ลุยดันนิรโทษ พรรคเพื่อไทยผนึกเสียงพรรคประชาชน ส่อโหวตรับรายงาน กมธ.

เพื่อไทยจ่อโหวตเห็นชอบรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม “สมคิด” แย้มพรรคร่วมฟรีโหวตไม่บังคับกัน มั่นใจเสียง เพื่อไทยรวมกับประชาชนผ่านสภาได้ ยันไม่ใช่การออก ก.ม.นิรโทษกรรม “ชาญชัย” รับศาลฎีกาตีตก 2 คำร้อง “ทักษิณ” ชั้น 14 ส่องช่องยื่นใหม่ผ่าน ป.ป.ช. “ชนินทร์” ไล่บี้ พลังประชารัฐปลด “สามารถ” พ้น กมธ.ภาษีสรรพสามิต “ทวี” โยนกลอง “เสี่ยอ้วน” ต่ออายุคดีตากใบ ห่วงคนวิจารณ์ตรา พ.ร.ก.เพื่อใคร “ชวน” ย้ำอีกรอบต้องดูที่ต้นเหตุ แนะรัฐยอมรับความจริงอย่าหนีปัญหา

จากกรณีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธาน สภาผู้แทนราษฎร ชิงสั่งปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะเตรียมโหวตร่างรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถูกวิจารณ์หนัก ล่าสุดนายสมคิด เชื้อคง วิปรัฐบาล ชี้ว่าแนวทางโหวตของพรรคเพื่อไทยจะให้ความเห็นชอบร่างฯรายงานดังกล่าว

นายกฯ น้อมรำลึกวันปิยมหาราช

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 23 ต.ค. ที่พระลาน พระราชวังดุสิต เขตดุสิต กทม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) วางพวงมาลาเนื่องในวันปิยมหาราช พุทธศักราช 2567 มีนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธี โอกาสนี้นายกฯ พร้อม ครม. และเลขาธิการนายกฯ ถวายความเคารพพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ววางพวงมาลาจำนวน 2 พวง ในนาม นายกฯ และ ครม. เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 23 ตุลาคม “วันปิยมหาราช” โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ห้างร้าน ประชาชน ร่วมน้อมรำลึก

...

เพื่อไทยจ่อโหวตรับรายงานนิรโทษ

ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 ต.ค. เพื่อลงมติร่างรายงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) ว่า การลงมติโหวต ในวันที่ 24 ต.ค. เป็นการโหวตเฉพาะข้อสังเกตของ กมธ. ว่าที่ประชุมสภาฯ จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ส่วนตัวรายงานไม่ต้องโหวต เพราะเป็นเรื่องรับทราบ อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลไม่มีมติจะให้โหวตข้อสังเกต ในรายงานดังกล่าวไปทางใด ให้แต่ละพรรคโหวตตามแนวทางของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่มีความเห็น ต่างในแต่ละพรรค ส่วนพรรคเพื่อไทยจะประชุม สส. ตอนช่วงเช้า แนวโน้มพรรคเพื่อไทยจะโหวตเห็นชอบ ข้อสังเกตรายงานของ กมธ.

มั่นใจเสียง เพื่อไทย-ประชาชน ผ่านสภาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวโน้มสภาฯ จะผ่านความเห็นชอบข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรมของ กมธ.หรือไม่ นายสมคิดตอบว่า เสียงโหวตก้ำกึ่งสูสี แต่น่า จะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ ถ้าเสียงพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนให้ความเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียง ก็มีเสียงเกินครึ่งของสภา น่าจะผ่านได้ ถ้าเพื่อไทย โหวตไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องแปลก อย่างไรก็ตามแม้จะโหวตไม่ผ่านไม่ใช่เรื่องซีเรียส ถือว่าเสียหน้าทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย กมธ.มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ถ้าไม่ผ่านเท่ากับไม่เชื่อใจ กมธ.ตัวเอง สิ่งที่โหวตวันที่ 24 ต.ค. เป็นแค่รายงานการศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การออก กฎหมายนิรโทษกรรม แต่มีความพยายามปั่นให้คนภายนอกเชื่อว่าเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม บางคนโยงไปถึงเรื่องการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ทั้งที่ข้อเท็จจริงถ้ารายงานดังกล่าวผ่านสภา ต้องส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อ ยังไม่รู้รัฐบาลจะตัดสินใจออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ ถ้าออกจะมีเนื้อหาในแนวทางใด มีเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่ก็ปั่นให้ไม่เอารายงาน กมธ.

คว่ำนิรโทษจะเอาหน้าไปไว้ไหน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าที่ประชุม สส.เพื่อไทยจะมีมติให้ สส.เพื่อไทยรับรายงานดังกล่าว เพราะเป็นผู้เสนอรายงานฉบับนี้เอง และประธาน กมธ.ยังเป็นคนพรรคเพื่อไทยคือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ้าเราโหวตไม่รับรายงานฉบับนี้เอง ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน จะตั้งอยู่บนบ่าได้หรือเปล่า คาดว่าไม่น่ามีปัญหา น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ รายงานดังกล่าวเป็นแค่แนวทางศึกษา ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าสภาไม่รับรายงานฉบับนี้เท่ากับชกลมเสียเวลา เสียงบประมาณไปฟรีๆ ข้อสังเกตของ กมธ.ไม่ได้ชี้ชัดจะให้มาตรา 112 ไปทางไหน แค่เสนอแนวทาง 3 ข้อ คือ 1.ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม 2.ไม่ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม 3.ให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม แต่ต้องมีเงื่อนไขกำกับ ถ้ารายงานผ่านสภา ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่าเอาเงื่อนไขมาตรา 112 มาเป็นเหตุให้การทำผิดคดีการเมืองอื่นไม่ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้มีแต่คดีมาตรา 112 แต่ยังมีเรื่องอื่นด้วย

รวมไทยสร้างชาติ คว่ำแน่ไม่ให้มีหัวเชื้อ 112

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า การประชุม สส.พรรคในวันที่ 24 ต.ค. จะมีการหารือ รายงาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรค รทสช.ยืนยันในจุดยืน ไม่รับร่าง และโหวตไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เหตุเพราะรายงานไม่สมบูรณ์ เป็นแบบปลายเปิด มีเสนอความเห็นนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดในมาตรา 112 ไว้ 3 แนวทาง พรรค รทสช.ต้องการ ปิดประตูเลย เนื่องจากเห็นว่าการยื่นผลรายงานที่มี 3 แนวทางไว้ อาจสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลได้ ในอนาคต ดังนั้น สส.พรรค รทสช.ทั้ง 36 คน จะร่วมกัน ลงมติไม่เห็นชอบ

รับศาลฎีกาฯตีตกคำร้อง “ทักษิณ”

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง ขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลก่อน และไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษ หรือทุเลาโทษได้ว่า ยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ร่วมกับนายนิติธร ล้ำเหลือ ยื่นร้องในประเด็นว่า นายทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว เป็นข้อเท็จจริง และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.วิอาญา และคำสั่งของศาลหรือไม่ โดยศาลวินิจฉัยว่า ศาลออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง

“ชาญชัย” แย้มยื่นใหม่ผ่าน ป.ป.ช.

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567 กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ การที่นายทักษิณออกมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีไม่ปรากฏมีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง” การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มี การยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนไปเขียนคำฟ้องใหม่ โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาฯ ได้ ขณะนี้สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน พฤติการณ์การกระทำความผิดได้ 50% แล้ว หรืออาจยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับไปดำเนินการต่อให้เสร็จ

“ชนินทร์” บี้ พปชร.ปลด “สามารถ” พ้น กมธ.

วันเดียวกัน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ใน กมธ.ว่า นายสามารถดำรงตำแหน่งในสภาอยู่ 2 สถานะ คือ 1.เป็นที่ปรึกษาประจำ กมธ. เท่าที่ทราบประธาน กมธ.แต่ละคณะ เดินหน้าปลดออกจากตำแหน่งแล้ว 2.เป็นกรรมาธิการวิสามัญ โดยพรรค การเมืองเสนอต่อสภาฯ เช่น ในคณะของตน ประธานไม่สามารถปลดเองได้ ต้องขอมติจากที่ประชุมสภาฯ แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นต้องให้พรรค พปชร.ดำเนินการ หากเห็นว่าควรเปลี่ยนก็ให้นายสามารถลาออก หรือมีมติปรับเปลี่ยนได้ เมื่อถามว่าจะมีการขอมติในที่ประชุมสัปดาห์หน้าเลยหรือไม่ เพราะสังคมเริ่มกดดันหนัก นายชนินทร์ตอบว่า คงต้องหารือกับพรรค พปชร.ก่อน เพราะต้องใช้เสียงค่อนข้างมาก อยากให้เขาเป็นผู้ดำเนินการมากกว่า

“ทวี” โยน “อ้วน” ต่ออายุคดีตากใบ

อีกเรื่อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอการออก พ.ร.ก.เพื่อขยายอายุความของคดีตากใบว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง การจะออกกฎหมายเรื่องใดต้องศึกษาว่าทำได้หรือไม่ เมื่อถามว่าเวลาที่เหลืออีก 2 วัน ก่อนที่คดีหมดอายุความ จะสามารถออก พ.ร.ก.ได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีตอบว่า อายุความเป็นกฎหมาย แล้ว พ.ร.ก.จะใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร ต้องถามรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง

ห่วงคนวิจารณ์ตรา พ.ร.ก.เพื่อใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ระบุว่าหวังจะมีปาฏิหาริย์หมายความว่าอย่างไร พ.ต.อ.ทวีตอบว่า เมื่อเราตั้งใจทำงานอะไรด้วยความพยายาม อาจประสบผลสำเร็จได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสัญญาณอะไร เพียงแค่รับทราบจากฝ่ายสืบสวนว่ามีการไปพิสูจน์ทราบถึงที่อยู่แล้ว แต่ยังไม่พบตัว ยังไม่หมดหวังยังมีเวลา หากคดีดำเนินไปจนหมดอายุความ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจว่าญาติของผู้เสียหายไม่ได้ตั้งใจไปทำร้ายผู้ต้องหา เพียงแค่ต้องการความเป็นธรรมให้ผู้ที่สูญเสีย หากมีช่องทางใดที่รัฐบาลสามารถทำได้ก็จะทำ รวมถึงข้อเสนอให้ออกเป็น พ.ร.ก.ได้ศึกษาและพบว่าหากจะออก พ.ร.ก.จะยืดอายุความแค่ 8 คน หรือทั้ง 4,000 คน หรือผู้ที่ไม่ออกหมายจับอีกเป็นแสนคน อาจถูกมองว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ แต่หากรัฐบาลทำได้ก็อยากทำ

ยันไม่ได้ช่วยเหลือใคร-ไม่มีอคติ

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ต้องหาอาจหลบหนีไป สปป.ลาว พ.ต.อ.ทวีตอบว่า การตามจับผู้ต้องหาในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น กรณีแป้ง นาโหนด กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยสนับสนุนข้อมูล แต่กรณีคดีตากใบประชาชนสงสัยผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการผู้บังคับบัญชาควรนำตัวมาให้ เมื่อถามว่าภาคประชาสังคมอาจนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศ พ.ต.อ.ทวีตอบว่า เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ รัฐบาลไม่กังวลเพราะไม่ได้ช่วยเหลือใคร และไม่มีอคติ อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงข้อเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ต่ออายุคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.

“ชวน” ย้ำอีกรอบต้องดูที่ต้นเหตุ

นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคดีตากใบที่ใกล้หมดอายุความในอีก 2 วันว่า ต้องย้อนดูที่มาของปัญหาเรื่องนี้ว่ามีที่มาอย่างไร พื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงมานาน ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่หันมาใช้ความรุนแรงเพราะเห็นว่าเป็นโจรกระจอก เชื่อว่าตำรวจทำได้ ส่งตำรวจมือเก็บลงไปทำงานยกเลิกองค์กรอื่นหมด เช่น ศอบต. พตท.43 ใช้วิธีการเด็ดขาดนอกกฎหมายคือ นอกหลักนิติธรรม หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร เหตุมัสยิดกรือเซะ คดีตากใบ กลุ่มมุสลิมจึงก่อตัวใหม่ตั้งกลุ่ม RKK. ใช้เวลาบ่มเพาะ 3 ปี ก่อเหตุความไม่สงบเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นวันปล้นปืน 413 กระบอก ที่ค่ายปิเหล็ง เป็นการปล้นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ คาดว่าเป็นปืนที่เอามาใช้ก่อเหตุความไม่สงบทุกวันนี้ นับแต่นั้นมาความไม่สงบเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คดีตากใบก็เป็นผลพวงของการใช้นโยบายผิดพลาด

แนะรัฐยอมรับความจริงอย่าหนี

นายชวนกล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนของเขา เพราะอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในยุคนั้น คดีนี้สะเทือนความรู้สึกคนมาก ทั้งนี้ขอแนะนำว่าผู้ต้องหาที่รู้ตัวเองว่าไม่ได้ทำผิดน่าจะสู้คดี แต่คนที่ทำผิดคงหนีแน่ อยากแนะนำรัฐบาลว่าให้ยอมรับความจริงว่าปัญหาเกิดจากอะไร อย่าหลีกเลี่ยงความจริงแล้วมาแก้ปัญหา ถ้าเราหนีปัญหาก็ไม่มีวันหลุดจากปัญหานี้ได้ ต้องยอมรับความบกพร่อง

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

รัสเซียเปิดประชุม BRICS หนุนสมาชิกเพิ่มในวาระระเบียบโลกใหม่

ฝั่ง "สหรัฐ" เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เ...

ผู้ก่อการร้ายโจมตีบ.การบินตุรกีดับ 5 เจ็บ 22 l World in Brief

ผู้ก่อการร้ายโจมตีบ.การบินตุรกีดับ 5 เจ็บ 22 นายอาลี เยอร์ลิกายา รัฐมนตรีมหาดไทยตุรกี กล่าวเมื่อวันพ...

การพนันครั้งใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย: ชีวิตหลังยุคน้ำมัน

โดยเฉพาะในภาคพลังงานและยานยนต์ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต่างมุ่งมั่นที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบภายในปี ...

มาริษร่วมประชุม BRICS Plus ไทยได้สถานะพันธมิตร

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต...