"อนาสเตเซีย จาง" ความทรงจำถึงป้ายไฟนีออน ภาพจำหนังฮ่องกงที่กำลังเลือนหาย

"ป้ายไฟนีออน" สัญลักษณ์อันโดดเด่นของฮ่องกงที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองในอดีต ร่องรอยของความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฮ่องกงใช้ไฟนีออนสีสันสะดุดตาทำเป็นป้ายชื่อร้านค้าและโฆษณาชื่อธุรกิจด้วยตัวอักษรภาษาจีนที่ส่องสว่างตลอดทั้งคืน ทำให้สีสันแสงไฟนีออนกลายเป็นตัวแทนของความเป็นเมืองฮ่องกงที่คุ้นตากันดี อีกทั้งยังเป็นภาพจำของหนังฮ่องกงอีกหลายๆ เรื่อง

ทว่าภายหลังรัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศจัดระเบียบป้ายไฟนีออน โดยสั่งรื้อและออกคำสั่งห้ามสร้างป้ายไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต ก็ส่งผลให้จำนวนป้ายไฟนีออนที่เคยเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของฮ่องกงค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย พร้อมกับช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตป้ายไฟนีออนที่ทยอยวางมือไปตามกาลเวลา โดยที่ไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อศิลปะแขนงนี้

"จางอ้ายเจีย" นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง A Light Never Goes Out

...

"A Light Never Goes Out" คือผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ อนาสเตเซีย จาง (Anastasia Tsang) ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ชาวฮ่องกงที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเธอได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครหญิงม่ายที่กำลังโศกเศร้าหลังสามีเสียชีวิต จนกระทั่งได้พบกับกุญแจที่พาเธอไปสู่ห้องทำงานลับและค้นพบความปรารถนาสุดท้ายของสามีที่ต้องการสร้างศิลปะไฟนีออนให้สว่างไสวขึ้นมาอีกครั้ง

"อนาสเตเซีย จาง" ผู้กำกับที่เคยคลุกคลีอยู่เบื้องหลังด้านเขียนบทและทำหนังสั้นมาแล้วหลายเรื่อง ได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับภาพยนตร์จากการไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก A Light Never Goes Out เล่าบรรยากาศของเมืองฮ่องกงและป้ายไฟนีออน ที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวฮ่องกง

สัมภาษณ์ "อนาสเตเซีย จาง" (Anastasia Tsang) ผู้กำกับหญิงชาวฮ่องกง ส่งผลงานภาพยนตร์ชิงออสการ์ 

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับหญิงชาวฮ่องกงคนนี้ ถึงจุดเริ่มต้นและมุมมองต่อผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ A Light Never Goes Out ภายในงานเทศกาลหนังฮ่องกง 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนฮ่องกงที่ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2024

แรงบันดาลใจของ "A Light Never Goes Out" ทำไมถึงเลือกใช้ป้ายไฟนีออนมาเป็นไอเดียในการสร้างภาพยนตร์

อนาสเตเซีย จาง : จุดเริ่มต้นที่อยากจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา ฉันอยากสื่อสารถึงคนที่สูญเสียคู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยา ฉันมีญาติผู้หญิงหลายคนที่ต้องรับมือกับความโศกเศร้าหลังสามีเสียชีวิตลง ส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์จริงที่ฉันได้พบเห็นจากญาติเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็อยากจะเพิ่มเอกลักษณ์ที่เป็นภาพจำของภาพยนตร์ฮ่องกงเข้าไปด้วย สุดท้ายฉันก็เลือกให้ไฟนีออนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของหนังเรื่องนี้

เล่าความทรงจำเกี่ยวกับป้ายไฟนีออนฮ่องกงให้ฟังหน่อย

อนาสเตเซีย จาง : ฉันมีความทรงจำในช่วงวัยเด็กสมัยที่ไปเรียนวาดรูปค่ะ พอนึกย้อนกลับไปก็บังเอิญมากที่ตอนนั้นฉันวาดรูปป้ายไฟนีออน จริงๆ ฉันลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่คุณแม่เป็นคนมาบอกว่าลูกจำได้ไหมสมัยก่อนลูกก็เคยวาดรูปป้ายไฟนีออน ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่าตอนนั้นครูศิลปะสอนให้วาดรูปถนนฮ่องกงที่มีป้ายไฟประดับเยอะมาก พอวาดเสร็จครูก็ชมแล้วนำรูปนั้นมาให้เพื่อนๆ ในห้องดูด้วย พอฉันมาทำภาพยนตร์เรื่อง A Light Never Goes Out ก็ช่างบังเอิญมากที่มีเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับป้ายไฟนีออนอีก

ความรู้สึกที่ได้ทำงานร่วมกับ "จางอ้ายเจีย" (Sylvia Chang) นักแสดงหญิงระดับรางวัลม้าทองคำ (Golden Horse Awards) 

อนาสเตเซีย จาง : รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ เลยค่ะ การได้ทำงานร่วมกับนักแสดงมืออาชีพอย่างจางอ้ายเจียถือว่าเป็นอีกหนึ่งความฝันของฉัน เรียกได้ว่าเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในวงการมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นทั้งผู้กำกับและนักเขียนบทอีกด้วย การได้จางอ้ายเจียมาแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ฉันรู้สึกราวกับได้สมบัติล้ำค่ามาเลยค่ะ จางอ้ายเจียเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องต่างๆ โดยที่เธอยังเคารพในวิธีการทำงานและความคิดเห็นของฉัน 

...

"อนาสเตเซีย จาง" (Anastasia Tsang) ผู้กำกับหญิงชาวฮ่องกง เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง A Light Never Goes Out ตัวแทนจากฮ่องกงเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2024

ผู้ชมส่วนใหญ่อาจมองว่า "A Light Never Goes Out" เป็นเรื่องราวของอดีต ความเศร้า และสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว สำหรับคุณหัวใจหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อสารอะไร

อนาสเตเซีย จาง : หลายคนอาจมองว่านี่คือหนังเศร้าที่พูดถึงเรื่องราวในอดีต แต่จริงๆ แล้วความโศกเศร้าและอดีตเป็นเพียงพาร์ตแรกของหนังเท่านั้น เพราะ A Light Never Goes Out ยังสะท้อนเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญอยากให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเศร้าภายหลังการสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนจะเผชิญ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับความรู้สึกหลังจากนั้นอย่างไร

...

อย่างเช่นตัวละครในหนังเรื่องนี้ที่ลุกขึ้นมาทำป้ายไฟนีออน เหมือนการทำให้ความทรงจำบางอย่างกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้คือหัวใจหลักที่อยากจะสื่อสารกลับไปเพื่อมอบพลังให้คนดูค่ะ ฉันคิดว่าสำหรับชาวฮ่องกงเอง แต่ละคนก็คงมีความรู้สึกถึงป้ายไฟนีออนที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือแสงไฟเหล่านั้นมันไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของพวกเขา

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาสนใจทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนด้านการเมืองที่ประเทศฝรั่งเศส 

อนาสเตเซีย จาง : ฉันเรียนด้านจบ Culture Study ที่ฮ่องกง แต่จริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นฉันเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนที่ Sciences Po ประเทศฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ได้รับความคิดที่หลากหลาย ขณะที่ช่วงมัธยมปลายเองถือเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรมเยอะมากค่ะ ทั้งเข้าชมรมการละคร ได้เข้าร่วมชมเทศกาลภาพยนตร์และก็ได้ดูหนังเยอะมากๆ ด้วย ทำให้ฉันเลยกลายเป็นคนที่ชอบเขียนบันทึกและเล่าเรื่องราว แต่ตอนนั้นก็ยังไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะคิดว่าคนที่จะทำหน้าที่นี้ได้ คงต้องเป็นคนที่ฉลาดมากๆ (หัวเราะ) ต่อมาฉันมีโอกาสได้ทำหนังสั้น มันน่าแปลกที่พอทำเสร็จแล้ว ฉันก็อยากจะทำเรื่องต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็เลบตัดสินใจไปเรียนด้านภาพยนตร์แบบจริงจัง

...

การไปเรียนด้านภาพยนตร์ที่ Sorbonne University ประเทศฝรั่งเศส ได้มอบแนวคิดอะไรให้คุณบ้าง ทราบมาว่าคุณชื่นชอบผู้กำกับชาวฝรั่งเศสชั้นครูอย่าง "Jean-Luc Godard"

อนาสเตเซีย จาง : ฉันคิดว่าหนังฝรั่งเศสจะค่อนข้างต่างจากหนังฮอลลีวูด และก็ต่างจากหนังกระแสหลักด้วยค่ะ เพราะหนังฝรั่งเศสจะไม่ได้เน้นแค่เล่าเรื่องราว แต่ยังเปิดกว้างยอมรับเนื้อหาที่มีความหลากหลาย มีพื้นที่ให้หนังนอกกระแสเยอะมากๆ

โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ Jean-Luc Godard สไตล์การเล่าเรื่องจะกระโดดไปมา ไม่จำเป็นต้องเริ่มเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และสิ้นสุดก็ได้ แต่มันยังสามารถเล่าเรื่องย้อนจากจุดสรุปปลายทางกลับมายังจุดเริ่มต้นได้ด้วย ซึ่งหนังแนวนี้ได้มอบแรงบันดาลใจแก่ผู้กำกับรุ่นหลังๆ ทำให้ฉันได้เข้าใจว่าการจะสร้างหนังสักเรื่องนั้น มันมีความหลากหลายสูงและมีความเป็นไปได้หลายแบบค่ะ

ความทรงจำที่ประทับใจสมัยเรียนภาพยนตร์ที่ฝรั่งเศส

อนาสเตเซีย จาง : ฉันได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ชิ้นหนึ่ง โดยต้องถ่ายคลิปสั้นๆ ส่งอาจารย์ ฉันเลยเลือกใช้ตัวละครหลักเป็นสัตว์ป่า เปรียบเทียบกับคนที่ไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงได้ ตอนแรกก็คิดว่าความคิดและการเล่าเรื่องแบบนี้จะแปลกไหม คนดูจะชอบไหม แต่สุดท้ายการบ้านชิ้นนั้นก็ได้คะแนนสูงมากๆ ค่ะ (ยิ้ม) ทำให้รู้ว่าต่อให้แนวคิดในการสร้างภาพยนตร์มันจะแปลกประหลาดมากแค่ไหน แต่สำหรับชาวฝรั่งเศสแล้ว พวกเขามีวัฒนธรรมการดูหนังที่เปิดกว้างมากๆ ยอมรับความหลากหลาย ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วภาพยนตร์สามารถถ่ายทอดออกมาได้หลายรูปแบบ

สนใจหนังแนวเซอร์เรียลด้วยใช่ไหม "Blade Runner" (1982) ก็เป็นอีกเรื่องโปรดของคุณ

อนาสเตเซีย จาง : ใช่ค่ะ ส่วนตัวฉันยังชอบหนังแนวเซอร์เรียลและแนว Sci-Fi มาก เพราะมีเนื้อหาที่จินตนาการถึงอนาคต โดยเฉพาะ Blade Runner (1982) เป็นหนังที่ทำให้เราคิดทบทวนถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง หลายสิ่งที่ปรากฏในหนังเป็นเรื่องที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไปไม่ถึง ซึ่งทำให้ฉันได้ไอเดียที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังสามารถพูดเรื่องอนาคตและจินตนาการได้

คิดว่าวงการภาพยนตร์ในปัจจุบัน มีพื้นที่ให้ผู้กำกับหญิงมากพอหรือยัง

อนาสเตเซีย จาง : ฉันมองว่าอาจขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ฉันค่อยข้างโชคดีที่ได้เติบโตขึ้นมาในฮ่องกงท่ามกลางยุคสมัยที่ค่อนข้างจะให้โอกาสกับผู้หญิงเยอะมากๆ ในวงการภาพยนตร์เองก็จะมีทีมงานหลายคนที่เป็นผู้หญิง เราตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สมัยนี้มีเทศกาลภาพยนตร์มากมายที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง บางเทศกาลก็จัดไว้ให้ผู้กำกับหญิงโดยเฉพาะเลย

คุณรู้สึกอย่างไรหลังทราบว่า "A Light Never Goes Out" เป็นตัวแทนภาพยนตร์ของฮ่องกงที่ได้รับคัดเลือกไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 

อนาสเตเซีย จาง : ฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ค่ะ เพราะมีภาพยนตร์ฮ่องกงอีกหลายเรื่องที่ยอดเยี่ยม แต่สุดท้าย A Light Never Goes Out ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนฮ่องกง เป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์มากๆ ฉันหวังว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของวัฒนธรรมป้ายไฟนีออนของฮ่องกง ก่อนที่มันจะเลือนหายไป ปัจจุบันนี้ในเมืองฮ่องกงแทบไม่มีป้ายไฟนีออนแล้วค่ะ ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ อยากให้หนังเรื่องนี้ส่งไปถึงคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยพวกเขายังสามารถกลับมาศึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ หากในอนาคตไม่กี่ปีต่อจากนี้จะไม่มีป้ายไฟนีออนฮ่องกงหลงเหลือให้เห็นอีกเลย

ฉันอยากให้ผลงานเรื่องนี้จุดประกายให้หลายๆ คนหันมาสนใจวัฒนธรรมป้ายไฟนีออน ขณะที่เรากำลังถ่ายทำเรื่องนี้กันเราก็พูดคุยกันว่า A Light Never Goes Out จะสามารถช่วยอนุรักษ์ป้ายไฟฮ่องกงไว้ได้ไหม ตอนที่หนังถ่ายทำเสร็จแล้วและถูกปล่อยออกมาก มันน่าใจหายที่จำนวนป้ายไฟนีออนลดน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ฉันดีใจก็คือหลังจากที่ผู้ชมได้รู้จักหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะชาวฮ่องกง พวกเขาไปถ่ายรูปกับป้ายไฟนีออนเพื่อเก็บบันทึกไว้ แค่ผู้คนหันมาสนใจป้ายไฟเหล่านี้ที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมฮ่องกงมาอย่างยาวนาน ฉันก็รู้สึกภูมิใจแล้วที่ได้สร้าง A Light Never Goes Out ขึ้นมา

เรื่อง : Tatiya K.
ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

  • คุยกับ “จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์” ผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS กับมุมมองชีวิตที่ไม่มีคำว่าทางตัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...