AI Governance ก้าวแรกที่อย่ามองข้ามสำหรับทุกองค์กร

ในขณะที่แต่ละองค์กรกำลังตื่นตัวกับการวางแผนหรือเริ่มประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับกระบวนการและฐานข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างหรือไม่ให้สูญเสียความได้เปรียบในสนามการแข่งขันวันนี้ แต่ยังมีหลายองค์กรหลงลืมหรือยังไม่ให้ความสำคัญกับการวางแนวทางในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI

AI Governance คือกรอบการทำงานที่ครอบคลุมถึงหลักการ นโยบาย และแนวทางปฏิบัติในการพัฒนา การนำไปใช้ และการจัดการ AI ภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่ ในขณะที่สามารถรักษามาตรฐานทางจริยธรรม กฎหมาย และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งองค์กร ผู้ใช้งาน และสังคมส่วนรวม โดยต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน การป้องกันอคติในกระบวนการตัดสินใจ จนไปถึงการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ต้องมีการกำหนดขอบเขตและความรับผิดชอบในการใช้งาน AI เพื่อให้มั่นใจว่าระบบ AI ทำงานในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

หลักการที่สำคัญ

1. ความโปร่งใส: ผู้ใช้หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของ AI ต้องมีสิทธิที่จะทราบว่ากระบวนการทำงานของระบบเป็นอย่างไร ตัดสินใจบนพื้นฐานใด ด้วยข้อมูลใด โดยกระบวนการต่าง ๆ สามารถอธิบายและตรวจสอบได้

2. ความรับผิดชอบ: ทุกกระบวนการของ AI ต้องมีบุคคลผู้รับผิดชอบในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ AI คอยประเมินผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในแต่ละฉากทัศน์ หากมีผลในเชิงลบหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบจะต้องเร่งแก้ไขหรือเยียวยาให้ทันการณ์

3. ความปลอดภัย: AI ต้องได้รับการทดสอบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงเทคนิค ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การถูกแฮกข้อมูล การตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กรหรือทำนอกเหนือจากกรอบที่วางไว้

4. ความเป็นส่วนตัว: ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกละเมิด มีการกำหนดสิทธิ์ว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลชุดใดได้บ้างตามหน้าที่และความจำเป็น การป้องกันการดึงฐานข้อมูลส่วนบุคคลออกไปทีละจำนวนมาก รวมถึงการวางระบบให้สามารถมีการตรวจสอบย้อนหลังได้ในกรณีที่เกิดปัญหา

5. ความมีจริยธรรม: AI ต้องมีการใช้งานที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมขององค์กรและสังคม รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคม เช่น ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ไม่ลำเอียง-ไม่มีอคติ ความหลากหลาย ความยั่งยืน ฯลฯ

ความท้าทายที่รออยู่

1. ความซับซ้อนและความรวดเร็วของเทคโนโลยี: AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจถึงกระบวนการในการทำงานและประมวลผล ที่สำคัญมีแนวโน้มการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ความรู้และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจล้าสมัยภายในไม่กี่วัน การกำหนดกรอบที่มีความรวดเร็วและยืดหยุ่นในการปฏิบัติจึงเป็นกุญแจสำคัญ

2. การแปลหลักจริยธรรมไปสู่การปฏิบัติ: เนื่องจากจริยธรรมเป็นเรื่องของแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง การตีความทางจริยธรรมสามารถทำได้หลากหลาย และมีความเชื่อมโยงกับบริบทและวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงในบางกรณีจริยธรรมอาจอยู่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายธุรกิจที่ต้องเน้นการทำกำไรให้ได้สูงสุด

3. ความพร้อมของบุคลากร: ก้าวแรกของ AI Governance คือการสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลภายใน ต้องจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคนิคและการประยุกต์ใช้ และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้ AI ในองค์กร เมื่อเป็นเรื่องใหม่ การหาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องไม่ง่าย และต้องอาศัยกรอบในการลองผิดลองถูก ในส่วนของระดับปฏิบัติงาน ลำพังแค่การอบรมและพัฒนาทักษะบุคลากรในองค์กร รวมถึงให้เปิดใจต่อการใช้เทคโนโลยีนี้ที่ได้ชื่อว่า “มาแทนมนุษย์” ในการทำงานก็เป็นงานที่ท้าทายแล้ว การเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้าน AI Governance ถือเป็นอีกขั้นที่ต้องเร่งทำควบคู่ไปด้วย

4. การปรับกฎระเบียบและมาตรฐาน: การพัฒนากฎระเบียบและมาตรฐานสำหรับ AI นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ บริษัทที่ดำเนินงานในระดับสากลอาจต้องพบกับความแตกต่างในกฎระเบียบด้าน AI และ Data ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน โดยการออกแบบกฎเกณฑ์ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และแรงงาน-ประชาชน เพื่อให้ได้กรอบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ มีความยืนหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของ AI ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์หรือแผนงาน แต่อาจส่งผลถึงการปรับโครงสร้างทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศเพื่อให้สามารถรับมือได้ทัน การทดสอบและออกแบบกรอบการ Governance ที่ดี ต้องสามารถ “จำกัดความเสียหาย แต่ไม่จำกัดโอกาส” ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...