กยท.ปราบยางเถื่อนหวั่นกระทบสินค้าไทย หลังอียูเตรียมใช้กฎ EUDR 1 ม.ค.67

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า พร้อมให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแนวทางอย่างเต็มที่ โดยการลงพื้นที่เข้าตรวจสถานประกอบการผู้รับใบอนุญาตค้ายาง ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานปกครอง เข้าตรวจสอบทะเบียนร้านค้า การทำบัญชีผู้รับซื้อยางพารา พร้อมชี้แจงให้ร้านค้าในพื้นที่ทราบเกี่ยวกับโทษในการรับซื้อยางพาราที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรฯ ไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงตั้งจุดสกัด โดยหลังจากนี้จะร่วมเข้าตรวจสต๊อกยาง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ภายใต้ความรับผิดชอบหลักของกรมวิชาการเกษตร

      โดยมีพนักงานของ กยท. ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 ทั้งนี้ กยท. เตรียมจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนมอบหมายให้ กยท.จังหวัด และ กยท. สาขา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพรมแดน ดำเนินการสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกร ทั้งปริมาณ รูปแบบของผลผลิตยางที่ขาย จำแนกเป็นน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และนำมาประมวลผลเพื่อทำข้อมูลห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางธรรมชาติในประเทศ (เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) ช่วยให้ทราบว่าปริมาณยางที่ขายในตลาดหรือพื้นที่นั้นๆ มียางเถื่อนปนอยู่ด้วยหรือไม่ และตั้งเป้าหมายสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำข้อมูลมาคำนวณ และจัดทำสมดุลยางพารา และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นได้

“ ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการยางพาราอย่างรอบด้าน ลงมือแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและจริงจัง ส่งผลให้ราคายางพาราในปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 4-5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และปัจจัยประมาณการผลผลิตยางช่วงนี้มีปริมาณลดลง เนื่องจากการปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีฝนตกหนัก และเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อราคายาง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะปรับตัวขึ้นแตะ  60 บาทต่อกก.อย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ กยท.ยังได้หารือร่วมกับ Dr. Htein Lynn, Deputy Director General และผู้แทนจากองค์การส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ในประเด็นการลักลอบขนยางพาราผิดกฎหมายเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ กำลังเร่งจัดการปราบปรามและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น ในส่วนของประเทศเมียนมาเองมีกฎหมาย และระเบียบในการส่งออกยางพาราอยู่แล้ว แต่พบว่ายังมีการลักลอบขนยางไปจำหน่ายในจีน อินเดีย รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากราคายางในไทยสูงกว่าราคารับซื้อยางในประเทศเมียนมาประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม 

สำหรับสาเหตุที่ต้องเร่งปราบยางเถื่อน ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับระเบียบ EU Deforestation Free Production Regulation (EUDR) ที่จะเริ่มเป็นผลทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ว่าด้วยการประกาศกฎเกณฑ์การจำหน่ายสินค้า หรือส่งออกจากสหภาพยุโรป ให้มั่นใจว่าแหล่งกำเนิดสินค้า 7 ชนิด รวมถึง ยางพารา ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่า และเป็นสินค้าถูกกฎหมาย

ดังนั้นการปล่อยให้ยางลักลอบเข้ามาปะปนจะทำให้ภาพลักษณ์ยางพาราของไทยได้รับผลกระทบ จากปัจจุบันที่อียูเชื่อมั่นในยางของไทยมาก เพราะเป็นประเทศเดียวที่เตรียมการเรื่องดังกล่าวได้ดี และสามารถสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ได้ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) ได้ทั้งระบบ

ทั้งนี้ อียู อยู่ระหว่างจัดทำ และรวบรวมประเด็นข้อซักถามจากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาเอกสาร Industry Guideline ดังนั้น กยท. จึงเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย ผู้ประกอบการจาก บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) มาระดมความเห็นในการจัดทำเอกสารข้อมูลรายการซื้อขาย (Transaction Information) ผ่านแพลตฟอร์ม TRT-EUDR ที่ กยท. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นโมเดลเสนอ EU ในกระบวนการพัฒนาเอกสาร Industry Guideline ต่อไป

ระเบียบใหม่ของอียู กำลังเพิ่มมากขึ้น และยากที่จะปฏิบัติตามมากขึ้นด้วย ดังนั้น การพัฒนาตัวอย่างอยู่ตลอดเวลาจะเป็นทางรอดที่ไม่ใช่ทางเลือกของสินค้า และเกษตรกรไทย รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีปลายทางเป็นตลาดในต่างประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...