จาก FIFA 23 สู่ EA Sports FC 24 แฟรนไชส์พลิกโฉมโลกของเกมและฟุตบอลไปตลอดกาล

นับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ที่อีเอ สปอร์ต (EA Sports) เป็นพันธมิตรกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) บังเกิดเกมฟุตบอลภาคแรกที่มีชื่อว่า FIFA International Soccer 

ต่อจากนั้นเกมเมอร์ทั่วโลกก็ได้เล่นเกมฟุตบอลที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร 4 ตัว อย่างต่อเนื่อง จากปี 1994 ในชื่อ FIFA Soccer 95 ตามด้วยปี 1998 ซึ่งมีออกมาถึงสองภาค ได้แก่ FIFA World Cup 98 และ FIFA 99 จนดำเนินการมาถึง “ภาคสุดท้าย” ที่อีเอ สปอร์ต และฟีฟ่า ทำงานร่วมกันในชื่อ FIFA 23 

หลังจากนี้เป็นต้นไป เกมฟุตบอลของอีเอ สปอร์ต ถูกรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ EA Sports FC 24 หรือชื่ออย่างสั้น “FC 24”

FC 24

ความท้าทายของอีเอ สปอร์ต ที่มีต่อแบรนด์ใหม่ FC 24 นั่นคือ ผู้คนในวงกว้างก็จะยังคงเรียกเกมนี้ว่า FIFA ค่อนข้างแน่ อย่างน้อยก็ในระยะแรกหลังการสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างฟีฟ่า และอีเอ สปอร์ต ที่มีมานานกว่า 29 ปี

เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การมีอยู่ของเกม FIFA ที่ผลิตโดยอีเอ สปอร์ต นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะเป็นการทำให้ฟุตบอลในโลกของความเป็นจริง ซ้อนทับอย่างแนบสนิทกับฟุตบอลของโลกเสมือน 

...

ในทุกๆ ปี นักฟุตบอลอาชีพทุกคนต้องมายืนลุ้นกันว่า ค่าพลังของพวกเขาในเกมฟีฟ่าปีนี้จะมีค่าพลังเท่าไร นักเตะคนไหนที่ได้ค่าพลังเยอะก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ คนไหนได้น้อยแบบค้านสายตาก็มีเคือง-มีงอนกับอีเอ สปอร์ต จนบางครั้งบางคราว อีเอ สปอร์ต ก็ต้องเร่งออกอัปเดตเพิ่มค่าพลังให้กับนักเตะคนนั้นเป็นวาระเร่งด่วน

ค่าพลังเหล่านักเตะใน FC 24

อันที่จริง เกม FIFA ก็ไม่ได้เป็นผู้ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1993 เพราะเชื่อว่า คอเกมจำนวนไม่น้อยก็ต้องเคยผ่านการเล่นเกม Winning หรือ Pro Evolution Soccer ซึ่งทุกวันนี้รีแบรนด์ใหม่กลายเป็น eFootball เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดรับกับการเป็นเกมที่ใช้แข่งขันอีสปอร์ต (e-Sports)

ตลอดช่วงปลายทศวรรษ 90s และต้น 2000 การขับเคี่ยวระหว่าง Pro Evolution Soccer และเกม FIFA ของอีเอ ถือว่ายังไม่มีผู้ชนะเด็ดขาดมากนัก กระทั่งในช่วงหลังปี 2010 ลงมา ชัยชนะเริ่มเป็นของอีเอ สปอร์ตมากขึ้น จากการที่พวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวไลเซนส์สำคัญของวงการฟุตบอลมาไว้ในมือเป็นจำนวนมหาศาล

ตัวเลขกลมๆ ของไลเซนส์ที่อีเอ สปอร์ต ถือครองอยู่ ประกอบไปด้วย รายชื่อนักฟุตบอลที่มีตัวตนจริง 1.9 หมื่นคน, ไลเซนส์สโมสรฟุตบอลอาชีพกว่า 700 สโมสร, รายชื่อสนามฟุตบอลราว 100 สนาม และลีกฟุตบอลทั่วโลกกว่า 30 ลีก ทั้งพรีเมียร์ลีก, กัลโช่ เซเรีย อา, ลาลีกา, บุนเดสลีกา และฟุตบอลสโมสรยุโรป แชมเปียนส์ลีก, ยูโรปาลีก และคอนเฟอเรนซ์ ลีก

FC 24 ถือครองไลเซนส์สำคัญเพียบ

แอนดรูว์ วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอีเอ เปิดเผยว่า การมาของ EA Sports FC 24 หรือ FC 24 นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อเชื่อมต่อกับแฟนๆ ของโลกฟุตบอลที่มีมากกว่า 1 พันล้านคนผ่านแฟรนไชส์นี้

FC 24 ถูกสร้างขึ้นจากเอนจิ้นที่มีชื่อว่า Frostbite แต่ได้ถูกยกเครื่องใหม่ ผสานกับเทคโนโลยี Hypermotion V เพื่อนำบรรยากาศจริงของโลกฟุตบอลมาแปลงเป็นแอนิเมชัน อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีใหม่ Playstyles สำหรับจำลองข้อมูลของนักฟุตบอลตัวจริงให้มีความสมจริงมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้อีเอ สปอร์ต และฟีฟ่า เลิกเป็นพันธมิตรทางการค้า แม้จะมีความสัมพันธ์นานเกือบ 30 ปีก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่า แอนดรูว์ วิลสัน ซีอีโอของอีเอ มองว่า ปีที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอล ตัวอักษร 4 ตัวบนหน้ากล่องเกมของคำว่า "FIFA" ก็แทบไม่มีความหมาย อีกทั้งเงินที่ฟีฟ่าต้องการจากอีเอ ก็มีมูลค่ามหาศาลถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาสัญญา 4 ปี ตรงตามวงรอบของฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปในมุมมองของอีเอ

...

ดังนั้นแล้ว การที่อีเอ สปอร์ต รีแบรนด์เกมไปเป็น EA Sports FC 24 จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่า ผู้คนทั่วไปก็จะเรียกเกม EA Sports FC 24 อยู่ดีว่า “เกมฟีฟ่า” อยู่ดี 

แต่ความสับสนก็อาจยิ่งสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก ถ้าหากถึงวันที่ ฟีฟ่า ประกาศเปิดตัวเกมที่เป็นพันธมิตรกับองค์กรของพวกเขา ซึ่งมีมาแน่ๆ เพราะเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากปากของจานนี อินฟานติโน ประธานของฟีฟ่า ว่าจะมี “เกมฟีฟ่า” ที่มาจากพันธมิตรรายอื่น ซึ่งไม่ใช่อีเอ สปอร์ต 

อย่างไรก็ดี จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เห็นเค้าลางว่า มีสตูดิโอผู้พัฒนาเกมรายใดที่บรรลุข้อตกลงกับฟีฟ่าอย่างเป็นทางการ

เฟเดริโก ดิมาร์โก วิงแบ็กซ้ายอินเตอร์ มิลาน ขณะที่ร่วมงานเปิดตัว FC 24

...

จนถึงตอนนั้นการแข่งขันระหว่างเกมฟุตบอลของอีเอ สปอร์ต และฟีฟ่า ก็จะเริ่มขึ้น เหมือนกับที่อีเอสปอร์ต เคยฟาดฟันทางธุรกิจกับโคนามิ (Konami) ส่งผลให้การรีแบรนด์จากเกม FIFA 23 ไปเป็น EA Sports FC 24 ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น พร้อมกับทำให้ผู้คนน่าจะเริ่มจดจำแบรนด์ FC 24 ได้เร็วขึ้นด้วย

อ้างอิง: NYTimes

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...