'ท่องเที่ยวยั่งยืน' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

ประเทศไทยมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวแม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ข้อมูลจาก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) อธิบายว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

 

ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์(Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • “ท่องเที่ยวยั่งยืน”คืนความมั่งคั่ง เศรษฐกิจ-ทรัพยากร
  • 27 ก.ย. 'วันท่องเที่ยวโลก' เที่ยวอย่างไร ให้ยั่งยืน ดีต่อใจ ดีต่อโลก
  • “ท่องเที่ยวยั่งยืน” กับแอปฯ ZERO CARBON คืนคุณค่าด้วยการคำนวนคาร์บอน

 

ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกกำลังร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว คณะนักวิจัย และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวของไทย ร่วมงาน WTM 2023 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ชูประเด็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

 

มุ่งเป้าดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในตลาดยุโรปที่มีการใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวสูง และมีระยะเวลาพำนักนาน ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและรักษ์สิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า บพข. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ โดยแผน ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะ 5 ปี (ช่วงปี 2566-2570) กำหนดเป้าหมายในการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทยในระยะเวลา 10 วันขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป และที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น

 

 

 

ตัวชี้วัดนี้จะไม่รวมกรณีไทยเที่ยวไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 1,000 คนจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป การทำงานร่วมกับภาคเอกชนจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง อาทิ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ( TEATA) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เป็นต้น

 

ขณะนี้ บพข.ได้จัดทำ แอปพลิเคชัน 'ZERO CARBON' เพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรม/โปรแกรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะมีการแถลงผลงานความสำเร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

 

เชื่อมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์

สำหรับ การออกแบบแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 การเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะทำในเรื่องของคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ขณะนี้ อยู่ในขั้นของการวัด การลด และชดเชยอยู่ คาดว่าราวปี 2568-2569 TEATA ร่วมกับคณะนักวิจัย จะสามารถออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยว Net Zero Emmission Route โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมหนุนเสริม

กลุ่มที่ 2 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  เรื่องของ SPA และ SPORT เช่น มวย ปั่น วิ่ง กอล์ฟ ซึ่งในปีนี้มีการพัฒนา มวยไทย ซึ่งจัดเป็น Soft Power ชั้นนำของไทย ไปสู่มวยในเมตาเวิร์สได้สำเร็จแล้ว

กลุ่มที่ 3 การวิจัยเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่บางประเด็นอาจเป็นข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวของประเทศ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาทางออก ในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน อาทิ ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (ผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ผู้ที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพผสมผสานการท่องเที่ยว เป็นต้น) 

กลุ่มที่ 4 กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับ Soft Power พร้อมแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล

 

'น่าน' พื้นที่นำร่อง 'วัด ลด ชดเชย บอกต่อ'

วสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เผยว่า สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เป็นสมาคมที่เกิดขึ้นมาประมาณ 25 ปี เป็นบริษัทนำเที่ยว โรงแรมหรือ Outdoor Activity ในการนำภาคเอกชนการท่องเที่ยวมารวมตัวกันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ทำเรื่องของความยั่งยืน โดยได้รับการหนุนเสริมทางวิชาการ ผ่านกระบวนการวิจัยจาก หน่วยทุน บพข. กองทุน ววน. มุ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

"จากเดิมที่ประเทศไทยไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้มาก่อน มีการเข้าไปหาองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการชดเชยคาร์บอนในทางท่องเที่ยว ทำให้ได้แนวคิดขึ้นมาที่จะทำการวิจัยเมื่อปี 2564 ที่จังหวัดน่าน นับเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดกำเนิด ทำให้เราได้กระบวนการ “วัด ลด ชดเชย และบอกต่อ”

 

การวัด ในที่นี้หมายถึง การประเมินการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนปี 2565 ได้นำกระบวนการที่ได้มาออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว และได้มีการทดสอบการท่องเที่ยวมาทดสอบความเชื่อมั่นว่าน่าเชื่อถือไหม ได้ผลจริงหรือไม่ ภายใต้งานวิจัยเราต้องทำให้ถูกต้องเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงได้รับความร่วมมือจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นพี่เลี้ยงให้ นำศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ และทำให้เส้นทางต้นแบบกว่า 50 เส้นทาง มาพัฒนาและยกระดับให้สูงขึ้น

 

และในปีนี้ 2566 ได้มีการทำงานร่วมกับ Tourlink หน่วยงานจากยุโรปที่ทำเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี Camacal เป็นเครื่องมือวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับสากล ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง ที่พัก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทำเรื่องของ PCRs (Product Category Rules) คือ การจัดทําข้อกําหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละ ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

 

 

ต่อยอดงานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์

นิธิ สืบพงษ์สังข์ ซีอีโอ นัตตี้แอดเวนเจอร์ อยุธยาโบท จากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคพื้นยุโรปมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างเป็นระบบ โดยผ่านงานวิจัยที่มีการทำงานร่วมกันทั้งทางภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการที่หนุนเสริมกันอย่างต่อเนื่อง

 

"การทำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโมเดลการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของ บพข.นี้ สร้างประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการร่วมมือทำงานที่ลงลึกทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ ทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้นคล่องตัวขึ้นและครบมิติมากขึ้น"

 

ด้าน ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนากองทุนและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สกสว. กล่าวเสริมว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบริหารจัดการกองทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

"พร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน"

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...