‘ลอรีอัล’ ยก Brand Purpose สานความยั่งยืน สร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก

ในประเทศไทย “ลอรีอัล” ภาพใหญ่ของลอรีอัลจะเป็นเหมือนกันทั่วโลกหรือไม่อย่างไร รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจของ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนหาคำตอบกับ อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย

“ลอรีอัล กรุ๊ป” บริษัทความงามอันดับ 1 ของโลก ที่การขับเคลื่อนธุรกิจกำลังยกระดับความสวยให้ผู้คนไปอีกขั้นด้วยการนำเทคโนโลยี มาตอบโจทย์ผู้บริโภค และยังก้าวสู่การเป็นบริษัท “บิวตี้ เทค” (Beauty Tech)

ด้านนวัตกรรมผลิตของลอรีอัลมีความโดดเด่นอย่างยิ่ง เพราะบริษัททุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาสินค้าความงามที่ต้องเน้นประสิทธิภาพ ความปลอดภัย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการคิดค้นสูตร ส่วนผสมใหม่ๆ(Ingredient) ที่ไม่เพียงประสิทธิภาพดีแต่ต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย

หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ “ลอรีอัล” คือการเข้าซื้อกิจการ(Acquisitions) แบรนด์ต่างๆเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอความงาม ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 3 แบรนด์ เมื่อ 5 ปีก่อนบริษัทยังซื้อกิจการเทคโนโลยีอย่าง “ModiFace” นำเอไอผสานกับธุรกิจความงาม ต่อจิ๊กซอว์สู่บิวตี้ เทค คัมปะนีนั่นเอง

ส่วนประเทศไทย “ลอรีอัล” มีสินค้า 15 แบรนด์ทำตลาด ครอบคลุมสินค้าอุปโภคเจาะตลาดทั่วไป (Consumer Products) เช่น ลอรีอัล ปารีส การ์นิเย่ เมย์เบลลีน ฯ กลุ่มเวชสำอาง(Dermatological Beauty) เช่น ลา โรช-โพเซย์ เซราวี สินค้าความงามชั้นสูง(Lux) เช่น ลังโคม คีลส์ ไบโอเธิร์ม และสินค้าสำหรับมืออาชีพ(Professional Profucts) เช่น ลอรีอัล โปรเฟสชันแนล เคเรสตาส เจาะกลุ่มร้านทำผมหรือซาลอนทั่วไทย การทำงานยังเจาะลึกความต้องการผู้บริโภคคนไทย(Insight) เพื่อพัฒนาสินค้าที่แก้ Pain Point ให้ตรงใจยิ่งขึ้น เช่น ส่วนผสมวิตามินซีช่วยให้ผิวกระจ่างใส

“ตอนนี้เราก้าวสู่การเป็นบิวตี้ เทค คัมปะนีเต็มตัว มีนวัตกรรม เทคโนโลยีมากมายช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างเออาร์ เอไอ ช่วยวิเคราะห์เส้นผม สภาพผิว ความกร้าน หรือปัญหาต่างๆได้อย่างแม่นยำ และการมีข้อมูลหรือ Data ยังสำคัญ เมื่อข้อมูลที่มากพอ ทำให้เรารู้ว่าผิวแต่ละคนเป็นแบบไหน เหมาะสมกับอายุหรือไม่ ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจดูแลผิวหรือยัง ถ้าไม่ดูแลตอนนี้ อนาคต 15 ปีข้างหน้าผิวอาจย่ำแย่ลง เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ และช่วยเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละคนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในการดูแลความสวยงามเป็นองค์รวม”

เนื่องจาก “ความงาม” เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจ ไม่แค่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ “ลอรีอัล” ให้ความใส่ใจ แต่ “บุคลากร” ภายในองค์กรสำคัญเช่นกัน ซึ่งบริษัทเต็มไปด้วยคนทำงานที่มีความหลากหลาย LGBTQI มีความเท่าเทียมด้วย มีการสร้างกรอบความคิด “DE&I” หรือ Diversity, Equity & Inclusion

“ลอรีอัลเน้นเรื่อง DE&I เพราะตอนนี้ไม่มีแค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ยังหลากหลายทั้งกลุ่มอายุ เจเนอเรชันที่แตกต่างกัน ปูมหลังไม่เหมือนกัน มาจากหลายพื้นที่หรือ Socio-economic background เรามองทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนองค์กร”

ขณะเดียวกันประชากรโลกที่มีผู้หญิงจำนวนมาก ลอรีอัล ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ(Women's empowerment) “หลักล้านคนทั่วโลก” ให้มีศักยภาพด้านต่างๆ โดยใช้แบรนด์สินค้าเป็นแรงสนับสนุน เช่น ลอรีอัล “คุณค่าที่คุณคู่ควร” ไม่ใช่แค่สโลแกน แต่ทำให้รู้สึกถึงพลังอำนาจ รวมถึงการช่วยเหลือประเด็นทางสังคมต่างๆ ส่วนแบรนด์อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty)ดำเนินโครงการ “Abuse is Not Love” ซึ่งเป็นการร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนความรุนแรงในคู่รักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หวังเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทย

ในฐานะบริษัทความงามระดับโลก “ลอรีอัล” ยังย้ำความสำคัญของนักวิจัยสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ด้วย ในประเทศไทยได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 แก่นักวิจัยผู้หญิงกว่า 80 คน กว่า 20 หน่วยงาน ที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างประโยชน์ต่อสังคมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นต้น

ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง “ลอรีอัล” ทำมานานหลายสิบปีผ่านเป้าประสงค์ของแบรนด์(Brand Purpose) “สร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก”

“ลอรีอัล เราไม่ได้ทำงานแค่ขายสินค้า แต่ทำอย่างไรให้สินค้าของเราสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ เป้าหมายปี 2568 โรงงาน สำนักงาน(ออฟฟิศ) ศูนย์วิจัยและพัฒนา(R&D center) ตึกทำงานต่างต้องใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน หากมีข้อจำกัดจะหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย เพื่อผลักดันองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) ส่วนปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 95% สินค้าตรวจสอบย้อนกลับได้ พลาสติกต้องมาจากรีไซเคิลเท่านั้น หรือใช้วัสดุชีวภาพ (อาทิ กระดาษ) (Bio Based Sources) ไม่ใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) หรือพลาสติก PET ที่ปัจจุบันลดใช้การได้ 76% ของบรรจุภัณฑ์ PET มาจากพลาสติกรีไซเคิลแล้วในปี 2565 มุ่งปรับเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากสุด การคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ เป็นต้น

เพื่อให้เห็นภาพ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เปลี่ยนรูปแบบ บรรจุภัณฑ์ไซส์ไม่ใหญ่ ความหนาแน่นบรรจุภัณฑ์ลดลง ทำให้ใช้วัสดุน้อยลง รูปแบบขวดเปลี่ยนเป็นเติมหรือรีฟีล เช่น แชมพู ในยุโรปปรับรูปแบบจากน้ำไปเป็นก้อน ทำให้กระบวนการผลิตลดการใช้น้ำลง ลังโคมขวดหรูหรา น้ำหอมแบรนด์หรูที่ขวดสวยงาม ผู้บริโภคต้องการสะสม มีแพ็กเกจจิ้งรีฟีล ทำให้ผู้บริโภคจ่ายน้อยลง แบรนด์ไบโอเธิร์มมีการจับมือพันธมิตรในการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืน 60-70 จุด เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ ส่วนผู้บริโภคได้รับคะแนนสะสม เป็นต้น

“ลอรีอัลเป็นบริษัทความงาม บางแบรนด์อาจไม่ได้สื่อสารชัดเจนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ภาพรวมทุกแบรนด์เรามุ่งมั่นสานพันธกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...