‘รัฐบาล’ลุยไฟประชามติ ‘รธน.’ หาฉันทามติ ไม่สน ‘เงื่อนล็อก2ชั้น’

เมื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญ ถูกทำให้ “สะดุด” ด้วยข้อขัดแย้ง ระหว่าง 2 สภาฯ คือ “สภาผู้แทนราษฎร” กับ “วุฒิสภา” ต่อ “หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ” ใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ในเรื่องนี้ไม่แน่ชัดว่า จะเป็นความตั้งใจ จาก “ฝ่ายอื่น” ที่นอกเหนือไปจาก “สมาชิกรัฐสภา” หรือไม่

ทว่าการเห็นต่างระหว่าง การใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้น คือ “เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์” กับ เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ชั้นแรก “ต้องมีผู้ออกมาลงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์" 

และ ชั้นสอง “เสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามติ ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์” ในประเด็น “รัฐธรรมนูญ” ระหว่าง “สส.” กับ “สว.”

ตามขั้นตอนของกระบวนการตราพระราชบัญญัติ กำหนดให้ต้อง “เคลียร์”  ผ่าน “กรรมาธิการร่วมกัน” จากตัวแทนของแต่ละสภาฯ ในจำนวนที่เท่ากัน คือ สส.14 คน และสว. 14 คน

สำหรับแนวโน้มนั้น ขณะนี้มีการหยั่งเสียงแล้วว่า จะพบกันสักครึ่งทางได้ไหม คือ ยืนเกณฑ์ 2 ชั้นไว้ แต่ลดระดับให้เหลือ 1 ใน 4 ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

แต่หาก “ทางสายกลาง” ไม่พึงใจ ต้องใช้การโหวตตัดสิน แน่นอนว่า “ฝ่ายเสียงข้างมาก2ชั้น” จะเป็นฝ่ายชนะ เพราะ มีแต้มสูงกว่า คือ 16 เสียง จาก สว.14คนและสส.ภูมิใจไทย2คน ส่วน เสียงข้างมากชั้นเดียว มีแค่ 12 คน

สาระของเรื่อง ที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องเริ่มจากการออกเสียงประชามติ ต้องสะดุด นั้นไม่ยังไม่ใช่ว่า อยู่ในการเจรจาว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ แต่คือ “ห้วงเวลา” ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ที่ต้องสอดรับและทันกับ ไทม์ไลน์ “การออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ” ครั้งแรกที่ “รัฐบาล” ล็อกปฏิทินไว้ในวันที่ 2 ก.พ.2568 ช่วงเดียวกันกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ

เนื่องจากขั้นตอนการตรากฎหมาย หากไม่สามารถทำให้เสร็จภายในเดือน ต.ค. หรือ ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ได้ จะทำให้ การกฎหมายประชามติฉบับแก้ไข ใช้ไม่ทันกับเดือน ก.พ.68 ที่อย่างน้อย ต้องมีกระบวนการประชาสัมพันธ์เนื้อหาให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงภายในเวลา 60 - 150 วัน ก่อนจะออกเสียงประชามติ

ตามที่ “นิกร จำนง” คนในวงของการแก้รัฐธรรมนูญ-กฎหมายประชามติ บอก คือ “การประชุมกรรมาธิการร่วมฯ นัดแรก หากเกิดขึ้นวันที่ 28 ต.ค. แม้จะคุยกันจบในวันเดียว แต่ขั้นตอนต้องส่งให้ แต่ละสภา ลงมติเห็นชอบก่อน หากดูปฏิทินที่สมัยประชุมจะยุติ 30 ต.ค. เพราะต่อให้ เข้าสภาฯทัน แต่สว.นั้นไม่ทันแล้ว ส่วนจะหวังให้เปิดวิสามัญเพื่อให้วุฒิสภาโหวต ก็ใช่ว่าจะผ่านไปได้”

หากเป็นเช่นนั้นตามกระบวนการต้องพักร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับแก้ไข ไปอีก 180 วัน หรีอ 6 เดือน ก่อนจะกลับมาให้สภาฯ​ยืนยันและดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ดังนั้นในกระบวนการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องหาตัวเลือกให้เป็นทางไป เมื่อตั้งโจทย์การออกเสียงประชามติ ในวันที่ 2 ก.พ.68

ล่าสุด สมคิด เชื้อคง ตัวแทนรัฐบาล ที่เป็น กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล บอกถึงผลการหารือของ “วิปรัฐบาล” เมื่อ 22 ส.ค. ถึงทางออก คือ ใช้กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบัน เดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ รอบแรก ในวันที่ 2 ก.พ.68 ทั้งนี้ต้องหารือกับ “พรรคร่วมรัฐบาล” เพื่อขอความเห็น ที่เป็นความเห็นพ้องต้องกัน หวังจะขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นตามมา

“เมื่อการแก้ไขกฎหมายประชามติ ปลดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมาก 2 ชั้น ยังทำไม่สำเร็จ ต้องหาทางออกอื่น เร็วๆ นี้จะนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคประชาชน ฐานะฝ่ายค้านเพื่อขอให้เดินแนวทางนี้ ไปสู่การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ รอบแรก เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วย รัฐบาลต้องนัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกประกาศวันออกเสียงประชามติ คือ 2 ก.พ.2568”

ฝ่ายรัฐบาลยังเชื่อว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญ จะเป็นตัวช่วยให้ ผ่านล็อกชั้นแรก คือ “ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ” ได้ ส่วนล็อกที่สอง นั้นเป็นสเต็ปที่ต้องว่ากันหลังจากวงหารือพรรคการเมือง ว่ากันตามจริง คือ “ต้องไปลุ้น” หน้างาน

เพราะขณะนี้ยังมีประเด็นคำถามประชามติ ที่ “อีกฝ่าย” ไม่ค่อยเห็นด้วย

กับคำถามประชามติ ตามมติ ครม. เมื่อต้นปี 2567 หรือใน “รัฐบาล-เศรษฐา ทวีสิน” ยืนยันใช้คำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

ซึ่งฝ่าย “ด้อมส้ม-พรรคประชาชน” มองว่า “มีปัญหา” และต้องการให้ตัดเงื่อนไขที่ให้เว้นการแก้ไขบางหมวดออกไป

ต่อประเด็นนี้ “สมคิด” มองว่า จะไม่ใช่ปัญหา หากพรรคประชาชน เข้าใจว่า หากต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ2560 ที่เป็นปัญหาการเมืองให้ได้ แต่มีทางที่ไปได้ 70% -80% จาก 100% ควรเอาไว้ เพราะดีกว่าที่ไม่ได้แก้อะไรเลย

ดังนั้นฉากต่อไปที่ต้องจับตาให้ดี คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ จะได้รับฉันทามติจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโหวตของ “สภาสูง”

หาก “ภูมิใจไทย” ประกาศสนับสนุนที่ชัดเจน ไม่ปากว่าตาขยิบ ย่อมสะท้อน “ทางสะดวก” ในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ลุล่วง แต่จะสำเร็จเป็นผลให้เกิด “สสร.” หรือไม่เป็นอีกเกมการเมืองที่ต้องลุ้น.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

รัสเซียเปิดประชุม BRICS หนุนสมาชิกเพิ่มในวาระระเบียบโลกใหม่

ฝั่ง "สหรัฐ" เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เ...

ผู้ก่อการร้ายโจมตีบ.การบินตุรกีดับ 5 เจ็บ 22 l World in Brief

ผู้ก่อการร้ายโจมตีบ.การบินตุรกีดับ 5 เจ็บ 22 นายอาลี เยอร์ลิกายา รัฐมนตรีมหาดไทยตุรกี กล่าวเมื่อวันพ...

การพนันครั้งใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย: ชีวิตหลังยุคน้ำมัน

โดยเฉพาะในภาคพลังงานและยานยนต์ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต่างมุ่งมั่นที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบภายในปี ...

มาริษร่วมประชุม BRICS Plus ไทยได้สถานะพันธมิตร

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต...