พระเอกพืชสมุนไพรไทย จากยาดมถึงสารสกัดมูลค่าสูง | ทิวธวัฒ นาพิรุณ

เป็นสมุนไพรแบบแปรรูปอย่างหยาบ (herbal substance) ที่พกง่ายใช้สะดวก รายงานด้านวิจัยตลาดของ Nielsen Thailand พบว่าตลาดยาดมมีมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านบาทต่อปี ยิ่งมีกระแสการบริโภคในลักษณะที่ว่ายิ่งทำให้ตลาดโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

วัตถุดิบชิ้นส่วนพืชสมุนไพรที่ปรุงผสมอยู่ในยาดมนั้นส่วนมากจะให้สารสำคัญในรูปของน้ำมันหอมระเหย (aromatic oils) ที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการวิงเวียน ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย

เช่น สมุลแว้ง ชะลูด พริกไทย กระวาน กานพลู อบเชย ซึ่งล้วนเป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคย ด้วยความที่ภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ในเขตชีวนิเวศ (biomes) ที่มีความหลากหลายของพรรณพฤกษชาติสูง 

ทำให้มีตัวเลือกของพรรณพืชเพื่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มพืชสมุนไพรที่มีชื่อเสียงและมีมูลค่าสูงที่พบในประเทศไทย

ซึ่งมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความได้เปรียบเพราะมีทั้งส่วนภาคพื้นทวีปและส่วนของคาบสมุทรไทยที่ได้รับผลกระทบจากลมพายุที่รุนแรงน้อยกว่าพื้นที่อื่น พรรณพืชจึงมีช่วงเวลาในการตั้งตัวและปรับตัวเพื่อการเจริญเติบโตได้ดี 

กลุ่มพืชสมุนไพรไทยเรียกโดยรวมมีทั้งชนิดท้องถิ่นดั้งเดิม (native  species) ซึ่งถูกนำมาใช้ในภูมิปัญญาไทยในรูป “ของป่า” หรือ “พืชป่าสมุนไพร” ที่มีการส่งต่อผ่านการบอกเล่า การบันทึก หรือมีการตั้งเป็นตำรับต่าง ๆ ไว้มาอย่างยาวนาน

และชนิดพืชสมุนไพรที่นำพันธุ์จากที่อื่นเข้ามาปลูก (exotic species) เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ชิ้นส่วนวัตถุดิบและปริมาณสารออกฤทธิ์ในเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของตลาด 

คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติได้เปิดเผยสถิติการส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยช่วง 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 – 2565) พบว่ามีการสร้างมูลค่ากว่า 12,211 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และมีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

นับว่ามีส่วนแบ่งในธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ค่อนข้างมาก ช่วยสะท้อนจุดเด่นของไทยที่จะเป็น Medical Hub จากจุดแข็งความหลากหลายของพรรณพืชสมุนไพรได้เป็นอย่างดี 

การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้วิจัยและพัฒนาต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานเพื่อจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจและเกิดความมั่นคงของผลิตภัณฑ์ในระยะยาว

หลักการพื้นฐานที่นำมาประยุกต์ใช้คือ ต้อง “ถูกต้น ถูกส่วน ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกโรค” คำว่า ถูกต้น ถูกส่วน มุ่งเน้นถึงความเข้าใจชนิดของพืชสมุนไพรหรือในทางวิทยาศาสตร์ก็คือ “งานอนุกรมวิธานพืช” เพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีการนำชนิดพืชสมุนไพรมาใช้ได้ถูกต้องตรงตามข้อบ่งใช้ที่เรานำมาอ้างอิง เพราะพืชสมุนไพรแต่ละชนิดแต่ละส่วนมีสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน 

หากใช้ผิดต้น ผิดส่วน อาจเกิดความเป็นพิษให้โทษได้ จึงจะต้องมีการพิสูจน์เอกลักษณ์ของพืชทุกครั้งก่อนใช้ ส่วนอีก 3 คำ คือ ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกโรค จะมุ่งไปที่การศึกษาวิจัยกระบวนการและการศึกษาเชิงปริมาณ

เพื่อให้ทราบขนาดและปริมาณความเข้มข้นของสารสกัดหรือชนิดสารออกฤทธิ์ในหน่วยการตรวจวัดที่เป็นมาตรฐาน

เพื่อกำหนดใช้ในการบรรเทาหรือรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการไปจนถึงระดับคลินิกและการใช้จริงในคนหรือสัตว์ เพื่อให้ได้รับการรับรองความปลอดภัย ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  

ประเทศไทยผลิตและส่งออกพืชสมุนไพรทั้งในรูปแบบชิ้นส่วนวัตถุดิบและสารสกัดที่มีสารสำคัญมูลค่าสูงเป็นส่วนผสม ซึ่งผู้พัฒนายาหรือผลิตภัณฑ์จะคัดเลือกนำไปใช้ตามความต้องการในกระบวนการผลิต วัตถุดิบและสารสกัดเหล่านี้จะมีการจัดการคุณภาพและปริมาณสารออกฤทธิ์อีกครั้งตามกระบวนการเฉพาะของแต่ละบริษัทให้ได้รูปแบบตรงตามจุดมุ่งหมายการใช้ของผลิตภัณฑ์หรือยานั้นๆ 

แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการสังเคราะห์สารเคมีเลียนแบบสารออกฤทธิ์ แต่หลายชนิดก็ต้องลงทุนสูงในการสังเคราะห์ อีกทั้งตลาดผู้บริโภคให้การตอบรับเรื่องของสารสกัดหรือสารออกฤทธิ์ที่ได้จากธรรมชาติมากกว่าด้วยสาเหตุความรู้สึกว่าปลอดภัย

ดังนั้น ความเป็นไปได้อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การใช้ “กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพพืช” โดยนำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของชนิดพืชที่ให้สารสำคัญมาผ่านกรรมวิธีเพาะเลี้ยงและกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารมูลค่าสูงก่อนสกัดแยกออกมาใช้ประโยชน์ 

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพพืช โดยนำชิ้นส่วนของพืชอาจจะเป็นราก ลำต้น หรือใบก็ได้ มาชักนำให้เกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ (เรียก แคลลัส) แล้วเพิ่มจำนวนเซลล์ภายในระยะเวลาอันสั้น จะได้เซลล์ปริมาณมาก (แคลลัสที่มีขนาดใหญ่)

จากนั้นจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างสารสำคัญที่เราสนใจ เมื่อเซลล์เหล่านั้นผลิตสารสำคัญได้ในปริมาณมากแล้ว จึงนำก้อนแคลลัสมาสกัดสารสำคัญต่อไป วิธีนี้จึงมีประโยชน์เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์มาก ๆ ได้ภายในเวลาสั้น

และการที่เซลล์ถูกชักนำด้วยสภาวะที่เหมาะสมพร้อมกันจะทำให้ทุกเซลล์พร้อมใจกันผลิตสาร จะได้สารที่ต้องการในปริมาณมาก ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และสารที่ได้มีความบริสุทธิ์สูง 

เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นแพงพวยฝรั่งทำให้ได้สาร Vincristine ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นการพัฒนายาต้านมะเร็ง Vincristine sulfate ซึ่งจากรายงานของ อย. พบว่าสารสำคัญมีมูลค่าสูงถึง 131,000,000 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว

การใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพพืชกับสมุนไพรไทยจึงนับว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าได้อีกมากมาย ประเทศไทยย่อมไม่อาจตกขบวนในเรื่องนี้ เพื่อตอกย้ำว่าสมุนไพรไทยยืนหนึ่งในโลกให้ใคร ๆ ได้ประจักษ์ไม่เฉพาะแค่ยาดมยาหม่องเท่านั้น 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...