : ตอนแรกเราไม่ได้ไปชวนคาลิลมาเขียนบท ด้วยการบอกว่าจะทำหนังสิ่งแวดล้อมหรอก ถ้าเป็นแบบนั้นคาลิลก็คงไม่เขียนหรอกมั้ง (หัวเราะ) แต่เราบอกว่าจะทำหนังเกี่ยวกับชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ถูกเปรียบเทียบจากโครงสร้างนี้ เดิมทีมันมีเนื้อหาเยอะกว่านี้ด้วย แต่สุดท้ายเราก็เลือกที่จะโฟกัสจุดที่ช่วยสื่อสารได้ดีที่สุด ผ่านตัวละคร ‘ชาตี’ และ ‘ฝน’ อะไรที่น่าจะไม่ใช่หรือซับซ้อนเกินไปก็ตัดออก 

การเป็น ‘คนใน’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการถูกกดทับบางอย่างที่มองเห็นในศาสนาของตัวเอง ผ่านตัวละครชาตีที่รู้สึกว่าเธอเป็น ‘คนนอก’ ของพื้นที่นั้น มีความเชื่อมโยงกับตัวคุณอย่างไรบ้าง

คาลิล : เราเติบโตมาในครอบครัวมุสลิมที่มีผู้หญิงค่อนข้างเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ชายอยู่ในครอบครัวนั้นด้วย ซึ่งสิ่งที่เราเห็นและรับรู้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ก็คืออำนาจบางอย่างในศาสนาและสถานะของผู้หญิง

เราโตมากับการเห็นภาพของผู้หญิงกับผู้ชายนั่งแยกกันในสุเหร่า โดยที่ผู้ชายจะได้นั่งอยู่ตรงพื้นที่ด้านหน้า ในขณะที่ผู้หญิงจะแยกออกมาอยู่ข้างหลัง ภาพของผู้หญิงที่มักจะอยู่ในครัว ขณะที่ผู้ชายจะนั่งข้างบนคอยรับแขก การสังเกตอะไรเหล่านี้มาเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งมันก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ทำไมสถานะของผู้หญิงกับผู้ชายถึงแตกต่างกัน แล้วทำไม ‘เสียงของผู้หญิง’ ถึงมักจะเบากว่าเสียงของผู้ชาย เราสนใจประเด็นนี้และอยากหยิบมันออกมาพูด

อีกประเด็นหนึ่งคือด้วยความที่เราเติบโตมาในชุมชนที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ไปเรียนโรงเรียนพุทธ เติบโตมากับกลุ่มเพื่อนคนพุทธ แต่เราเป็นมุสลิม มันเลยเรียกร้องให้เราต้อง ‘ต่อรอง’ กับอะไรหลายอย่างอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งก็เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนต่างศาสนาว่า ถ้าเราเป็นแบบเขาก็คงจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้นะ สิ่งที่ในความเป็นจริงเราทำไม่ได้เพราะเป็นมุสลิม

แน่นอนว่าเราอาจไม่ใช่มุสลิมที่เคร่งที่สุดหรอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา หรือไม่อยากจะเป็นมุสลิมที่ดี หนังเรื่องนี้มันจึงสะท้อนให้เห็นความพยายามต่อรองกับหลักปฏิบัติบางอย่างผ่านวิถีชีวิต ภาพของมุสลิมชิลๆ ที่แม้จะไม่ได้เคร่งครัดตลอดเวลา แต่ก็ยังปฏิบัติศาสนกิจและศรัทธาในพระเจ้า

คาลิล พิศสุวรรณ ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “Solids by the Seashore”

เวลาหลายปีระหว่างการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ พบว่าตัวเองมีมุมมองต่อศาสนาที่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

คาลิล : เมื่อสัก 6 ปีก่อน จุดแรกเริ่มที่เราเข้ามาสู่การเขียนบทหนังเรื่องนี้ มันอาจอยู่ในมวลอารมณ์ของความเกรี้ยวกราด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสังคม การเมือง ทฤษฎีเฟมินิสต์ หลายๆ สิ่งมันกระจุกอยู่ในหัวเราเยอะมาก เราเลยรู้สึกว่าการได้เขียนบทหนังนี่แหละคือโอกาสที่เราจะได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาสักที ถ้าย้อนกลับไปดูในบทดราฟต์แรกๆ จะเห็นเลยว่าความโกรธเกรี้ยวของเราเยอะมาก 

เพียงแต่พอเวลาผ่านไป ตัวเราเองก็เติบโตขึ้น Solids by the Seashore จึงกลายเป็นตัวแทนของวุฒิภาวะ เราไม่ได้เกรี้ยวกราดเหมือนกับตอนแรกที่เราก้าวเข้ามาในโปรเจกต์นี้ เช่นเดียวกับที่เรามองศาสนารอบด้านขึ้น ไม่ได้มองแค่เพียงด้านเดียว เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วบทหนังเรื่องนี้มันก็เติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเรานะ

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือคุณมีความประนีประนอมกับศาสนามากขึ้นหรือเปล่า

คาลิล : ใช่ เราก็คิดแบบนั้น แน่นอนว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมันยังคงมีอยู่ เพียงแต่เราเลือกที่จะนำเสนอมันออกมาตามสภาพความเป็นจริงอย่างที่เป็น

สำหรับเรา การเขียนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราใช้ในการระบายหรือบำบัดตัวเองนะ เราพยายามคุยกับตัวเองเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงอายุหนึ่งมันก็ไม่แปลกหรอกที่เราจะรู้สึกอยากปะทะกับอะไรบางอย่าง ไม่ต่างกับคลื่นที่อยากจะปะทะกับเขื่อนหิน แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว

ทำไมมวลอารมณ์ที่ว่านั้นถึงหายไป

คาลิล :  นั่นสิ… (นิ่งคิด) คิดว่าอาจเพราะเราโตขึ้นด้วยแหละ ไม่ได้มองอะไรด้านเดียว แต่มองด้วยสายตาที่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากการกระทบของหลายๆ สิ่งอีกที เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างก็มีบริบทของตัวมันเอง

อย่างในหนังถ้าสังเกตคือจะไม่มีตัวร้ายเลย อย่างตัวละครผู้ชายที่เป็นในเรื่องก็ไม่ใช่ตัวร้าย หรือกระทั่งการที่ ‘ชาตี’ จะรู้สึกว่าบางทีการแต่งงานก็อาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เราคิดว่าไม่มีใครที่เป็นผู้ร้ายของตัวมันเอง แต่มันมาจากอำนาจบางอย่างที่ประกอบสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา บางทีเขาก็อาจจะไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองคือผลลัพธ์ของอะไร 

เรียกได้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับด้วยใช่ไหม ที่ไม่ต้องการให้ Solids by the Seashore ไปตีตรา หรือใช้ทัศนคติแบบเหมารวมต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  

ปฏิภาณ : เราไม่เคยนิยามหนังว่าเป็นแนวไหน แต่พอนำไปฉายต่างประเทศ มันอาจเป็นเงื่อนไขทางการตลาดที่จะบอกว่าเป็นหนัง LGBTQ+ ซึ่งส่วนตัวเรานิยามว่า Solids by the Seashore คือหนังความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นเรื่องราวของมนุษย์สองคนที่สบายใจและรู้สึกดีที่จะอยู่ด้วยกัน ซึ่งจริงๆ คนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้

ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมจริงๆ ก็ต้องรื้อโครงสร้างที่มันถูกกำหนดไว้ออก เพราะการตีตรามันจะทำให้เกิดความคิดเหมารวม (Stereotype) ขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เหมือนการที่เราเห็นมุสลิมในหนังก็มักจะมีภาพของความเคร่งครัดทางศาสนา การละหมาด หรือสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นศาสนาอิสลามมากๆ ซึ่งมันอาจจะตอกย้ำการตีตรานั้นให้สูงขึ้นไปอีก สิ่งนั้นก็เป็นอีกสิ่งที่หนังเราพยายามจะไม่สร้างภาพเหล่านั้นเพิ่ม

คาลิล : เรามองว่าบางครั้งการโยงไปถึงเส้นแบ่งอะไรก็ตามที่มันพยายามกีดกั้นว่าคุณคือมุสลิม หรือคุณเป็นพุทธ แต่เราจะมาขีดเส้นทุกสิ่งไม่ได้ เพราะเส้นแบ่งเหล่านั้นไม่ได้ชัดเจน มันถูกอะไรหลายๆ อย่างทำให้มันเลือนออกไป ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ภาษา ความสัมพันธ์ หรือบริบทอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ที่จะเข้ามาท้าทายและต่อรองกับเส้นที่มันพยายามถูกทำให้แบ่งออกจากกัน ซึ่งสุดท้ายเส้นแบ่งเหล่านี้มันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะคุณก็แค่คนๆ หนึ่งที่พยายามจะมีชีวิตในแบบของตัวเอง

มีบทสนทนาในหนังที่เปรียบเทียบว่า การสร้างเขื่อนหินมันก็อาจจะคล้ายกับการที่คนเราสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง เมื่อ Solids by the Seashore ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์ คุณค้นพบว่ามันได้ทลายกำแพงหรือเขื่อนหินในใจของคุณในเรื่องไหนบ้าง 

ปฏิภาณ : หนังเรื่องนี้ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว เพราะส่วนหนึ่งก็ดัดแปลงมาจากชีวิตของตัวเราเอง ถึงแม้ว่าข้างนอกเราจะเป็นผู้ชายคนหนึ่ง แต่เราก็ถูกเลี้ยงดูมากับผู้หญิง คุณย่าเลี้ยงดูมา เราโตขึ้นมาแบบไม่เหมือนกับผู้ชายคนอื่นๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ น้องชาย ซึ่งพวกเขาจะมีความมาสคูลีน (Masculine) มากกว่า อีกทั้งที่บ้านก็จะมีกฎเกณฑ์หรือกรอบบางอย่างกำหนดไว้ มีอีกหลายอย่างที่เราโดนกดทับไว้โดยผู้ชายในครอบครัว ทำให้รู้สึกว่าเหมือนเราโตมาเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ แม้เราจะเป็นผู้ชาย แต่ก็โดนกดทับได้เหมือนกัน มันทำให้เราเข้าใจผู้หญิงมากๆ โดยเฉพาะคนที่ต้องต่อสู้หรือว่ามีขีดจำกัดบางอย่างที่ถูกตัดสิน เข้าใจเลยว่ามันเป็นยังไง

อย่างตอนที่ Solids by the Seashore ได้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ช่วง Q&A มีคนถามว่า “ทำไมหนังเรื่องนี้ตัวละครหลักถึงเป็นผู้หญิง แล้วเชื่อมโยงกับเรายังไง?” พอเราได้เริ่มเล่าเรื่องส่วนตัว น้ำตาเราก็เริ่มไหลออกมา จนเพื่อนนักแสดง ตากล้อง พิธีกรก็ตกใจเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าการทำหนังเรื่องนี้มันคงได้เอาหินก้อนใหญ่ๆ ในชีวิตเราออกไปได้จริงๆ พอหนังไปสู่คนดูตอนนี้เราก็เริ่มรู้สึกโล่งขึ้นแล้ว การทำหนังเลยเหมือนเป็นการบำบัดประเด็นเรื่องนี้กับตัวเองด้วย

คาลิล : ส่วนตัวเราว่ามันได้นำเสนอภาพของมุสลิมที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอ อย่างที่บอกว่ามุสลิมเวลาที่เห็นในหนังส่วนใหญ่ มักถูกนำเสนอออกมาในแง่ที่เคร่งครัด แต่ด้วยความที่เราเติบโตมากับการเห็นภาพมุสลิมอีกแบบมาตลอด มุสลิมที่เติบโตมาในสังคมคนพุทธที่ไม่ได้เคร่งครัดตลอดเวลา ซึ่งภาพของมุสลิมกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยถูกนำเสนอมากนักในโลกภาพยนตร์

มันคงจะดีหาก Solides by the Seashore สามารถนำเสนอให้เห็นว่ามันมีมุสลิมที่ชิลๆ สบายๆ อยู่นะ มุสลิมที่ศรัทธาในพระเจ้า ปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่ก็เลือกจะดำเนินชีวิตประจำวันในแบบของตัวเอง

สุดท้ายนี้คุณอยากให้ Solides by the Seashore เป็นภาพยนตร์ที่ถูกจดจำไว้แบบไหน

ปฏิภาณ : ตอนที่หนังไปฉายต่างประเทศ มีคนดูเดินเข้ามาขอบคุณเราที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมา ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนที่พูดความรู้สึกที่เขามีได้เท่านี้ บางคนบอกว่ามันฮีลใจ แม้ว่าชีวิตตัวเองไม่ได้เหมือนกับในหนัง แต่ประสบการณ์ในชีวิตเขามันมีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

นึกถึงวลีที่บอกว่า “More personal, more universal” การที่เราเล่าเรื่องความเป็นส่วนตัวมากๆ นี่แหละ มันจะทำให้เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วทุกคนจะสามารถเชื่อมโยงถึงได้

คาลิล : สิ่งที่มันพิสูจน์ได้ชัดเจนก็คือหลังจากหนังไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เราพบว่าเมสเสจบางอย่างในหนังมันสื่อไปถึงคนดูจริงๆ แม้เขาจะไม่เข้าใจภาษาหรือวัฒนธรรมก็ตาม แต่กลับมีบางอย่างไปสัมผัสใจและเชื่อมโยงกับความเป็นส่วนตัวของเขาได้

สำหรับเรามองว่านี่คือหนึ่งในความหลากหลายของภาพยนตร์ไทย สุดท้ายแล้วคนดูจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เรากังวลอีกแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นหมุดหมายที่ทำหน้าที่ช่วยนำเสนอภาพบางอย่าง ที่อาจจะยังไม่ค่อยถูกมองเห็นมากในสังคมไทยออกไป 

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าคนดูจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่มุมมอง แต่อย่างน้อยเราก็ดีใจที่มีหนังเรื่องนี้ นับจากนี้หนังจะทำงานยังไงก็ไม่รู้ล่ะ แต่อย่างน้อยมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว...

Solids by the Seashore (ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง)
เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ House Samyan และ Doc Club & Pub.

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

  • คุยกับ “จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์” ผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS กับมุมมองชีวิตที่ไม่มีคำว่าทางตัน
  • "ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ" สตันต์(วู)แมน ฝีมือระดับอินเตอร์ แกร่งไม่แพ้ใครในโลก
  • Pyra (ไพร่า) มุมมองชีวิตในวัย 30 หลังตัดสินใจย้ายประเทศไปอังกฤษ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...