สื่อสารสบายใจถ้าระวังสักนิด "แอปดักฟัง - แอบบันทึกการสนทนา"

คงเคยพบเจอว่าZoom เตือนให้เรารู้ตัวว่ามีการบันทึกการสื่อสารนั้น และเราต้องกดรับทราบก่อนที่ข้อความเตือนนั้นจะหายไป ไม่กดทราบการเตือนนั้นก็ค้างจออยู่ตลอด ดังนั้น ถ้ากระทำกันอย่างตรงไปตรงมา การแอบบันทึกการสนทนาคงไม่เกิดขึ้น

เพื่อให้การสนทนาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มีความเป็นส่วนตัว นอกจากจะฝากหน้าที่ป้องกันนี้ไว้กับแอปที่เราใช้สื่อสารแล้ว แนะนำว่าทุกครั้งที่เริ่มต้นสื่อสารกัน ให้ประกาศกันไว้ก่อนเลยว่า ทุกคนที่สื่อสารกันครั้งนี้จะไม่มีการบันทึกการสื่อสารนี้โดยไม่ขออนุญาต หรือตกลงกันเป็นหลักการไว้เลยว่า การสื่อสารนี้จะไม่มีการบันทึกไว้เด็ดขาด 

แม้ว่าจะป้องกันการแอบบันทึกไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยก็สร้างความตระหนักว่า เราพยายามรักษาความเป็นส่วนตัวของการสนทนานี้ไว้ ใครแอบทำอย่างน้อยก็น่าจะสำนึกว่าเป็นคนที่ไม่ทำตามหลักการที่ตกลงกันไว้

วิธีการแอบบันทึกง่ายที่สุดคือ บันทึกโดยตรงทางกายภาพ คือ ใช้ Speaker Phone ปล่อยเสียงสนทนาออกทางลำโพง แล้วใช้อุปกรณ์อื่นบันทึกการสนทนานั้นไว้ ซึ่งจะไม่ปรากฏการแจ้งเตือนจากแอป

แต่ถ้าเคยคุยโทรศัพท์กับคนที่ใช้ Speaker Phone น่าจะแยกแยะออกว่าตอนนี้คู่สนทนากำลังใช้ Speaker Phone อยู่หรือไม่ ให้คิดไว้ก่อนว่า คนร่วมวงสนทนากำลังแอบบันทึกการสนทนานั้นไว้ รู้แล้วก็ระมัดระวังคำพูดไว้ให้ดี

ถ้าไฮเทคขึ้นมาหน่อยคือ ใช้แอปมาลักลอบบันทึกการสนทนา ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องแอบมาลงแอปดังกล่าวไว้ในเครื่องของเรา คนสนิทคนใกล้ชิดที่เราไว้วางใจน่าจะทำเช่นนี้ได้ หรือไม่ก็มาทางอินเทอร์เน็ต

แอบติดตั้งแอปดักฟังโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะมีใครเขาอยากแอบบันทึกการสนทนาของตน และพอรู้เรื่องการป้องกันตัวเองทางไซเบอร์อยู่บ้าง ก็น่าจะพอหาทางป้องกันตนเองได้

แอปที่จะมาแอบบันทึกการสนทนาของเราได้ จะต้องได้รับอนุญาตให้ติดตั้งลงในเครื่องโทรศัพท์ของเรา ที่ติดไวรัสคอมพิวเตอร์กันนั้น จริงๆ แล้ว ตัวเรานั่นแหละที่อนุญาตโดยไม่ได้ตั้งใจ 

ดังนั้น ให้จำกัดสิทธิ์ในการติดตั้งแอปเฉพาะที่มาจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือใช้ Parental Control จำกัดไม่ให้มีการติดตั้งแอปใดๆ เพิ่มเติม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการควบคุมนี้

ป้องกันอีกชั้นหนึ่งด้วยการจำกัดการเข้าถึงไมค์และกล้องของแอปต่างๆ ที่ไม่น่าจะทำงานเกี่ยวข้องกับไมค์และกล้อง เช็คดูอีกครั้งว่าในบรรดาแอปที่มีอยู่ในเครื่องของเรานั้น มีตัวใดบ้างที่ได้สิทธิ์การใช้ไมค์และกล้อง โดยที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องทำ

ให้ปิดสิทธิ์การใช้งานไมค์และกล้องของแอปน่าสงสัยเหล่านั้นให้หมด ลองค้นหาจากกูเกิลดูว่าแอปนั้นทำหน้าที่อะไร ถ้าพบว่าตัวไหนที่อยู่ในเครื่องของเราโดยไม่มีหน้าที่ที่จำเป็นใดๆ ก็ลบทิ้งไปให้หมด

แอปลักลอบบันทึกการสนทนาต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ล่วงหน้าว่าเราจะสนทนากับใครในช่วงเวลาไหน ถ้าเราจำกัดเวลาของแอปต่างๆ ในการทำงานไว้ แอปดักฟังที่หลุดรอดจากขั้นตอนก่อนหน้านี้มาได้ ก็จะหมดฤทธิ์ไปมาก ถ้าแอบบันทึกได้ก็บันทึกได้ไม่ตลอด เพราะถูกจำกัดเวลาทำงาน

ถ้าทำเองไม่เป็น ไม่แนะนำให้ไปวานใครมาทำให้ เว้นเสียแต่มั่นใจในคนนั้นมากๆ เท่านั้น ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งทดแทนการวานคนอื่นมาช่วยทำ คือลองหาแอปรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ มาติดตั้งไว้ในเครื่องของเรา เพื่อจัดการสารพัดเรื่องที่จำเป็นในการป้องกันการลักลอบดักฟังแทนตัวเรา

แอปประเภทนี้มีให้เลือกซื้อได้ในร้านแอปที่เป็นทางการของทั้ง iOS และ Android ใครติดตั้งแอปเป็นก็คงทำได้เอง เพียงแต่ต้องเสียเงินทองซื้อมาใช้

รู้ตัวว่าเป็นคนดัง ก็ต้องรู้จักป้องกันตนเองทางไซเบอร์ จะได้ไม่เสียท่าใครในวันหน้า.

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...